backup og meta

อาหารชีวจิต ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี · โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/10/2023

    อาหารชีวจิต ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

    อาหารชีวจิต เป็นอาหารสุขภาพที่มีจุดประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตัวเองและการรับประทานอาหารให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด อาหารชีวจิตจึงผ่านการปรุงแต่งน้อยทำให้คุณค่าทางอาหารยังคงอยู่อย่างครบถ้วน และไม่ทำให้มีสารพิษตกค้างในร่างกาย จึงอาจมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพและช่วยป้องกันโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน

    อาหารชีวจิต คืออะไร

    อาหารชีวจิต คือ อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งหรือผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุด จึงทำให้รสชาติของวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหารยังคงเดิมและคุณค่าทางอาหารยังคงอยู่อย่างครบถ้วน ไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในร่างกาย โดยอาหารชีวจิตจะเน้นอาหารที่มีเส้นใยสูงอย่างธัญพืช ผักและผลไม้ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและอาหารไขมันต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง พืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว บร็อคโคลี่ กะหล่ำ แครอท ผักคะน้า หัวไชเท้า อาหารทะเล เนื้อปลา เต้าหู้

    ประโยชน์ของอาหารชีวจิต

    อาหารชีวจิต ส่วนใหญ่จะเน้นอาหารจากธรรมชาติ เส้นใยสูง คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและอาหารไขมันต่ำ จึงอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคบางชนิด ดังนี้

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด

  • อาหารชีวจิตส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีไขมันต่ำและใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ผักและผลไม้ ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำ แครอท จึงอาจช่วยลดการสะสมของไขมันในกระแสเลือดและความดันโลหิต ที่เป็นปัจจัยของโรคหัวใจและหลอดเลือด

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition in Clinical Practice เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับอาหารแมคโครไบโอติก (Macrobiotic) ต่อโรคเรื้อรัง พบว่า โดยส่วนใหญ่การเริ่มรับประทานอาหารชีวจิตเป็นวิธีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและการดูแลตัวเอง ซึ่งในการศึกษาบ่งชี้ว่าผู้ที่รับประทานอาหารชีวจิตมีไขมันในเลือดและและความดันโลหิตที่ต่ำกว่าคนที่ไม่รับประทาน

    เนื่องจากอาหารแมคโครไบโอติกหรืออาหารชีวจิตเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำ ใยอาหารสูง คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูง ที่ดีต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพหัวใจ อาจช่วยลดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด และป้องกันความเสียหายของหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ จึงชี้ให้เห็นว่าการรับประทานอาหารชีวจิต อาจเป็นวิธีการในการช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    โรคมะเร็ง

    อาหารชีวจิตมีไขมันต่ำและอุดมไปด้วยสารอาหารทั้งวิตามินและแร่ธาตุจากธัญพืชต่าง ๆ ผักและผลไม้ ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย จึงอาจมีส่วนช่วยในการป้องกันมะเร็ง

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition and Cancer เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบของสารอาหารและศักยภาพในการต้านการอักเสบของอาหารแมคโครไบโอติก พบว่า การรับประทานอาหารแมคโครไบโอติกหรืออาหารชีวจิตอาจช่วยป้องกันมะเร็ง เนื่องจากอาหารชีวจิตอาจมีส่วนช่วยต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีไขมันต่ำ อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ที่มีฤทธิ์ในการต้านสารอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดการอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    • โรคเบาหวานชนิดที่ 2

    โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคที่อาจเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการไม่ดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ระบบการทำงานในร่างกายผิดปกติ ซึ่งการปรับเปลี่ยนมารับประทานอาหารชีวจิตที่ผ่านการปรุงแต่งน้อย ไขมันต่ำและไม่มีน้ำตาล จึงอาจช่วยป้องกันและควบคุมความรุนแรงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร World Journal of Diabetes เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับอาหารแมคโครไบโอติกกับการช่วยควบคุมน้ำตาลในโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า การรับประทานอาหารแมคโครไบโอติกหรืออาหารชีวจิตที่ไขมันต่ำ ใยอาหารสูงและผ่านการปรุงแต่งน้อย อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด เพิ่มความไวต่ออินซูลิน ลดความดันโลหิต และช่วยลดน้ำหนักตัว ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และอาจช่วยควบคุมความรุนแรงของโรคในผู้ที่เป็นเบาหวานได้อีกด้วย

    ข้อควรระวังในการบริโภคอาหารชีวจิต

    อาหารชีวจิตอาจไม่เหมาะสมกับทุกคน เนื่องจากอาหารชีวจิตเป็นอาหารที่จำกัดชนิดในการรับประทานและปรุงแต่งได้น้อย จึงอาจมีรสชาติที่ไม่ถูกปากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการับประทานอาหารรสจัด

    นอกจากนี้ การรับประทานอาหารชีวจิตอย่างเคร่งครัดอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารบางชนิดไม่ครบถ้วน เช่น โปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี 12 เนื่องจากสารอาหารเหล่านี้อาจมีอยู่มากในอาหารที่จำกัดการรับประทาน เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ดังนั้น ผู้ที่เคร่งครัดในการรับประทานอาหารชีวจิตจึงควรรับประทานอาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุเพิ่มเติม เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการ

    อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้รับประทานอาหารชีวจิตเพื่อรักษาโรค แต่สามารถรับประทานเป็นอาหารทางเลือกเพื่อส่งเสริมสุขภาพและดูแลตัวเอง ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

    โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/10/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา