backup og meta

Atkins diet คืออะไร มีความเสี่ยงอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/01/2023

    Atkins diet คืออะไร มีความเสี่ยงอย่างไร

    Atkins diet หรืออาหารแบบแอตกินส์ คือ รูปแบบการรับประทานอาหารโดยการลดอาหารจำพวกแป้ง เช่น ข้าวขาว ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว รวมไปถึงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น มันฝรั่ง กล้วย แอปเปิ้ล โดยมีจุดประสงค์เพื่อการลดน้ำหนักและเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารแบบแอตกินส์อาจส่งผลให้ร่างกายขาดพลังงาน และอาจมีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย และระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้

    Atkins diet คืออะไร

    Atkins diet หรืออาหารแบบแอตกินส์ คือ การรับประทานอาหารที่จำกัดการรับประทานอาหารประเภทแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต แต่เน้นการรับประทานโปรตีนและไขมันแทน เป็นรูปแบบการรับประทานอาหารที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย ดร.โรเบิร์ต ซี แอตกินส์ (Robert C. Atkins) ปี พ.ศ. 2515 โดยมีจุดประสงค์เพื่อการลดน้ำหนัก และป้องกันหรือปรับปรุงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารผิดปกติ

    อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อถกเถียงว่า การรับประทานอาการแบบแอดกินส์อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิด ภาวะคีโตซีส (Ketosis) เนื่องจากร่างกายมีคาร์โบไฮเดรตที่เป็นแหล่งพลังงานหลักไม่เพียงพอต่อการเผาผลาญจึงดึงเอาไขมันสะสมมาเผาผลาญเพื่อใช้เป็นพลังงานแทน ซึ่งเป็นการลดน้ำหนักอีกวิธีหนึ่ง แต่ก็อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เหนื่อยล้า ปวดหัว ท้องผูก ร่างกายขาดน้ำ

    ประโยชน์ของการรับประทานอาหารแบบ Atkins diet

    ประโยชน์ของการรับประทานอาหารแบบ Atkins diet อาจช่วยลดน้ำหนักได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน หรือตามความต้องการที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ยังคงมีข้อถกเถียงว่าการรับประทานในรูปแบบ Atkins diet ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน จากการโต้เถียงของหลายการศึกษาที่ระบุไว้ในวารสาร Annals of Saudi Medicine เมื่อปี พ.ศ. 2549 พบว่า การรับประทานคาร์โบไฮเดรตต่ำไม่อาจทำให้น้ำหนักลดลงในระยะยาว และอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่สำคัญ เช่น แร่ธาตุ วิตามิน ไฟเบอร์ อาจเพิ่มการผลิตอนุมูลอิสระ ที่อาจส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อมสภาพมากขึ้น อีกทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งทางเดินอาหาร

    นอกจากนี้ การรับประทานแบบ Atkins diet ที่รับประทานคาร์โบไฮเดรตต่ำเน้นโปรตีนสูง อาจนำไปสู่การเกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) ที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์ โรคกระดูกพรุน หรือนิ่วในไตได้ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Kidney Diseases ปี พ.ศ. 2545 เกี่ยวกับผลของการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำและคาร์โบไฮเดรตสูง ต่อความสมดุลของความเป็นกรด-เบส ความเสี่ยงในการเกิดนิ่ว และการเผาผลาญแคลเซียม โดยทำการทดลองในอาสาสมัครจำนวน 10 คน ให้รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำอย่างเข้มงวดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และควบคุมการรับประทานคาร์โบไฮเดรตในระดับปานกลางอีก 4 สัปดาห์ รวมทั้งหมด 6 สัปดาห์ พบว่า อาจมีระดับของกรดยูริกในไตเพิ่มขึ้นสูง ความเสี่ยงในการเกิดนิ่วเพิ่มขึ้น และความสมดุลของแคลเซียมลดลง ที่นำไปสู่การสูญเสียมวลกระดูกได้

    ดังนั้น หากต้องการลดน้ำหนักแบบ Atkins diet จึงควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอ เพื่อตรวจเช็กสุขภาพและรับแผนการลดน้ำหนักที่เหมาะสม

    อาหารที่ควรรับประทานและควรหลีกเลี่ยงแบบ Atkins diet

    อาหารที่ควรรับประทานและควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้

    อาหารที่ควรรับประทาน

    คืออาหารที่มีโปรตีนสูง และมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ได้แก่

    • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่
    • ปลาและอาหารทะเล เช่น ปลาซาร์ดีน แซลมอน ปลาแมคเคอเรล กุ้ง หอย
    • ไข่ไก่ สามารถรับประทานได้ทั้งไข่แดงและไข่ขาว
    • ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น เนย ชีส ครีม โยเกิร์ต
    • พืชตระกูลถั่วและธัญพืช เช่น อัลมอนด์ วอลนัท เมล็ดทานตะวัน ข้าวโอ๊ต
    • ผักที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เช่น คะน้า ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี
    • ไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันอะโวคาโด
    • เครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า กาแฟหรือชาที่ไม่ใส่น้ำตาล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่อาจรับประทานได้ในปริมาณน้อย

    อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

    คืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ได้แก่

    • ขนมปังและพาสต้าที่ทำจากแป้งที่ผ่านการขัดสีแล้ว
    • น้ำตาลทรายขาว
    • มันฝรั่ง
    • แครอท
    • หัวผักกาด
    • แอปเปิ้ล
    • กล้วย
    • ส้ม
    • องุ่น
    • ถั่วลูกไก่
    • ขนมหวาน เช่น คุกกี้ ลูกอม ไอศกรีม
    • น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาล

    เริ่มต้นการรับประทานอาหารแบบ Atkins diet

    การเริ่มต้นรับประทานอาหารแบบ Atkins diet แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

    • ระยะที่ 1 Induction

    เป็นระยะเริ่มต้น โดยเริ่มจากการจำกัดการรับประทานประเภทคาร์โบไฮเดรต ให้เหลือเพียง 20 กรัม/วัน และเน้นรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงและไขมันสูง และผักใบเขียว เป็นเวลา 2 สัปดาห์

    • ระดับที่ 2 Balancing

    ในระยะนี้ยังควรเน้นการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ และมีโปรตีนและไขมันสูง แต่อาจเพิ่มอาหารจำพวกถั่ว ธัญพืช และผลไม้ อย่างน้อย 12-15 กรัม และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งอาจรับประทานอาหารในรูปแบบนี้ต่อไปจนกว่าน้ำหนักจะลดลงประมาณ 4-5 กิโลกรัม

    • ระดับที่ 3 Pre-maintenance

    เป็นระยะที่สามารถเพิ่มปริมาณคาร์โบไฮเดรตได้อีก 10 กรัม/สัปดาห์ หรือ 50-80 กรัม/วัน โดยควรรับประทานเป็นเวลา 1 เดือน หรือจนกว่าจะได้น้ำหนักตามที่ต้องการ 

    • ระดับที่ 4 Lifetime maintenance

    เมื่อน้ำหนักตัวลดลงตามเป้าหมาย อาจกลับมารับประทานคาร์โบไฮเดรตได้ตามปกติ หรืออาจเลือกรับประทานอาหารในรูปแบบนี้ไปได้ตลอดตามที่ต้องการ เพื่อเป็นการควบคุมน้ำหนักให้สมดุล

    ความเสี่ยงในการรับประทานอาหารแบบ Atkins diet

    การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำเป็นเวลานานอาจทำให้ร่างกายได้รับใยอาหารไม่เพียงพอ จนนำไปสู่อาการขาดสารอาหาร และทำให้เกิดอาการดังนี้

    • วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
    • เหนื่อยล้า
    • คลื่นไส้
    • ท้องผูก ท้องเสีย
    • น้ำตาลในเลือดต่ำ
    • การทำงานของไตผิดปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา