backup og meta

นมผึ้ง ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/09/2022

    นมผึ้ง ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    นมผึ้ง (Royal Jelly) เป็นของเหลวสีขาวมีความเหนียวหนืดที่ผึ้งงานผลิตออกมาเพื่อเป็นอาหารแก่ผึ้งนางพญาและตัวอ่อน นิยมนำมาแปรรูปและจำหน่ายในรูปแบบอาหารเสริมต่าง ๆ ทั้งนี้ นมผึ้งมีคุณค่าทางอาหารสูง มีสารอาหารและวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โปรตีน วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 โดยมีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยระบุว่า การบริโภคนมผึ้งอาจช่วยลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด และบรรเทาอาการต่าง ๆ ในหญิงวัยหมดประจำเดือนได้

    คุณค่าทางโภชนาการของ นมผึ้ง

    นมผึ้ง 1 ช้อนชา ให้พลังงานประมาณ 20 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยน้ำตาลประมาณ 5 กรัม รวมถึงสารอาหารอื่น ๆ ในอัตราส่วนต่อไปนี้

    • น้ำ 60-70 เปอร์เซ็นต์
    • โปรตีน 12-15 เปอร์เซ็นต์
    • น้ำตาล 10-16 เปอร์เซ็นต์
    • ไขมัน 3-6 เปอร์เซ็นต์

    นอกจากนี้ น้ำผึ้งยังอุดมไปด้วย วิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินบี 7 วิตามินบี 8 วิตามินบี 9

    ประโยชน์ของ นมผึ้ง ต่อสุขภาพ

    นมผึ้ง อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของนมผึ้ง ดังนี้

    1. ช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

    นมผึ้งมีคุณสมบัติของฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ดังนั้น การบริโภคนมผึ้ง จึงอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลงเมื่ออายุมากขึ้น เช่น วิตกกังวล ฉุนเฉียวง่าย ร้อนวูบวาบ ปวดหลัง

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของนมผึ้งในรูปแบบอาหารเสริม ต่ออาการหลังหมดประจำเดือนในผู้หญิงญี่ปุ่น เผยแพร่ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยแบ่งผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 42 รายออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้บริโภคนมผึ้งในรูปแบบอาหารเสริม วันละ 800 กรัม ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้บริโภคยาหลอกวันละ 800 กรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์เท่า ๆ กัน ผลปรากฏว่า การบริโภคนมผึ้งในรูปแบบอาหารเสริม ช่วยบรรเทาอาการหลังหมดประจำเดือนต่าง ๆ ได้ เช่น วิตกกังวล ปวดหลัง ปวดหลังส่วนล่าง

    1. ช่วยลดความดันโลหิต

    โปรตีนในนมผึ้งมีคุณสมบัติผ่อนคลายเซลล์กล้ามเนื้อเรียบในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง ดังนั้น การบริโภคนมผึ้งอาจช่วยลดความดันโลหิต และลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับประสิทธิภาพของนมผึ้งในการลดความดันโลหิตและการขยายหลอดเลือด ตีพิมพ์ในวารสาร Food Science & Nutrition ปี พ.ศ. 2562 นักวิจัยได้ทดสอบคุณสมบัติของนมผึ้งในสัตว์ทดลองอย่างหนูและกระต่าย พบข้อสรุปว่า การบริโภคนมผึ้งอาจช่วยลดความดันโลหิตขณะหัวใจบีบและคลายตัวได้ รวมถึงมีประสิทธิภาพที่ช่วยเพิ่มการผลิตไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ในร่างกายของสัตว์ทดลอง ซึ่งมีส่วนให้หลอดเลือดขยายตัวและความดันโลหิตลดลง โดยไนตริกออกไซด์เป็นโมเลกุลชนิดหนึ่งที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อได้รับสารอาหารและออกซิเจนมากขึ้นขณะเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกาย

    ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของนมผึ้งต่อการช่วยลดความดันโลหิตและการขยายหลอดเลือด

    1. อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

    ในนมผึ้งมีสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic) ซึ่งจัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณสมบัติป้องกันภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress) และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ ดังนั้น การบริโภคนมผึ้งจึงอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของนมผึ้งในรูปแบบอาหารเสริม ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เผยแพร่ในวารสาร Chinese Journal of Integrative Medicine ปี พ.ศ. 2557 นักวิจัยแบ่งอาสาสมัครเพศหญิงจำนวน 50 ราย ซึ่งเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้บริโภคนมผึ้งในรูปแบบอาหารเสริมวันละ 1,000 มิลลิกรัม ส่วนอีกกลุ่มให้บริโภคยาหลอกในปริมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อเนื่องเป็นเวลา 8 สัปดาห์เท่า ๆ กัน

    เมื่อสิ้นสุดการทดลอง นักวิจัยพบว่ากลุ่มที่บริโภคนมผึ้งในรูปแบบอาหารเสริม มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร และระดับน้ำตาลสะสมในรอบ 2-3 เดือน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นักวิจัยจึงสรุปว่า การบริโภคนมผึ้งในรูปแบบอาหารเสริมอาจมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานไม่ให้สูงเกินไป แต่ทั้งนี้ ควรมีการทดลองเพิ่มเติมในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของนมผึ้งในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน

    1. อาจช่วยต้านการอักเสบภายในร่างกาย

    นมผึ้ง อุดมไปด้วย กรดอะมิโน กรดไขมัน และสารประกอบฟีนอลิก  ซึ่งอาจช่วยลดการอักเสบภายในร่างกาย และบรรเทาภาวะเครียดออกซิเดชัน การบริโภคนมผึ้งจึงอาจช่วยป้องกันเซลล์ต่างๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพ ลดการอักเสบ และลดความเสี่ยงต่อการเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องประสิทธิภาพของนมผึ้งต่อการช่วยต้านอาการไตอักเสบในหนูทดลอง ตีพิมพ์ในวารสาร International Brazilian Journal of Urology ปี พ.ศ. 2558 นักวิจัยให้หนูทดลองดื่มน้ำตาลที่มีส่วนผสมของสารเอทิลีน ไกลคอล (Ethylene Glycol) ซึ่งส่งผลให้ไตอักเสบ จากนั้นให้หนูทดลองบริโภคนมผึ้งในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อทดสอบคุณสมบัติของนมผึ้ง ผลปรากฏว่า นมผึ้งช่วยบรรเทาอาการไตอักเสบของหนูทดลองได้ โดยสันนิษฐานว่าสารเคมีในนมผึ้งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและทำปฏิกิริยาต่อวิถีส่งสัญญาณ (Signaling Pathway) ของสารเคมีภายในร่างกายให้สามารถบรรเทาอาการบาดเจ็บหรืออักเสบได้

    ทั้งนี้ นักวิจัยเสริมว่า ประสิทธิภาพต้านการอักเสบของนมผึ้ง อาจเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รวมถึงการอักเสบภายในร่างกายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเป็นนิ่ว

    อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์เท่านั้น ควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าการบริโภคนมผึ้งอาจช่วยต้านการอักเสบในร่างกายมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน

    ข้อควรระวังในการบริโภค นมผึ้ง

    นมผึ้งและผลิตภัณฑ์นมผึ้งอาจปนเปื้อนเหล็กในผึ้ง เกสรดอกไม้ รวมถึงสารเคมีอย่างยาฆ่าแมลง ซึ่งปะปนมาจากน้ำหวานในดอกไม้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ หรือผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคนมผึ้งเพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้อย่างผื่นระคายสัมผัสหรืออาการแพ้อย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

    ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของนมผึ้งต่อหญิงตั้งครรภ์และหญิงในระยะให้นมบุตร ดังนั้น ควรบริโภคนมผึ้งด้วยความระมัดระวัง หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับเรื่องอาหารและโภชนาการควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา