backup og meta

กาแฟลดน้ำหนัก ได้จริงหรือ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี · โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 18/02/2023

    กาแฟลดน้ำหนัก ได้จริงหรือ

    หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า กาแฟลดน้ำหนัก ได้จริงหรือไม่ การดื่มกาแฟอาจช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนักได้ เนื่องจากกาแฟมีแคลอรี่ต่ำ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยคาเฟอีนและสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ ที่อาจช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบการเผาผลาญรวมถึงระบบเมทาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต และช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมัน อย่างไรก็ตาม ควรเลือกดื่มกาแฟดำที่ไม่ใส่น้ำตาลและครีมเทียม อีกทั้งยังควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมควบคู่กันไปด้วย เพื่อช่วยให้สามารถลดน้ำหนักได้อย่างยั่งยืนและดีต่อสุขภาพ

    คุณค่าทางโภชนาการของกาแฟ

    กาแฟแบบชง 1 แก้ว หรือ 240 มิลลิลิตร ไม่ใส่ครีมและน้ำตาล ให้พลังงานน้อยมาก และมีสารอาหารอื่น ๆ ดังนี้

    • โปรตีน 0.3 กรัม
    • โพแทสเซียม 118 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 7.2 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 7.1 มิลลิกรัม
    • โคลีน (Choline)2 มิลลิกรัม
    • โซเดียม 4.8 มิลลิกรัม
    • โฟเลต 4.7 มิลลิกรัม

    กาแฟลดน้ำหนัก ได้จริงหรือ

    การดื่มกาแฟอาจช่วยลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักได้ เนื่องจากกาแฟมีสารอาหารมากมาย รวมถึงสารประกอบฟีนอล (Phenol) ที่พบได้ในพืชสามารถกระตุ้นการทำงานของระบบการเผาผลาญ รวมถึงระบบเมทาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต และช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันได้ อย่างไรก็ตาม ควรเลือกดื่มเป็นกาแฟดำที่ไม่ใส่ครีมเทียมหรือน้ำตาลเพิ่มเติม เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไป ทำให้สารอาหารเหล่านั้นถูกนำไปสะสมเป็นไขมันที่อาจเสี่ยงทำให้เป็นโรคอ้วนได้

    นอกจากนี้ กาแฟยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างกรดคลอโรจีนิก ที่อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และอาจช่วยลดความดันโลหิตได้

    จากการศึกษาในวารสาร Critical Reviews in Food Science and Nutrition ปี พ.ศ. 2561 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการบริโภคคาเฟอีนต่อการลดน้ำหนัก โดยศึกษาข้อมูลจากการศึกษา 13 บทความ ที่มีผู้เข้าร่วมทดสอบ 606 คน พบว่า อาสาสมัครที่ดื่มกาแฟมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ระดับไขมันในร่างกาย และน้ำหนักตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

    ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยในวารสาร Current Diabetes Reviews เมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่ทบทวนการศึกษาว่า กาแฟสามารถลดความเสี่ยงเบาหวานชนิดที่ 2 ได้หรือไม่ โดยค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูล MEDLINE ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 จนถึง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 รวมทั้งสิ้น 13 งานวิจัย แล้วเปรียบเทียบความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน พบว่า ผู้เข้าร่วมการทดสอบที่ดื่มกาแฟประมาณ 4-6 แล้ว และมากกว่า 6-7 แก้วขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 น้อยกว่าผู้ที่ดื่มกาแฟน้อยกว่า 2 แก้ว/วัน อีกทั้งยังมีระดับความไวต่ออินซูลินเพิ่มขึ้น ที่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย

    คำแนะนำในการบริโภค กาแฟลดน้ำหนัก

    การบริโภค กาแฟลดน้ำหนัก ควรดื่มเป็นกาแฟดำที่ไม่ใส่ครีมเทียม นมไขมันสูง และน้ำตาล เพราะอาจเสี่ยงทำให้น้ำหนักตัวและระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และควรดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัม/วัน หรือ 3-5 แก้ว/วัน เพราะหากดื่มกาแฟมากจนเกินไป อาจทำให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนปริมาณมาก และทำให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้

    • ปวดศีรษะ
    • มีปัญหาการนอนหลับ
    • อารมณ์แปรปรวน
    • ใจสั่น อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น
    • ปัสสาวะบ่อยหรือไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้

    สำหรับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรจำกัดปริมาณการดื่มกาแฟให้น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/วัน หรือขอคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนบริโภค เพราะคาเฟอีนอาจทำให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ มีปัญหาการหายใจ อัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ และอาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้

    สำหรับผู้ที่รับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรบางชนิด เช่น เอฟีดรีน (Ephedrine) ทีโอฟิลลีน (Theophylline) เอ็กไคเนเซีย (Echinacea) อาจทำให้เกิดปฏิกิริยากับคาเฟอีนที่อยู่ในกาแฟลดน้ำหนักส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และความดันโลหิตสูงได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

    โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 18/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา