backup og meta

ผักกูด ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 13/09/2022

    ผักกูด ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

    ผักกูด เป็นพืชตระกูลเฟิร์นที่สามารถรับประทานได้ นิยมรับประทานยอดอ่อนเป็นผักเคียง ใช้ทำสลัด และนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ผักกูดน้ำมันหอย แกงส้มผักกูด ยำผักกูด ซึ่งผักกูดอุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย เช่น แคลเซียม โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เหล็ก ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม รวมถึงมีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยต้านการอักเสบ ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ต้านโรคเบาหวาน และอาจช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้

    ประโยชน์ของผักกูดต่อสุขภาพ

    ผักกูด มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของผักกูดในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    1. อุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย

    ผักกูดเป็นผักที่แนะนำให้รับประทานเนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ใยอาหาร น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต กรดไขมันอิสระ โปรตีน จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Prospects in Bioscience: Addressing the Issues เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับผักกูด พบว่า ผักกูดเป็นพืชตระกูลเฟิร์นที่นิยมรับประทานยอดอ่อน และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย เช่น ใยอาหาร น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต กรดไขมันอิสระ โปรตีน และอุดมไปด้วยสารอาหารรอง เช่น กรดไฟติก (Phytic Acid) ทริปซิน (Trypsin) แทนนิน (Tannins) เบต้าแคโรทีน กรดโฟลิก โพแทสเซียม แคลเซียม เหล็ก ซึ่งเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการเป็นประจำทุกวัน

  • อาจช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน

  • ผักกูดอุดมไปด้วยอัลคาลอยด์ (Alkaloid) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ไกลโคไซด์ (Glycosides) ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ และช่วยต้านอาการภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน ซึ่งอาจช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีสุขภาพดี

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Oxidative Medicine and Cellular Longevity เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับผักกูดและเภสัชวิทยาของเฟิร์น พบว่า ผักกูดอุดมไปด้วยสารประกอบหลายชนิด เช่น อัลคาลอยด์ ฟลาโวนอยด์ ไกลโคไซด์ ฟีนอลิก (Phenolic) แทนนิน เทอร์พีนอยด์ (Terpenoids) สเตียรอยด์ (Steroids) วิตามินซี ที่มีประโยชน์ในการช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน เช่น เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ยาต้านจุลชีพ ยาต้านเบาหวาน สารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน สารกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยต้านอาการภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน

    1. อาจช่วยต้านโรคเบาหวาน

    โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน เนื่องจากการหลั่งอินซูลินในร่างกายบกพร่องจนส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งการรับประทานผักกูดอาจมีฤทธิ์ช่วยปรับปรุงระบบเผาผลาญและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Oxidative Medicine and Cellular Longevity เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับผักกูดและเภสัชวิทยาของเฟิร์น พบว่า ผักกูดอาจมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส (α-Glucosidase) และแอลฟา-อะไมเลส (α-amylase) ที่เกี่ยวข้องกับการย่อยคาร์โบไฮเดรต และสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงขึ้นได้

    1. อาจช่วยกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง

    ผักกูดเป็นผักที่มีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ และช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ที่อาจป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of Natural Products and Resources เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับผลของผักกูดที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลาง พบว่า สารสกัดจากน้ำผักกูดมีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระสูง และมีผลกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอซิติลโคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase หรือ AChE) ที่พบในเม็ดเลือดแดงและเนื้อเยื่อระบบประสาท ที่มีหน้าที่เร่งปฏิกิริยาการสลายตัวของสารแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง โดยหากสารชนิดนี้มีปริมาณน้อยลงอาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้

    1. อาจช่วยต้านการอักเสบ

    ผักกูดอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น วิตามินซี ฟลาโวนอยด์ ไกลโคไซด์ ฟีนอลิก แทนนิน ที่อาจช่วยต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกายได้

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Oxidative Medicine and Cellular Longevity เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับผักกูดและเภสัชวิทยาของเฟิร์น พบว่า ผักกูดมีสารเอทานอล (Ethanol) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย โดยการทดลองพบว่าสารเอทานอลสามารถช่วยลดอาการบวมน้ำที่เกิดจากการอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของผักกูดในการช่วยต้านการอักเสบ

    ข้อควรระวังในการบริโภคผักกูด

    แม้ว่าผักกูดจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่การรับประทานผักกูดแบบดิบอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ โดยอาจทำให้บางคนมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และปวดหัว จึงควรปรุงผักกูดให้สุกก่อนรับประทานเสมอ เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 13/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา