อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ น้ำ ซึ่งอาจช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ให้พลังงาน ช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกระดูก รวมถึงยังอุดมไปด้วยสารต้านอนมูลอิสระที่ช่วยปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค ฝุ่น ควันหรือมลพิษที่อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย
[embed-health-tool-bmi]
อาหารเพื่อสุขภาพ มีประโยชน์อย่างไร
การกินอาหารเพื่อสุขภาพเป็นประจำอาจช่วยป้องกันการขาดสารอาหาร และช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายโดยรวมได้ในทุก ๆ ส่วน เช่น ปรับปรุงระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลในร่างกาย ลดความดันโลหิต ควบคุมน้ำหนักตัว นอกจากนี้ ยังอาจช่วยปกป้องร่างกายจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เนื่องจากอาหารเพื่อสุขภาพส่วนใหญ่อุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ที่มีคุณสมบัติช่วยให้พลังงาน เสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ เสริมความแข็งแรงของกระดูก ส่งเสริมการทำงานที่เป็นปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีในการปกป้องร่างกายจากการทำร้ายของสารอนุมูลอิสระต่าง ๆ เช่น เชื้อโรค มลภาวะ ฝุ่น ควัน แสงแดด
เคล็ดลับการกินอาหารเพื่อสุขภาพให้ได้ประโยชน์
การกินอาหารเพื่อสุขภาพอาจช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงอาจช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งเคล็ดลับการกินอาหารเพื่อสุขภาพให้ได้ประโยชน์อาจทำได้ ดังนี้
- ไม่ควรอดอาหารมื้อเช้า อาหารมื้อเช้าถือเป็นอาหารมื้อแรกที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับอาหารมาตลอดทั้งคืน การกินอาหารมื้อเช้าจึงอาจช่วยให้ร่างกายมีพลังงานเพื่อนำไปใช้ทำกิจกรรม รวมถึงอาจช่วยให้สมองมีอาหารไปเลี้ยงเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การเรียนรู้ และความจำตลอดทั้งวัน
- กินอาหารที่มีโปรตีนสูง เนื่องจากโปรตีนมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย จึงควรกินอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนอย่างเพียงพอ เช่น เนื้อหมู ไก่ ปลา ถั่ว เมล็ดพืช ไข่ นม ผลิตภัณฑ์จากนม
- กินธัญพืชไม่ขัดสีต่าง ๆ เช่น ถั่ว เมล็ดพืช ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่อุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ รวมถึงยังอาจมีน้ำตาลต่ำ ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้ตลอดทั้งวัน และยังดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระบบย่อยอาหาร และอาจช่วยให้รู้สึกอิ่มนานขึ้นอีกด้วย
- กินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักใบเขียว บร็อคโคลี่ แครอท คะน้า ผลไม้ ธัญพืช ซึ่งการกินอาหารที่มีใยอาหารสูงอาจดีต่อการทำงานของระบบย่อยอาหารและลำไส้ เนื่องจากใยอาหารเป็นแหล่งอาหารที่ดีให้กับจุลินทรีย์ในลำไส้ รวมถึงยังช่วยในการเคลื่อนตัวของอาหารภายในลำไส้ และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น
- กินผักและผลไม้มากขึ้น เนื่องจากผักและผลไม้อุดมไปด้วยใยอาหาร น้ำ วิตามินและแร่ธาตุ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยปกป้องร่างกายจากการทำร้ายของสารอนุมูลอิสระ เช่น แสงแดด ฝุ่น ควัน มลพิษ รวมถึงยังช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายด้วย
- กินปลาที่มีไขมันดี เช่น ปลาทู ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ซึ่งอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ดีต่อการบำรุงสายตา ระบบประสาทและสมอง และยังเป็นไขมันดีที่ช่วยลดการสะสมของไขมันไม่ดี (LDL) ซึ่งอาจช่วยป้องกันโรคบางชนิด เช่น คอเลสเตอรอลสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
- ดื่มน้ำให้มากขึ้น โดยควรดื่มน้ำอย่างน้อย 2.5 ลิตร/วัน เพื่อให้ร่างกายมีความชุ่มชื้น และอาจช่วยให้ผิวมีสุขภาพที่ดี
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลสูง เช่น แฮม เบคอน น้ำมันหมู ไส้กรอก เค้ก คุกกี้ ครีม เนย พาย น้ำอัดลม นมหวาน ช็อกโกแลต เนื่องจากการกินอาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และเสี่ยงเป็นโรคอ้วนหรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวมถึงการสะสมของไขมันอิ่มตัวที่มากเกินไป อาจทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูง มีการสะสมของไขมันในหลอดเลือดและอาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
- ลดปริมาณการกินเกลือ โดยไม่ควรรับประทานเกิน 6 กรัม/วัน เนื่องจากเกลือมีโซเดียมสูงสามารถทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ และอาจทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองได้