ลำไย เป็นผลไม้รสหวานที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์ต่อสุขภาพ อาจช่วยควบคุมความดันโลหิต ส่งเสริมสุขภาพหัวใจ ต้านการอักเสบ สุขภาพผิว ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานลำไยในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดสูงและร้อนใน
คุณค่าทางโภชนาการของลำไย
ลำไยปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 60 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น
- คาร์โบไฮเดรต 15.14 กรัม
- ไฟเบอร์ 1.10 กรัม
- โปรตีน 1.31 กรัม
- ไขมัน 0.1 กรัม
- วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.14 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.3 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 84 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ ลำไยยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม แคลเซียม ธาตุเหล็ก กรดอะมิโน กลูโคส ซูโครส ฟรุกโตส
ประโยชน์ของลำไยที่มีต่อสุขภาพ
ลำไยมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของลำไยในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
-
อาจช่วยควบคุมความดันโลหิตและส่งเสริมสุขภาพหัวใจ
ลำไยอุดมไปด้วยโพแทสเซียมที่มีคุณสมบัติช่วยให้หัวใจเต้นเป็นปกติ ควบคุมความดันโลหิต และยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Hypertension Reports เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของโพแทสเซียมที่ส่งผลต่อความดันโลหิต พบว่า การรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมมีส่วนช่วยควบคุมความดันโลหิตได้ โดยผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ได้รับโพแทสเซียมอย่างเพียงพออาจมีความดันโลหิตที่ลดลง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจตาย และโรคหัวใจและหลอดเลือด
-
อาจช่วยบำรุงสุขภาพผิว
ลำไยอุดมไปด้วยวิตามินซีที่มีประโยชน์ต่อผิว ช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของอนุมูลอิสระ สังเคราะห์คอลลาเจนในผิว ทำให้ผิวมีสุขภาพดีและชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินซีต่อสุขภาพผิว พบว่า ผิวชั้นนอกเต็มไปด้วยวิตามินซีความเข้มข้นสูงที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของผิว กระตุ้นการสังเคราะห์คอลลาเจน และช่วยป้องกันสารต้านอนุมูลอิสระจากความเสียหายที่เกิดจากรังสียูวีในแสงแดด รวมทั้งมลภาวะ เช่น ฝุ่น ควัน
-
อาจช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน
ลำไยอุดมไปด้วยวิตามินซีที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและป้องกันกับการติดเชื้อได้ดี โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินซีต่อภูมิคุ้มกัน พบว่า วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบ ช่วยส่งเสริมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยต่อต้านเชื้อโรค ต่อต้านการติดเชื้อในร่างกาย ทั้งยังช่วยป้องกันและรักษาการติดเชื้อในทางเดินหายใจ
-
อาจช่วยต้านการอักเสบ
เนื้อและเปลือกของลำไยอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แกลลิก (Gallic Acid) อีพิคาเทชิน (Epicatechin) กรดเอลลาจิก (Ellagic acid) ซึ่งช่วยต้านการอักเสบในร่างกาย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของลำไยในการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ พบว่า สารสกัดจากเปลือกลำไย เช่น แกลลิก อีพิคาเทชิน กรดเอลลาจิก ฟีนอล (Phenol) โพลีฟีนอล (Polyphenolic) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ ช่วยลดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการอักเสบ
-
อาจดีต่อการนอนหลับ
ลำไยอาจมีส่วนช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนความเครียดในร่างกาย จึงอาจช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล ทั้งยังช่วยปรับปรุงการนอนหลับให้ดีขึ้น โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Neuropharmacology เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับยารักษาโรคนอนไม่หลับ พบว่า ลำไยสามารถช่วยรักษาอาการวิตกกังวลและอาการนอนไม่หลับได้ เมื่อใช้คู่กับยาเพนโทบาร์บิทัล (Phenobarbital) ที่ออกฤทธิ์เป็นยากล่อมประสาท
ข้อควรระวังในการบริโภคลำไย
ข้อควรระวังสำหรับการรับประทานลำไยอาจมีดังนี้
- ผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนักหรือผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการรับประทานลำไยมากเกินไป เนื่องจาก ลำไยมีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด
- การรับประทานลำไยอาจทำให้มีน้ำตาลตกค้างอยู่ในปาก เนื่องจาก ลำไยมีน้ำตาลสูง ซึ่งน้ำตาลเป็นอาหารของแบคทีเรียจึงส่งผลให้แบคทีเรียสะสมในช่องปากมากขึ้นและเกิดเป็นร้อนในได้
- หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคลำไย เพราะอาจทำให้เกิดอาการ้อนวูบวาบและอ่อนเพลีย ซึ่งการรับประทานลำไยอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นและอาจทำให้เกิดอาการปากแห้ง ปวดท้อง ท้องผูก จนอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด ไขมันสะสม น้ำหนักเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์อย่างรวดเร็ว
- การปลูกลำไยอาจใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดศัตรูพืชและเชื้อรา สำหรับบางคนที่ปอกเปลือกลำไยด้วยปาก จึงอาจเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น ควรใช้มือ มีด หรือุปกรณ์อื่น ๆ ในการปอกเปลือกลำไย
[embed-health-tool-bmr]