backup og meta

Casein คือ อะไร ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/10/2023

    Casein คือ อะไร ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

    Casein (เคซีน) คือ โปรตีนที่ทำให้น้ำนมมีสีขาว พบได้มากในนมและอาหารหลายชนิด เช่น โยเกิร์ต ชีส ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ โดยโปรตีนเคซีนมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มกรดอะมิโนจำเป็นให้กับร่างกายเพื่อใช้สำหรับสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยส่งเสริมสุขภาพกระดูก เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน และอาจช่วยลดไขมันในเลือด นอกจากนี้ โปรตีนเคซีนยังย่อยได้ช้ากว่าโปรตีนชนิดอื่น จึงทำให้รู้สึกอิ่มนานและช่วยลดความอยากอาหาร รวมถึงอาจช่วยลดน้ำหนักได้

    ประโยชน์ของ Casein ต่อสุขภาพ

    Casein คือ โปรตีนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของเคซีนในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  • อาจช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อ

  • การรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเคซีนอาจช่วยเพิ่มความสมดุลของโปรตีนในร่างกายได้ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยพัฒนากล้ามเนื้อทั่วร่างกาย จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน American Journal of Physiology-Endocrinology and Metabolism เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับกรดอะมิโนที่ได้จากโปรตีนในอาหาร ทำการทดลองในชายหนุ่มที่มีสุขภาพดี 36 คน ให้ออกกำลังกายประเภทแรงต้านหนึ่งครั้งในตอนเย็น ร่วมกับการกินโปรตีนเคซีน 30 กรัม

    ซึ่งพบว่า การรับประทานโปรตีนเคซีนก่อนนอนสามารถช่วยเพิ่มสมดุลของโปรตีนในร่างกายทั้งหมดให้ดีขึ้นในขณะพักข้ามคืน และทำให้กรดอะมิโนทั้งหมดไปรวมอยู่ในมัดกล้ามเนื้อไมโอไฟบริลลาร์โปรตีน (Myofibrillar Protein) เพื่อใช้ในการสังเคราะห์กล้ามเนื้อในระหว่างนอนหลับ

    1. อาจช่วยลดความหิว

    เคซีนมีคุณสมบัติช่วยลดความอยากอาหาร เพิ่มความรู้สึกอิ่มและชะลอความรู้สึกหิว เนื่องจากโปรตีนเคซีนต้องใช้ระยะเวลานานในการย่อยดูดซึม จึงอาจส่งผลดีต่อผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Advances in Nutrition เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับโปรตีนจากนมและความอยากอาหาร พบว่า การรับประทานโปรตีนสามารถช่วยลดน้ำหนักและป้องกันไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะการรับประทานโปรตีนจากนมที่ประกอบด้วยเคซีน 80 เปอร์เซ็นต์ และเวย์ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งร่างกายจะมีอัตราการย่อยและการดูดซึมเคซีนกับเวย์โปรตีนแตกต่างกัน โดยเคซีนจะมีอัตราการย่อยและการดูดซึมที่ช้ากว่าเวย์โปรตีน จึงทำให้รู้สึกอิ่มได้นานกว่าและสามารถช่วยควบคุมความอยากอาหารได้

    1. อาจช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ

    เมื่อเคซีนเกิดกระบวนการแตกตัวด้วยน้ำจะเกิดเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก คือ เคซีน ไฮโดรไลเสต (Casein Hydrolysate) ซึ่งอาจมีคุณสมบัติช่วยต้านสารอนุมูลอิสระและช่วยต้านการอักเสบได้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecules เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระของเคซีน ไฮโดรไลเสต

    พบว่า เปปไทด์ (Peptide) ที่ได้จากเคซีนมีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ และกรดอะมิโนในเปปไทด์ 59 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วยโพรลีน (Proline) วาลีน (Valine) และลิวซีน ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย

    1. อาจช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด

    เคซีนเป็นโปรตีนที่ช่วยเพิ่มกรดอะมิโนที่มีส่วนช่วยสร้างกล้ามเนื้อให้กับร่างกาย การรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเคซีน จึงอาจมีส่วนช่วยเผาผลาญและลดการสะสมของไขมันในร่างกายได้

    จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน The Journal of Nutrition เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับผลของเคซีนกับเวย์โปรตีนต่อไขมันในอาหารและการลดไตรกลีเซอไรด์ในผู้ชายที่มีน้ำหนักเกิน พบว่า ผู้ชายที่มีน้ำหนักเกินที่ได้รับประทานโปรตีนเคซีนมีไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดที่ลดลง ลดการก่อตัวของไขมันสะสมในกระเลือด และเพิ่มการสลายตัวของไขมันในกระแสเลือด

    ข้อควรระวังในการบริโภค Casein คือ อะไรบ้าง

    โดยปกติการรับประทานเคซีนอาจไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจไม่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการแพ้นมวัว เนื่องจากเคซีนเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้มากในนมวัว ผู้ที่แพ้นมวัวจึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมวัวหรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากนมวัวทุกชนิด เพื่อป้องกันอาการแพ้ เช่น ลมพิษ ผื่นแดง คัน หายใจติดขัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/10/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา