backup og meta

คลอโรฟิลล์ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

คลอโรฟิลล์ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) คือสารสีเขียวที่เป็นสารประกอบตามธรรมชาติของพืช มักพบได้ในผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักบุ้ง กะเพรา บร็อคโคลี่ ผักกาดหอม หน่อไม้ฝรั่ง มีหน้าที่ช่วยให้พืชสามารถดูดซับแสงแดดจากดวงอาทิตย์เพื่อสังเคราะห์และเปลี่ยนเป็นพลังงาน อีกทั้งยังมีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังอาจช่วยรักษาสิว และระงับกลิ่นกายได้

[embed-health-tool-bmi]

คลอโรฟิลล์ คืออะไร

คลอโรฟิลล์ คือ สารสีเขียวที่อยู่ในพืชและผัก โดยเฉพาะผักใบเขียว เช่น ผักกาดหอม หน่อไม้ฝรั่ง คะน้า บร็อคโคลี่ คลอโรฟิลล์มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังอาจช่วยล้างสารพิษในร่างกาย ป้องกันมะเร็ง นอกจากนี้ ยังมีคลอโรฟิลล์ในรูปแบบอาหารเสริมแบบเม็ดและแบบชงในน้ำ ที่ง่ายต่อการรับประทานอีกด้วย

ประโยชน์ของคลอโรฟิลล์ต่อสุขภาพ

คลอโรฟิลล์มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของคลอโรฟิลล์ในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  • อาจช่วยระงับกลิ่นกาย

การรับประทานคลอโรฟิลล์ในรูปแบบอาหารเสริมอาจช่วยระงับและลดกลิ่นตัวได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะมีไตรเมทิลามีนในปัสสาวะ (Trimethylaminuria) หรือโรคกลิ่นตัวเหม็น ที่เกิดจากความผิดปกติของการเผาผลาญตั้งแต่กำเนิด ที่ส่งผลให้ร่างกายสะสมไตรเมทิลามีนมากเกินไปจนขับออกมาในรูปแบบปัสสาวะ เหงื่อ และลมหายใจที่มีกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นคาวปลา

จากการศึกษาในวารสาร Life Sciences ปี พ.ศ. 2547 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานอาหารเสริม ถ่านกัมมันต์หรือถ่านชาร์โคล (Activated Charcoal) และคอปเปอร์คลอโรฟิลลิน (Copper Chlorophyllin) ที่เป็นคลอโรฟิลล์ละลายน้ำได้ ต่อการขับไตรเมทิลลามีนในปัสสาวะของผู้ป่วยในญี่ปุ่น โดยทดสอบกับชาวญี่ปุ่นจำนวน 7 คน ที่ให้รับประทานอาหารเสริมถ่านกัมมันต์ 5 กรัม เป็นเวลา 10 วัน และคอปเปอร์คลอโรฟิลลิน 180 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ พบว่าระดับความเข้มข้นของสารไตรเมทิลลามีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจลดกลิ่นกายได้

  • อาจช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัย

คลอโรฟิลล์มีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย และอาจช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควรได้ จากการศึกษาในวารสาร Journal of the Korean Dermatological Research Society ปี พ.ศ. 2549 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มที่มีสารสกัดจากคลอโรฟิลล์ในการช่วยลดริ้วรอยที่เกิดขึ้นจากแสงแดด โดยให้ผู้เข้ารับการทดสอบซึ่งเป็นผู้หญิงอายุ 45 ปี รับประทานอาหารเสริมที่มีสารสกัดของคลอโรฟิลล์ โดยให้กลุ่มหนึ่งรับประทาน 2 ซอง/วัน และอีกกลุ่มหนึ่งรับประทาน 6 ซอง/วัน เป็นเวลา 90 วัน จากนั้นจึงวัดความยืดหยุ่นของผิวเพื่อดูการเปลี่ยนแปลง พบว่า หลังจากรับประทานคลอโรฟิลล์ ริ้วรอยบนใบหน้าลดลง ผิวมีความยืดหยุ่นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังช่วยผลิตคอลลาเจนที่เพิ่มขึ้นในผิว ลดความเสียหายของผิวหนังชั้นนอกที่เกิดจากรังสียูวี อาจช่วยซ่อมแซมการเสื่อมสภาพของผิวหนัง

  • อาจช่วยรักษาสิว

คลอโรฟิลล์ มีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังอาจช่วยลดการหลั่งน้ำมันบนใบหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดสิวได้ จากการศึกษาในวารสาร Journal of the American Academy of Dermatology ปี พ.ศ. 2557 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการบำบัดด้วยโฟโตไดนามิก (Photodynamic) ซึ่งเป็นการใช้แสงเลเซอร์ โดยใช้คลอโรฟิลล์เอในการรักษาสิว ซึ่งให้ผู้ที่เป็นสิวบนใบหน้าทั้ง 2 ข้าง ทำการรักษาโดยการฉายรังสีโฟโตไดนามิกหลังจากทาคลอโรฟิลล์บนใบหน้าเพียงครึ่งหน้า และอีกครึ่งหนึ่งรักษาด้วยการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว จำนวน 8 ครั้ง เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า ใบหน้าข้างที่รับการฉายรังสีและคลอโรฟิลล์ มีจำนวนของสิว ความมัน และรอยแผลจากสิวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับข้างที่ฉายรังสีเพียงอย่างเดียว

  • อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง

คลอโรฟิลล์ที่อยู่ในผักใบเขียว มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากอนุมูลอิสระเข้าไปทำลายเซลล์ และอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ จากการศึกษาในวารสาร Nutrition Research ปี พ.ศ. 2550 ที่ศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณในการย่อย การดูดซึม และการป้องกันมะเร็งของอนุพันธ์คลอโรฟิลล์ พบว่า การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ที่มีสารพฤกษเคมี เช่น คลอโรฟิลล์ อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยการต้านอนุมูลอิสระและต้านการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็ง

ข้อควรระวังการบริโภคคลอโรฟิลล์

คลอโรฟิลล์ที่สามารถพบได้ในพืชผักอาจปลอดภัยต่อการรับประทาน โดยควรล้างทำความสะอาดหรือใช้น้ำยาล้างผัก เพื่อป้องกันสารพิษจากยาฆ่าแมลง แต่สำหรับการรรับประทานคลอโรฟิลล์ในรูปแบบอาหารเสริม ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมตามข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียง ดังนี้

  • อาเจียน คลื่นไส้
  • ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ลิ้น ปัสสาวะ และอุจจาระเปลี่ยนสี
  • รู้สึกแสบร้อนหรือมีอาการคันผิวหนัง เมื่อนำคลอโรฟิลล์มาทาโดยตรงที่แผล

นอกจากนี้ สำหรับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่กำลังให้นมบุตรอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานคลอโรฟิลล์ในรูปแบบอาหารเสริม หรือควรขอคำแนะนำจากคุณหมอ เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยรับรองถึงความปลอดภัย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Health Benefits of Chlorophyll. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-chlorophyll#1. Accessed June 07, 2022  

Chlorophyll – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-712/chlorophyll. Accessed June 07, 2022  

Effects of the dietary supplements, activated charcoal and copper chlorophyllin, on urinary excretion of trimethylamine in Japanese trimethylaminuria patients https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15043988/. Accessed June 07, 2022  

Drink Containing Chlorophyll Extracts Improves Signs of Photoaging and Increases Type I Procollagen in Human Skin in Vivo

https://kmbase.medric.or.kr/KMID/0604220060130040111. Accessed June 07, 2022  

Digestion, absorption, and cancer preventative activity of dietary chlorophyll derivatives

https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0271531706002934. Accessed June 07, 2022  

Photodynamic therapy using chlorophyll-a in the treatment of acne vulgaris: A randomized, single-blind, split-face study

https://www.jaad.org/article/S0190-9622(14)01535-7/fulltext. Accessed June 07, 2022  

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/06/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ใยอาหาร ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ใบเตย สรรพคุณ สารอาหาร และข้อควรระวังในการรับประทาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 08/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา