backup og meta

กรดอะมิโน 20 ชนิด มีอะไรบ้าง และสำคัญกับร่างกายอย่างไร

กรดอะมิโน 20 ชนิด มีอะไรบ้าง และสำคัญกับร่างกายอย่างไร

กรดอะมิโน 20 ชนิด เป็นส่วนประกอบสำคัญที่พบในโปรตีน ซึ่งแต่ละชนิดมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน โดยกรดอะมิโนบางชนิดร่างกายสามารถสร้างเองได้ แต่บางชนิดจำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน เพื่อให้ได้รับกรดอะมิโนอย่างเพียงพอในการช่วยส่งเสริมกระบวนการทำงานของร่างกาย

[embed-health-tool-bmi]

กรดอะมิโน มีความสำคัญกับร่างกายอย่างไร

ร่างกายจำเป็นต้องได้รับกรดอะมิโนเพื่อเป็นส่วนประกอบในการสร้างโปรตีนให้กับร่างกาย เพื่อช่วยในการเจริญเติบโต ซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอ และเป็นแหล่งพลังงาน โดยกรดอะมิโนจะมีด้วยกัน 20 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดอาจมีความสำคัญและมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน เช่น ช่วยย่อยอาหาร สร้างฮอร์โมนและสารสื่อประสาท รักษาสุขภาพผิว รักษาสุขภาพผมและสุขภาพเล็บ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน รักษาระบบย่อยอาหาร

กรดอะมิโน 20 ชนิด มีอะไรบ้าง

กรดอะมิโน 20 ชนิด มีความสำคัญต่อร่างกายแตกต่างกัน โดยจะแบ่งเป็นกรดอะมิโนจำเป็น (Essential Amino Acids) 9 ชนิด ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้และต้องได้รับจากการรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน ดังนี้

  1. ฮิสทิดีน (Histidine) ช่วยสร้างสารสื่อประสาท ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การย่อยอาหาร การนอนหลับ และสุขภาพทางเพศ
  2. ไอโซลิวซีน (Isoleucine) ช่วยในการเผาผลาญของกล้ามเนื้อ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ร่างกายสร้างฮีโมโกลบินที่เป็นส่วนประกอบของเลือด และช่วยควบคุมพลังงาน
  3. ลิวซีน (Leucine) ช่วยในการสร้างโปรตีนและฮอร์โมนการเจริญเติบโต ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ ช่วยในการสมานแผล และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  4. ไลซีน (Lysine) ช่วยในการผลิตฮอร์โมนและสร้างพลังงาน ช่วยในการทำงานของแคลเซียมและระบบภูมิคุ้มกัน
  5. เมไธโอนีน (Methionine) ช่วยในการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกาย ช่วยในการล้างพิษ และยังช่วยในการดูดซึมแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น สังกะสี ซีลีเนียม (Selenium)
  6. ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) ช่วยในการผลิตสารเคมีในสมอง เช่น โดปามีน (Dopamine) อะดรีนาลีน (Adrenaline) นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) นอกจากนี้ ยังช่วยร่างกายในการผลิตกรดอะมิโนชนิดอื่น ๆ
  7. ทรีโอนีน (Threonine) ช่วยในการสังเคราะห์คอลลาเจนและอีลาสติน ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของผิวหนังและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และช่วยสร้างลิ่มเลือดที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว นอกจากนี้ ยังช่วยในการเผาผลาญไขมันและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
  8. ทริปโตเฟน (Tryptophan) ช่วยรักษาสมดุลของไนโตรเจนในร่างกาย ช่วยสร้างสารสื่อประสาทที่ช่วยควบคุมอารมณ์ ความอยากอาหาร และการนอนหลับ
  9. วาลีน (Valine) ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ ช่วยสร้างเนื้อเยื่อใหม่ และสร้างพลังงาน

นอกจากนี้ ยังมีกรดอะมิโนอีก 11 ชนิด ซึ่งเป็นกรดอะมิโนไม่จำเป็น (Non-Essential Amino Acids) ที่ร่างกายสามารถสร้างได้เอง ดังนี้

  1. อะลานีน (Alanine) ช่วยลดความเครียด ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด และอาจช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับตับ เช่น ตับอักเสบ ฝีในตับ
  2. อาร์จินีน (Arginine) ช่วยในการสร้างโปรตีน ช่วยรักษาบาดแผล ช่วยกำจัดสารพิษส่วนเกินออกจากร่างกาย กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และส่งเสริมการหลั่งฮอร์โมน เช่น กลูคากอน (Glucagon) อินซูลิน โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone)
  3. แอสพาราจีน (Asparagine) ช่วยสลายแอมโมเนียที่เป็นพิษภายในเซลล์ ช่วยในการสร้างโปรตีน และช่วยสร้างสารสื่อประสาท
  4. กรดแอสปาร์ติก (Aspartic Acid) ช่วยให้ทุกเซลล์ในร่างกายทำงานอย่างเป็นปกติ ช่วยในการผลิตและการปล่อยฮอร์โมน รวมถึงช่วยให้การทำงานของระบบประสาทเป็นปกติ
  5. ซีสเทอีน (Cysteine) ช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม ช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของผิวหนัง ช่วยรักษาแผลหลังการผ่าตัดหรือแผลไหม้ และปกป้องผิวจากการบาดเจ็บที่เกิดจากรังสี รวมถึงอาจช่วยเผาผลาญไขมันและเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ
  6. กรดกลูตามิก (Glutamic Acid) ช่วยสร้างโปรตีน และเป็นสารเคมีที่ช่วยในการส่งและรับสัญญาณระหว่างเซลล์ของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการจดจำ
  7. กลูตามีน (Glutamine) ช่วยกำจัดของเสียในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงช่วยในการทำงานของสมองและการย่อยอาหาร
  8. ไกลซีน (Glycine) ช่วยลดการอักเสบที่เกิดจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ ช่วยซ่อมแซมและปรับปรุงกล้ามเนื้อและสมอง รวมถึงอาจช่วยควบคุมความดันโลหิตและช่วยกระตุ้นการตอบสนองของอินซูลิน
  9. โพรลีน (Proline) เป็นส่วนประกอบของคอลลาเจนที่เป็นเนื้อเยื่อผิวหนัง ซึ่งมีความสำคัญในการช่วยให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนังและเส้นผม
  10. ซีรีน (Serine) ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท ช่วยในการเผาผลาญไขมัน ช่วยสร้างกล้ามเนื้อและการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ รวมถึงยังช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
  11. ไทโรซีน (Tyrosine) เป็นส่วนประกอบสำคัญของสารสื่อประสาท เช่น อะดรีนาลีน นอร์เอพิเนฟริน โดปามีน และยังช่วยสร้างเม็ดสีเมลานินในร่างกาย

กรดอะมิโนแต่ละชนิดสามารถพบได้ในอาหารจำพวกโปรตีนทุกชนิด เช่น ปลา เนื้อแดง เนื้อหมู สัตว์ปีก ถั่วเหลืองและถั่วต่าง ๆ ธัญพืชไม่ขัดสี นม ผลิตภัณฑ์จากนม แฮม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Amino Acids. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/22243-amino-acids.

Amino acids. https://medlineplus.gov/ency/article/002222.htm. Accessed November 6, 2022

Arginine. https://wa.kaiserpermanente.org/kbase/topic.jhtml?docId=hn-2803000. Accessed November 6, 2022

Tyrosine. https://www.mountsinai.org/health-library/supplement/tyrosine#:~:text=It%20is%20an%20essential%20component,for%20hair%20and%20skin%20color. Accessed November 6, 2022

Health Benefits of Glycine. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-glycine##1. Accessed November 6, 2022

Glutamine. https://www.mountsinai.org/health-library/supplement/glutamine#:~:text=Glutamine%20is%20important%20for%20removing,get%20some%20in%20your%20diet. Accessed November 6, 2022

Glutamic Acid. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?contenttypeid=19&contentid=GlutamicAcid#:~:text=Glutamic%20acid%20is%20an%20amino,involved%20in%20learning%20and%20memory. Accessed November 6, 2022

Cysteine. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?contenttypeid=19&contentid=Cysteine#:~:text=Cysteine%20may%20play%20a%20role,fat%20and%20increase%20muscle%20mass. Accessed November 6, 2022

Aspartic acid. https://medlineplus.gov/ency/article/002234.htm#:~:text=Aspartic%20acid%20helps%20every%20cell,Normal%20nervous%20system%20function. Accessed November 6, 2022

ASNS gene. https://medlineplus.gov/genetics/gene/asns/#:~:text=Asparagine%20is%20needed%20to%20produce,the%20brain%20(a%20neurotransmitter). Accessed November 6, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/11/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิตามินเสริม ควรกินหรือไม่ และควรกินอย่างไรให้ได้ประโยชน์

น้ำวิตามินซี มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา