เซเลอรี่ (Celery) หรือผักขึ้นฉ่ายฝรั่ง มีลักษณะลำต้นยาว ฐานล่างกว้าง ใบสีเขียวอ่อน นิยมนำมาปรุงอาหารในเมนูต่าง ๆ หรือคั้นสดเป็นเครื่องดื่ม เซเลอรี่อุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น วิตามินบี 9 วิตามินซี วิตามินเอ โพแทสเซียม แมกนีเซียม ที่อาจมีส่วนช่วยควบคุมความดันโลหิต เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหาร และลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าโภชนาการของน้ำเซเลอรี่
เซเลอรี่ 100 กรัม อาจให้พลังงาน 14 กิโลแคลอรี่และอาจมีสารอาหารอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- คาร์โบไฮเดรต 2.97 กรัม
- โพแทสเซียม 260 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 40 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 24 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 11 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 3.1 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 9 36 ไมโครกรัม
- วิตามินเอ 22 ไมโครกรัม
นอกจากนี้ เซเลอรี่ยังมีลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น ชะลอการเสื่อมสภาพของจอประสาทตา และลดความเสี่ยงต่ออาการตาพร่ามัว
เซเลอรี่ มีประโยชน์อะไรบ้าง
เซเลอรี่ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของเซเลอรี่ในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
-
อาจช่วยลดความดันโลหิต
เซเลอรี่ มีวิตามินซี แคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ที่มีความสำคัญต่อการทำงานของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงอาจช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต ป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Health ปี พ.ศ. 2564 ที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำเซเลอรี่ในการลดความดันโลหิตในผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตสูง พบว่า ผู้สูงอายุที่ดื่มน้ำเซเลอรี่อาจมีระดับความดันโลหิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการรับประทานเซเลอรี่เพื่อควบคุมความดันโลหิตในระยะยาว
-
อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง
เซเลอรี่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิด เช่น แทนนิน (Tannin) ซาโปนิน (Saponin) ลูทอีโอลิน (Luteolin) อะพิจีนีน (Apigenin) กรดเฟรูลิก (Ferulic acid) แกมป์เฟโรล (Kaempferol) และฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็งได้
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ.2560 ที่ทบทวนเกี่ยวกับคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระของเซเลอรี่ โดยศึกษาในบทความที่เกี่ยวข้อง 980 บทความ ซึ่งมีงานวิจัยจำนวน 9 วิจัย ที่ระบุว่า สารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ ที่พบในเซเลอรี่ อาจช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) จากอนุมูลอิสระที่ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพและก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมถึงโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคดีซ่าน โรคเบาหวาน โรคตับ โรคในทางเดินอาหาร โรคหลอดลมอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น การรับประทานเซเลอรี่จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังเหล่านี้ได้
-
อาจช่วยบำรุงกระดูก
เซเลอรี่อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโพลีฟีฟอล (Polyphenol) ที่พบได้ในพืช ผัก และผลไม้ ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยแคลเซียมที่เป็นแร่ธาตุสำคัญที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Nutrition in Gerontology and Geriatrics ปี พ.ศ. 2555 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคฟลาโวนอยด์และสุขภาพกระดูก พบว่า การรับประทานผักและผลไม้ที่มีฟลาโวนอยด์อย่างเซเลอรี่ อาจช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ช่วยเพิ่มมวลกระดูก และอาจชะลอการเสื่อมสภาพของกระดูกได้
-
อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น
เซเลอรี่มีลูทีนและซีแซนทีน ซึ่งเป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ที่มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการมองเห็น และอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคตา จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2560 ที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของลูทีนและซีแซนทีนในการป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุพบว่า การรับประทานอาหารที่มีลูทีนและซีแซนทีน รวมถึงสารอาหารอื่น ๆ เช่น วิตามินซี วิตามินอี สังกะสี วิตามินบี อาจช่วยกรองแสงสีน้ำเงินจากหน้าจอ เพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น ลดความคลาดเคลื่อนของการรับสีและอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น
ข้อควรระวังการรับประทานเซเลอรี่
บางคนอาจมีอาการแพ้อย่างรุนแรงเมื่อรับประทานเซเลอรี่ โดยสังเกตได้จากอาการหายใจลำบาก มีผื่นลมพิษขึ้นบนผิวหนัง และใบหน้าและลิ้นบวม ดังนั้น ผู้ที่แพ้เซเลอรี่จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีเซเลอรี่เป็นส่วนประกอบ รวมถึงควรอ่านข้อมูลโภชนาการข้างบรรจุภัณฑ์ก่อนเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มเพื่อความปลอดภัย
สำหรับสตรีตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบเมล็ดเซเลอรี่ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อมดลูก ทำให้มดลูกบีบตัวและอาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้
นอกจากนี้ ก่อนรับประทานเซเลอรี่ควรล้างทำความสะอาดทุกครั้งเพื่อกำจัดยาฆ่าแมลง เชื้อโรค และสิ่งปนเปื้อนที่อาจปะปนอยู่ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อในทางเดินอาหาร และป้องกันอาการท้องร่วง