backup og meta

5 เมนูอาหารคลีน ที่ดีต่อสุขภาพ มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/04/2023

    5 เมนูอาหารคลีน ที่ดีต่อสุขภาพ มีอะไรบ้าง

    เมนูอาหารคลีน ส่วนใหญ่มักประกอบด้วยผัก ผลไม้ และธัญพืช มีโปรตีนสูงและไขมันต่ำ และลดการใช้เครื่องปรุง เช่น น้ำตาล เกลือ หรืออาจไม่มีการปรุงแต่งรสชาติใด ๆ อีกทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำหนัก รวมถึงผู้ที่กำลังรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานและโรคหัวใจ ที่จำเป็นต้องควบคุมอาหาร ลดการสะสมน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด เพื่อป้องกันอาการของโรคที่เป็นอยู่แย่ลง

    เมนูอาหารคลีน ดีต่อสุขภาพอย่างไร

    เมนูอาหารคลีน มักให้ประโยชน์กับสุขภาพ ดังนี้

    • ช่วยลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก
    • ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
    • ช่วยลดความดันโลหิตและควบคุมระดับความดันโลหิต
    • ช่วยลดคอเลสเตอรอล
    • ช่วยต้านอนุมูลอิสระและป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระ
    • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน กล้ามเนื้อ และระบบย่อยอาหาร
    • เสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน
    • ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ

    จากการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2563 ที่ศึกษาเกี่ยวกับ บทบาทของรูปแบบการรับประทานอาหารที่มีต่อสุขภาพและโรค พบว่า การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเน้นการรับประทานผัก ผลไม้สด เนื้อสัตว์ และธัญพืช อย่างเมนูอาหารคลีน อาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น โพลีฟีนอล (Polyphenol) แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) โอเมก้า 3 โอเมก้า 6 วิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม อีกทั้งยังมีไฟเบอร์และโปรตีนสูง มีไขมันต่ำ ทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน ดีต่อการควบคุมน้ำหนักและลดน้ำหนัก และอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต ช่วยต้านอนุมูลอิสระและป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง

    นอกจากนี้ ยังมีอีกงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Medicine เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของโซเดียมในอาหารและการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ พบว่า การรับประทานอาหารที่ปรุงรสชาติด้วยเกลือหรือมีโซเดียมมากเกินไป อาจมีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง และโรคไตเรื้อรัง ดังนั้น การรับประทานอาหารคลีนที่ไม่มีการปรุงแต่งรสชาติ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังเหล่านี้ได้

    6 เมนูอาหารคลีน มีอะไรบ้าง

    เมนูอาหารคลีน มีดังนี้

    1. ลาบปลาทูน่า

    วัตถุดิบ

    • ทูน่าในน้ำแร่ 1 กระป๋อง
    • หอมแดงซอย 7-10 หัว
    • ต้นหอมซอย 1 ต้น
    • ผักชีฝรั่งซอย 2 ต้น
    • สะระแหน่ 5 ต้น
    • ข้าวคั่ว 2 ช้อนชา
    • พริกป่น 1-2 ช้อนชา
    • น้ำมะนาว 3 ช้อนชา

    วิธีทำ

    • แยกทูน่าออกจากน้ำแร่ และบีบน้ำให้แห้งสนิทใส่ลงในภาชนะและใช้ช้อนยีให้เนื้อแตกออกจากกัน
    • ใส่พริก น้ำมะนาว และข้าวคั่วลงไปคลุกกับเนื้อทูน่า
    • นำหอมแดงซอย ต้นหอมซอย และผักซีฝรั่งซอยลงไปคลุกให้เข้ากัน
    • จัดใส่จานพร้อมรับประทาน สามารถรับประทานคู่กับผักสดตามชอบได้ เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว
    1. สลัดเห็ดย่าง

    วัตถุดิบ

    • เห็ดออรินจิ 5 ชิ้น
    • เห็ดเข็มทองลวกสุก 1 แพ็ค
    • มะเขือเทศราชินี 8 ลูก
    • ผักสลัด เช่น ผักกาดแก้ว กะหล่ำปลีม่วง
    • พริกหยวกครึ่งลูก หั่นเป็นเส้นยาว
    • น้ำสลัดงาซีอิ๊วญี่ปุ่นสำเร็จรูป

    วิธีทำ

    • นำเห็ดออรินจิไปล้างน้ำให้สะอาดและย่างบนกระทะให้สุก โดยสังเกตจากเห็ดเริ่มหดตัวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
    • จัดจานด้วยผักสลัด มะเขือเทศราชินี พริกหยวกหั่น และนำเห็ดออรินจิย่างและเห็ดเข็มทองสุกใส่ลงในภาชนะและราดด้วยน้ำสลัดงาซีอิ๊วญี่ปุ่น
    1. ปลานิลย่าง

    วัตถุดิบ

    • ปลานิลที่ผ่าเอาเครื่องในออกแล้ว 1 ตัว
    • ผักสดหรือผักต้มตามชอบ เช่น ข้าวโพดอ่อน ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือเทศ ผักกาด บรอกโคลี
    • กระเทียมไทยแกะเปลือก ½ ถ้วย
    • พริกขี้หนูสวน 20 เม็ด
    • รากผักชี 1 ช้อนโต๊ะ
    • น้ำมะนาว ½ ถ้วย
    • น้ำต้มสุก ½ ถ้วย
    • น้ำปลาสูตรโซเดียมต่ำ

    วิธีทำ

    • ล้างปลานิลให้สะอาดและนำไปย่างให้สุก
    • เตรียมทำน้ำจิ้มซีฟู้ด โดยนำกระเทียมไทย พริกขี้หนูสวน รากผักชี น้ำมะนาว น้ำปลาสูตรโซเดียมต่ำ และน้ำต้มสุกใส่ลงในเครื่องปั่นหรือใช้ครกตำให้ละเอียด
    • นำปลานิลย่างลอกหนังและจัดใส่จาน รับประทานคู่กับผักต้มหรือผักสดตามชอบ และน้ำจิ้มซีฟู้ด
    1. โจ๊กไข่ขาวใส่กุ้ง

    วัตถุดิบ

    • ไข่ไก่ 4 ฟอง
    • กุ้ง 150 กรัม
    • พริกไทย ½ ช้อนชา
    • น้ำเปล่า ½ ของปริมาณไข่ขาว
    • ต้นหอมซอย 1 ต้น
    • มะเขือเทศราชินีหั่น 3 ลูก

    วิธีทำ

    • แยกไข่แดงออกจากไข่ขาว 3 ฟอง และผสมกับน้ำเปล่า 2:1 ของปริมาณไข่ขาวและตีให้เข้ากัน
    • นำไข่ขาวเข้าไมโครเวฟและนำออกมาคนทุก ๆ 2 นาที จนมีลักษณะเป็นเนื้อโจ๊ก
    • นำไข่ไก่ 1 ฟองไปต้มในน้ำเดือดประมาณ 3 นาที
    • ลวกกุ้งให้สุกและจัดวางบนโจ๊ก พร้อมกับตอกไข่ลวก ใส่มะเขือเทศราชินีหั่น โรยพริกไทยและต้นหอมซอย
    1. สเต๊กอกไก่

    วัตถุดิบ

    • อกไก่ไร้หนัง 260 กรัม
    • พริกไทย ½ ช้อนชา
    • น้ำมันมะกอก 1/2 ช้อนชา
    • ผักตามชอบ

    วิธีทำ

    • นำอกไก่ลงไปย่างในกระทะ ใส่น้ำมันมะกอก
    • โรยพริกไทยลงบนอกไก่แต่ละด้านเมื่อสุก
    • จัดใส่จาน รับประทานคู่กับผักตามชอบ เช่น ฟักทอง บรอกโคลี มะเขือเทศ พริกหยวก เพื่อเพิ่มรสชาติแทนการใช้เครื่องปรุง

    วิธีดูแลสุขภาพตนเองนอกจากการกิน เมนูอาหารคลีน

    นอกจากการกินอาหารคลีน ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่สามารถนำไปปฏิบัติร่วมกันเพื่อดูแลสุขภาพตนเองให้ดีขึ้นได้ ดังนี้

    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 30 นาที/วัน อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ เพื่อช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันและลดระดับน้ำตาลในเลือด ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวาน อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์ โซจู เพราะอาจมีคอเลสเตอรอลสูงที่ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้
    • รับประทานยารักษาโรคตามที่คุณหมอแนะนำสม่ำเสมอ เช่น ยารักษาเบาหวาน ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด การใช้อินซูลิน
    • สำหรับผู้ที่ควบคุมน้ำหนักเพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน ไม่ควรอดอาหารโดยเฉพาะอาหารเช้า เพราะอาจทำให้หิวมากขึ้นและทำให้รับประทานอาหารมากกว่าปกติในมื้อถัดไป ควรใช้วิธีจำกัดปริมาณแคลอรี่ในแต่ละวันแทน
    • ก่อนเลือกซื้ออาหารควรอ่านข้อมูลโภชนาการข้างฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำตาล โซเดียมและไขมัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อคัดกรองโรคและรับการรักษาได้อย่างรวดเร็วหากพบอาการผิดปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา