backup og meta

ไขมัน ประโยชน์ และข้อควรระวังการบริโภค

ไขมัน ประโยชน์ และข้อควรระวังการบริโภค

ไขมัน ประโยชน์ ที่สำคัญ คือ แหล่งพลังงานและช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินบางชนิดจากอาหารที่รับประทานได้ อย่างไรก็ตาม หากรับประทานไขมันในปริมาณมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ดังนั้น จึงควรศึกษาเกี่ยวกับไขมันที่มีประโยชน์และโทษต่อร่างกาย รวมถึงปริมาณไขมันที่ควรรับประทานต่อวัน

[embed-health-tool-bmi]

ไขมัน คืออะไร

ไขมัน คือ สารอาหารที่เป็นแหล่งพลังงานให้กับร่างกาย ร่างกายสามารถสังเคราะห์ไขมันได้เองบางส่วนและมีบางชนิดจำเป็นต้องได้รับผ่านทางอาหารที่รับประทาน โดยอาจแบ่งออกได้เป็นไขมันดีและไขมันไม่ดี ดังนี้

ไขมันดี

หรือไขมันไม่อิ่มตัว เป็นไขมันที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยปรับปรุงระดับคอเลสเตอรอลในเลือด บรรเทาอาการอักเสบ และช่วยควบคุมอัตราการเต้นของจังหวะหัวใจ ไขมันไม่อิ่มตัวแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ย คือ กรดไขมันชนิดที่มีพันธะคู่ 1 ตำแหน่งในโมเลกุล อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นของเหลวเมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้อง และจะแข็งตัวเมื่ออยู่ในอุณหภูมิต่ำหรือเย็นมาก พบได้ใน เมล็ดฟักทอง อะโวคาโด เมล็ดทานตะวัน น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันงา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ ถั่วลิสง เป็นต้น
  • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน คือ กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่มีพันธะคู่มากกว่า 1 ตำแหน่งขึ้นไป มีลักษณะเป็นของเหลวเมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้อง และจะแข็งตัวเมื่ออยู่ในอุณหภูมิต่ำหรือเย็นมาก เช่นเดียวกับไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว โดยแบ่งออกเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดไขมันโอเมก้า 6 ซึ่งสามารถพบได้ในปลาซาร์ดีน แซลมอน ปลาเทราท์ ปลาทู ปลาทะเล ข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง วอลนัท เป็นต้น

ไขมันไม่ดี

ไขมันไม่ดีแบ่งออกได้ 2 ประเภท ดังนี้

ไขมันอิ่มตัว

เป็นไขมันชนิดไม่ดีซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหากรับประทานมากเกินกว่า 20-30 กรัม/วัน  โดยอาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้น นำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแดงบริเวณหัวใจอุดตัน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โดยอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงมักพบได้ในอาหารแปรรูปและอาหารที่มีไขมันสูง เช่น

  • เนื้อสัตว์ติดมัน
  • น้ำมันปาล์ม
  • น้ำมันมะพร้าว
  • น้ำมันหมู
  • ชีส
  • ครีม
  • มาการีน
  • เนย
  • มันฝรั่งทอด
  • พิซซ่า
  • แฮมเบอร์เกอร์
  • ขนมอบ เช่น แครกเกอร์ เค้ก บิสกิต
  • ป๊อปคอร์น
  • ช็อกโกแลต

ไขมันทรานส์

เป็นไขมันไม่อิ่มตัวที่ผ่านกระบวนการแปรรูป เพื่อช่วยยืดเวลาหมดอายุ และไม่มีกลิ่นเหม็นหืน อย่างไรก็ตาม ไขมันทรานส์จัดอยู่ในกลุ่มไขมันชนิดไม่ดี ดังนั้นจึงควรจำกัดปริมาณการรับประทาน ไม่ควรเกิน 5 กรัม/วัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ภาวะดื้ออินซูลิน ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การอักเสบของเนื้อเยื่อและเซลล์ของร่างกาย ไขมันทรานส์มักพบได้ในอาหารที่ใช้มาการีน หรือเนยขาวเป็นส่วนประกอบ

ไขมัน ประโยชน์ มีอะไรบ้าง

ไขมันมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

  • เป็นแหล่งพลังงานให้กับร่างกาย
  • เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ โดยเฉพาะการรับประทานไขมันดี
  • ช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบางชนิดจากอาหาร เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน

ข้อควรระวังในการบริโภคไขมัน

ข้อควรระวังในการบริโภคไขมัน มีดังนี้

  • สำหรับการรับประทานไขมันทรานส์ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายไม่ควรรับประทานไขมันทรานส์เกิน 5 กรัม/วัน เนื่องจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  • สำหรับการรับประทานไขมันอิ่มตัว ไม่ควรรับประทานไขมันอิ่มตัวเกิน 20 กรัม/วัน หากเป็นไปได้ควรเน้นการรับประทานไขมันไม่อิ่มตัวแทน
  • ควรจำกัดการรับประทานอาหารที่มีไขมัน โดยปกติแล้ว ผู้ใหญ่ต้องการพลังงานจากไขมันประมาณ 20-35 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน

นอกจากนี้ ยังควรออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาที/วัน เป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ เพื่อช่วยเผาผลาญไขมันส่วนเกิน และควรวัดค่าดัชนีมวลกาย และชั่งน้ำหนักเป็นประจำ รวมถึงเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจคัดกรองโรค

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Fat: the facts. https://www.nhs.uk/live-well/eat-well/food-types/different-fats-nutrition/.Accessed August 23, 2022.

Know the facts about fats. https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/know-the-facts-about-fats.Accessed August 23, 2022.

Dietary Fats. https://www.heart.org/en/healthy-living/healthy-eating/eat-smart/fats/dietary-fats.Accessed August 23, 2022.

Types of Fat. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/what-should-you-eat/fats-and-cholesterol/types-of-fat/.Accessed August 23, 2022.

Types of Dietary Fats. https://www.webmd.com/diet/guide/types-fat-in-foods.Accessed August 23, 2022.

Triglycerides: Why do they matter?. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-cholesterol/in-depth/triglycerides/art-20048186.Accessed August 23, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/09/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไขมันสีน้ำตาล ในร่างกาย สามารถช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือ?

ลดไขมันหน้าท้อง ทำได้อย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา