ไม่ว่าใครต่างก็คงจะรับรู้ถึงความสำคัญของการเลือกรับประทานอาหารที่มีต่อร่างกาย การเลือกรับประทานอาหารได้อย่างถูกต้อง จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับอาการของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่กับผู้ที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น ผู้ป่วยโรค สมาธิสั้น ควร เลือกกินอาหาร อย่างไร หาคำตอบได้จากบทความนี้
การ เลือกกินอาหาร สำคัญกับโรค สมาธิสั้น อย่างไร
แม้ว่าอาหารอาจจะไม่สามารถช่วยรักษาให้หายจากการเป็นโรคสมาธิสั้น แต่ก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น สามารถควบคุมอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และอาจช่วยลดอาการของโรคสมาธิสั้นได้อีกด้วย
มีอาหารไม่น้อยที่สามารถส่งผลกระทบต่อระดับพลังงานและการมีสมาธิได้ การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม จะช่วยให้เราสามารถควบคุมอาการของโรคได้ดีขึ้น ลดอาการอยู่ไม่สุข และช่วยเพิ่มระดับของสมาธิและการโฟกัสในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นต้องการ ในขณะเดียวกัน การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมก็อาจส่งผลกระทบต่อการควบคุมอาการของโรคสมาธิสั้น ทำให้อาการรุนแรงขึ้น ยากต่อการควบคุมมากยิ่งขึ้น และอาจรบกวนการทำงานของยาสำหรับโรคสมาธิสั้น ทำให้ผลข้างเคียงของยาเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
อาหารที่ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นควรเลือกกิน
- อาหารโปรตีนสูง
อาหารที่มีโปรตีนสูง อาจช่วยในเรื่องของการพัฒนาสมาธิ และช่วยทำให้ยาสำหรับโรคสมาธิสั้นออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณสามารถเลือกรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนได้ เช่น พืชตระกูลถั่ว เนื้อไก่ ไข่ เนื้อแดง ปลาแซลมอน โยเกิร์ตไขมันต่ำ หรือชีส
- คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน
คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน หมายถึงคาร์โบไฮเดรตที่มีสารชนิดอื่นประกอบอยู่ในโมเลกุลด้วย เช่น ไขมัน หรือโปรตีน น้ำตาลที่ได้จากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนนั้นจะย่อยสลายได้ช้ากว่าน้ำตาลจากคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลในระดับที่คงที่ ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมีสมาธิที่ดีขึ้น มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และสามารถโฟกัสกับการทำงานได้นานยิ่งขึ้น อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนได้แก่ ข้าวไม่ผ่านการขัดสี ข้าวโอ๊ต พืชตระกูลถั่ว ผักหัว ผลไม้ ธัญพืช และผักที่มีแป้งสูง เช่น มันหวาน เป็นต้น
- กรดไขมันโอเมก้า 3
มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นจะมีระดับของกรดไขมันโอเมก้า 3 ในเลือดต่ำกว่าเด็กที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น กรดไขมันโอเมก้า 3 นั้นมีความสำคัญต่อการทำงานของสมองตามปกติ กรดไขมันเหล่านี้เป็นสิ่งที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ และจำเป็นต้องรับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น
กรดไขมันโอเมก้า 3 สามารถช่วยพัฒนาช่วยพัฒนาพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นได้ ทั้งช่วยเพิ่มความสามารถในการควบคุมตัวเอง ลดอาการอยู่ไม่สุข และช่วยให้ผู้ป่วยมีสมาธิมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นที่ได้รับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นประจำทุกวัน จะมีอาการของโรคสมาธิสั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด ภายใน 3 เดือน และจะสามารถจัดการอาการได้อย่างดีขึ้นภายใน 6 เดือน
เราสามารถหาแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 ได้จากปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาเนื้อขาว ถั่วต่างๆ มะกอก น้ำมันคาโนลา หรือคุณอาจจะเลือกรับประทานเป็นอาหารเสริมกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น น้ำมันปลา เป็นต้น
- ธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็กนั้นมีส่วนสำคัญในการช่วยควบคุมอาการของโรคสมาธิสั้นอย่างที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง มีงานวิจัยที่พบว่า โดยปกติแล้วระดับปริมาณของธาตุเหล็กที่พบในผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นจะน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคสมาธิสั้นถึงเท่าตัว และการเพิ่มปริมาณของธาตุเหล็กสำหรับผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นนั้นจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เสมือนกับการใช้ยากระตุ้นสำหรับผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงได้แก่ ตับ เนื้อสัตว์ เลือดหมู ธัญพืช ผักสีเขียวเข้ม แป้ง แครอท มะเขือเทศ และอาหารทะเลต่างๆ
อาหารที่ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นควรระวัง
- คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวและน้ำตาล
การรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว แป้งที่ผ่านการขัดสี และอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ของหวาน ลูกอมต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ร่างกายจะย่อยสลายคาร์โบไฮเดรตเหล่านี้ให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคส และเพิ่มปริมาณของน้ำตาลภายในเลือดอย่างรวดเร็ว ร่างกายของเราจะตอบสนองโดยการผลิตสารอินซูลิน และฮอร์โมนอื่นๆ ออกมาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นเกิดอาการหงุดหงิด และทำให้อาการของโรคสมาธิสั้นอื่นๆ แย่ลงได้
- คาเฟอีน
การบริโภคคาเฟอีนในปริมาณเล็กน้อยอาจมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น โดยทำให้ผู้ป่วยนั้นมีสมาธิมากขึ้น แต่การบริโภคคาเฟอีนในปริมาณมาก อาจทำให้คาเฟอีนนั้นไปรบกวนการทำงานของยาสำหรับโรคสมาธิสั้น โดยทำให้ยามีฤทธิ์ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น และเพิ่มผลข้างเคียงของยาอีกด้วย ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นควรระมัดระวังการบริโภคคาเฟอีน โดยเฉพาะหากกำลังใช้ยาสำหรับโรคสมาธิสั้น
- สารปรุงแต่ง
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า สารปรุงแต่งที่ใส่ลงไปในอาหาร เช่น สารกันบูด สีผสมอาหาร และสารอื่นๆ ที่ช่วยคงสภาพของอาหาร อาจส่งผลกระทบทำให้เด็กที่ไม่ได้เป็นโรคสมาธิสั้น มีอาการอยู่ไม่สุขมากขึ้น และทำให้อาการของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นรุนแรงขึ้น
- ปฏิกิริยาไวต่ออาหาร
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยควรระมัดระวังในการเลือกอาหาร คือระวังอาหารที่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นนั้นอาจจะมีปฏิกิริยาไวต่ออาหารบางชนิดที่สามารถพบได้ทั่วไป หากผู้ป่วยได้รับประทานอาหารเหล่านั้น อาจจะทำให้อาการของโรคสมาธิสั้นรุนแรงขึ้นได้ อาหารเหล่านี้มักจะได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ข้าวสาลี และถั่วเหลือง
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmr]