backup og meta

แคนตาลูป ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/07/2022

    แคนตาลูป ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    แคนตาลูป เป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับแตงไทย มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกกลางและอินเดีย ในประเทศไทย แหล่งปลูกแคนตาลูปมากที่สุดอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว ผลของแคนตาลูปมีลักษณะกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-15 เซนติเมตร เปลือกหนาและแข็งเป็นสีเขียวลายตาข่าย เนื้อในมีทั้งสีส้มอ่อน สีเหลือง หรือสีขาว ตามแต่สายพันธุ์ เมื่อสุกจะนิ่มและให้รสฉ่ำหวาน อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินซี งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้น มีข้อสนับสนุนว่าการบริโภคแคนตาลูป อาจช่วยบำรุงสุขภาพตา ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง และบรรเทาอาการโรคหอบได้ อย่างไรก็ตาม แคนตาลูปอาจปนเปื้อนยาฆ่าแมลงอยู่มาก จึงควรล้างให้สะอาดเพื่อช่วยกำจัดสารพิษตกค้างก่อนบริโภค

    คุณค่าทางโภชนาการของ แคนตาลูป

    แคนตาลูป 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 38 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 8.69 กรัม
    • ไขมัน 0.18 กรัม
    • โพแทสเซียม 157 มิลลิกรัม
    • โซเดียม 30 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 17 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 13 มิลลิกรัม
    • วิตามินซี 10.9 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 9 มิลลิกรัม

    นอกจากนี้ แคนตาลูปยังมีสารอาหารอื่น ๆ เช่น ซีลีเนียม (Selenium) ไอโอดีน วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินเค โฟเลต (Folate)

    ประโยชน์ต่อสุขภาพของ แคนตาลูป

    แคนตาลูป ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของแคนตาลูป ดังนี้

    1. อาจช่วยบำรุงสุขภาพสายตา

    แคนตาลูปมีลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) สารพฤกษเคมีกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยบำรุงสายตา และป้องกันอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลตที่อาจสร้างความเสียหายให้ดวงตา ดังนั้น การบริโภคแคนตาลูป จึงอาจช่วยบำรุงสุขภาพดวงตาได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยประโยชน์ของลูทีนต่อการบำรุงสายตาในผู้ป่วยโรคต้อกระจก เผยแพร่ในวารสาร Nutrition ปี พ.ศ. 2546 นักวิจัยทดลองให้อาสาสมัครซึ่งเป็นป่วยด้วยโรคต้อกระจกเนื่องจากอายุที่มากขึ้นจำนวน 17 ราย รับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของลูทีน และยาหลอก สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 ปี แล้ววัดผลเปรียบเทียบ ผลปรากฏว่า อาสาสมัครกลุ่มที่บริโภคอาหารเสริมลูทีนมีการมองเห็นและอาการตาแพ้แสงดีขึ้นกว่ากลุ่มที่บริโภคยาหลอก

    ดังนั้น การบริโภคผักหรือผลไม้ที่อุดมด้วยลูทีน เช่น แคนตาลูป หรืออาหารเสริมลูทีน จึงอาจมีส่วนช่วยบำรุงสายตาได้

    นอกจากนั้น งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยคุณสมบัติของลูทีน ซีแซนทีน ที่มีต่อสุขภาพดวงตาและโรคเกี่ยวกับดวงตา ตีพิมพ์ในวารสาร Annual Review of Nutrition ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น ระบุว่า ผู้ที่บริโภคลูทีนและซีแซนทีนในปริมาณ 5-6 มิลลิกรัมต่อวัน มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในการเป็นโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-Related Macular Degeneration) ขณะที่ปริมาณที่เหมาะสมสำหรับบริโภคเพื่อชะลอการเป็นโรคต้อกระจก อาจน้อยกว่า 5-6 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณลูทีนและซีแซนทีนที่ควรบริโภค หรือที่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อยืนยันถึงความปลอดภัยต่อปริมาณการได้รับลูทีนและซีแซนทีนเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ

    1. อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง

    แคนตาลูป 100 กรัม ประกอบด้วยโฟเลตประมาณ 14 ไมโครกรัม ซึ่งมีคุณสมบัติในการเติบโตและการซ่อมแซมตัวเองของเซลล์ รวมถึงช่วยป้องกันมะเร็งบางชนิดที่อยู่ในระยะเริ่มต้นการบริโภคแคนตาลูป จึงอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องโฟเลตและผลกระทบด้านความเสี่ยงโรคมะเร็ง ตีพิมพ์ในวารสาร Current Nutrition Reports ปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น พบว่า การขาดแคลนโฟเลตหรือได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคมะเร็งบางชนิดได้ เช่น มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งคอหอยหลังช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ หากร่างกายได้รับโฟเลตในปริมาณน้อย แต่ได้รับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งช่องปากได้มากกว่า หากเปรียบเทียบกับการได้รับโฟเลตในปริมาณมาก และมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายต่ำ

    ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า โฟเลตอาจมีคุณสมบัติในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง และการบริโภคโฟเลตอย่างเพียงพอ อาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งบางชนิดได้

    1. อาจช่วยบรรเทาโรคหอบหืดจากการออกกำลังกาย

    แคนตาลูปมีสารเบตา แคโรทีน (β-Carotene) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการบำรุงปอดให้แข็งแรง การบริโภคแคนตาลูป จึงอาจช่วยบรรเทาอาการหอบหืดและเสริมสร้างปอดให้มีสุขภาพดี

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยคุณสมบัติของเบตา แคโรทีนในการป้องกันโรคหอบหืดจากการออกกำลังกาย เผยแพร่ในวารสาร Annals of Allergy, Asthma & Immunology ปี พ.ศ. 2542 นักวิจัยทดลองให้กลุ่มอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคหอบหืดจากการออกกำลังกายจำนวน 38 ราย บางรายบริโภคเบตา แคโรทีน 64 มิลลิกรัม/วัน และบางรายบริโภคยาหลอก เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดการทดลอง นักวิจัยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายบนลู่วิ่งและทดสอบการทำงานของปอด

    พบว่า กลุ่มอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยโรคหอบหืดจากการออกกำลังกายที่บริโภคยาหลอก มีสมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง ในขณะที่กลุ่มอาสาสมัครที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดจากการออกกำลังกายที่บริโภคสารสกัดเบตา แคโรทีนมีสมรรถภาพการทำงานของปอดดีขึ้น

    สรุปได้ว่า การบริโภคสารสกัดเบต้า แคโรทีนเป็นประจำทุกวัน อาจมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของปอด และอาจช่วยป้องกันโรคหอบหืดจากการออกกำลังกายได้

    1. อาจช่วยลดความดันโลหิต

    แคนตาลูปมีธาตุอาหารโพแทสเซียม ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดความตึงของผนังหลอดเลือด ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงและป้องกันการเกิดตะคริว ดังนั้น การบริโภคแคนตาลูปจึงอาจช่วยลดความดันโลหิตรวมถึงช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

    ผลการศึกษาหนึ่ง เกี่ยวกับความสำคัญของโพแทสเซียมในการบรรเทาภาวะความดันโลหิตสูง เผยแพร่ในวารสาร Current Hypertension Reports ปี พ.ศ. 2554 นักวิจัยได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์งานวิจัยหลายชิ้นทั้งงานวิจัยที่ทดลองในกลุ่มอาสาสมัคร การศึกษาเชิงสังเกต และการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า การบริโภคโพแทสเซียมเป็นประจำทุกวันอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตทั้งในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีความดันโลหิตอยู่ในระดับปกติได้อย่างมีนัยสำคัญ

    ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาอีกชิ้น ว่าด้วยคุณสมบัติของโพแทสเซียมในการป้องกันและเยียวยาภาวะความดันโลหิตสูง เผยแพร่ในวารสาร Seminars in Nephrology ปี พ.ศ. 2542 ระบุว่า การบริโภคโพแทสเซียมในปริมาณที่สูงขึ้น อาจมีส่วนป้องกันหรือบรรเทาภาวะความดันโลหิตสูงได้ โดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่ไม่สามารถลดการบริโภคโซเดียมซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูงได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของสารสกัดเมทานอลจากแคนตาลูปในการใช้เพื่อลดภาวะความดันโลหิตสูง เผยแพร่ในวารสาร Drug Invention Today พ.ศ. 2562 ระบุว่า หนึ่งในพืชสมุนไพรที่ใช้มากที่สุดในการบรรเทาภาวะความดันโลหิตสูง คือ แคนตาลูป อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า แคนตาลูปมีส่วนช่วยลดความดันโลหิตสูงได้อย่างไร โดยงานวิจัยดังกล่าว สันนิษฐานว่า กลูต้าไธโอสเอสทรานส์เฟอร์เรส (Glutathione-S-transferase) อาจเป็นสารในแคนตาลูปที่ส่งผลต่อการช่วยลดความดันโลหิต

    ข้อควรระวังในการบริโภค แคนตาลูป

    แคนตาลูปไม่มีสารเคมีที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ใด ๆ แต่ในการเพาะปลูก เกษตรกรอาจใช้สารเคมีเพื่อป้องกันโรคหรือศัตรูพืช ทำให้อาจมีสารพิษตกค้างอยู่ในผลแคนตาลูป เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากสารตกค้าง ควรล้างหรือแช่แคนตาลูปในน้ำเกลือก่อนบริโภคหรือเลือกบริโภคแคนตาลูปที่ปลูกแบบออร์แกนิก

    ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสามารถบริโภคแคนตาลูปได้อย่างปลอดภัยเนื่องจากเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ มีน้ำอยู่ในเนื้อเป็นจำนวนมาก และมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 65 ซึ่งหากค่าดัชนีน้ำตาลสูงกว่า 70 จึงจะถือว่าไม่ปลอดภัยต่อการควบคุมภาวะน้ำตาลในเลือด อย่างไรก็ตาม ควรจำกัดปริมาณในการบริโภคอย่างเหมาะสม

    หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรสามารถบริโภคแคนตาลูปได้อย่างปลอดภัยในปริมาณที่เหมาะสมเช่นกัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา