โพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยในกระบวนการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะหัวใจและไต การขาดโพแทสเซียมอาจทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และหากขาดโพแทสเซียมรุนแรงก็อาจทำให้หายใจลำบาก อัมพาตชั่วคราว ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ การเรียนรู้ว่า คน ขาดโพแทสเซียม ควร กิน อะไร อาจช่วยให้ผู้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ สามารถควบคุมระดับโพแทสเซียมในเลือดได้ดีขึ้น
โดยทั่วไป โพแทสเซียมสามารถพบได้ในแหล่งอาหารตามธรรมชาติหลายชนิด ทั้งในเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ต่าง ๆ จึงควรรับประทานอาหารให้หลากหลายเพื่อให้ได้รับโพแทสเซียมอย่างเพียงพอ
[embed-health-tool-bmi]
โพแทสเซียม ช่วยอะไร
โพแทสเซียมเป็นอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) หรือแร่ธาตุชนิดนำไฟฟ้าได้ มีความสำคัญต่อการทำงานของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกาย ช่วยควบคุมระดับของเหลวและสมดุลของกรด-ด่างในร่างกาย กระตุ้นการทำงานของเส้นประสาท ช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัว ช่วยในการทำงานของระบบขับถ่าย และควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
โดยปกติแล้ว ร่างกายจะไม่สามารถสังเคราะห์โพแทสเซียมได้เองและจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร จึงควรกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เพื่อให้ได้รับโพแทสเซียมและสารอาหารอื่น ๆ เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยกระทรวงสาธารณสุขแนะนําว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ควรบริโภคโพแทสเซียมอย่างน้อย 3,500 มิลลิกรัม/วัน
คน ขาดโพแทสเซียม ควร กิน อะไร
โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่พบในอาหารหลากหลายชนิด ทั้งผลไม้ ผัก เนื้อสัตว์ นมวัวผลิตภัณฑ์จากนมวัว พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี เป็นต้น ร่างกายสามารถดูดซึมโพแทสเซียมในอาหารประมาณ 85-90% ไปใช้เพื่อรักษาระดับโพแทสเซียมภายในเซลล์และนอกเซลล์ ดังนั้น หากมีข้อสงสัยที่ว่า โพแทสเซียมต่ำ ควร กินอะไร ก็ควรเลือกรับประทานอาหารเหล่านี้
ผักที่มีโพแทสเซียมสูง ในปริมาณ 100 กรัม มีโพแทสเซียมประมาณ 270 มิลลิกรัม เช่น
- กะหล่ำดอก กะหล่ำปลีม่วง
- ผักพื้นบ้าน เช่น กระชาย กระถิน ผักหวาน รากบัว ลูกยอและน้ำลูกยอ ใบขี้เหล็ก
- พืชหัว เช่น แห้ว เผือก มัน มันฝรั่ง รากบัว หัวผักกาด แครอท
- มะเขือ เช่น มะเขือเปราะ มะเขือพวง
- ผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง บรอกโคลี
- เห็ด เช่น เห็ดกระดุม เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหูหนูแห้ง เห็ดตับเต่า เห็ดเผาะ
- มะเขือเทศ
- มะระจีน
- ถั่วฝักยาว
- ฟักทอง
- เนยถั่ว
ผักที่มีโพแทสเซียมปานกลาง ในปริมาณ 100 กรัม มีโพแทสเซียมประมาณ 150 มิลลิกรัม เช่น
- กะหล่ำปลี แขนงกะหล่ำ
- ผักกาดขาว
- ข้าวโพดอ่อน
- ขนุนอ่อน
- ผักพื้นบ้าน เช่น น้ำเต้า ใบชะพลู ผักปลัง
- ผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง คะน้า ผักโขม ผักชี ผักชีฝรั่ง ผักชีลาว ผักบุ้ง
- พริก เช่น พริกยักษ์ พริกหวาน พริกหยวก
- ฟักเขียว
- มะเขือยาว
- มะละกอดิบ
- เห็ด เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดหอมสด
- หอมหัวใหญ่
ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ในปริมาณ 100 กรัม มีโพแทสเซียมประมาณ 270 มิลลิกรัม เช่น
- แก้วมังกร
- แคนตาลูป
- แตงโม
- แตงไทย
- ฝรั่ง
- ส้ม
- มะละกอ
- ทุเรียน
- ลำไยแห้ง
- อะโวคาโด
- สตรอว์เบอร์รี
- มะขามหวาน
- น้ำผลไม้กล่อง
ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมปานกลาง ในปริมาณ 100 กรัม มีโพแทสเซียมประมาณ 150 มิลลิกรัม เช่น
- กีวี
- กล้วย
- เชอร์รี่
- ลูกพีช
- องุ่น
- ลิ้นจี่
- ชมพู่
- ทับทิม
- ลำไย
- ลองกอง
- ละมุด
- ส้มโอ
- เสาวรส
- ขนุน
- มะปราง
- ผลไม้แห้ง
ร่างกายขาดโพแทสเซียม จะมีอาการ อย่างไร
โดยปกติ ร่างกายจะมีระดับโพแทสเซียมประมาณ 3.6-5.0 มิลลิโมล/ลิตร แต่หากร่างกายขาดโพแทสเซียมเป็นประจำ อาจนำไปสู่ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) คือ มีโพแทสเซียมในกระแสเลือดประมาณ 3.1-3.5 มิลลิโมล/ลิตร ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอาการท้องร่วง อาเจียน ภาวะไตวาย การใช้ยาบางชนิด และภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้ร่างกายขับโพแทสเซียมหรือทำให้โพแทสเซียมในเซลล์เปลี่ยนแปลงจนมีปริมาณน้อยกว่าปกติ
โดยทั่วไป การขาดโพแทสเซียมมักไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ แต่หากมีภาวะโพแทสเซียมต่ำในระดับปานกลาง คือ มีโพแทสเซียมในกระแสเลือดประมาณ 2.5-3.0 มิลลิโมล/ลิตร อาจทำให้มีอาการเกร็งและปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง ไม่สบายตัว และในรายที่มีภาวะโพแทสเซียมต่ำในระดับรุนแรง คือ มีโพแทสเซียมในเลือดน้อยกว่า 2.5 มิลลิโมล/ลิตร อาจส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูก ทำให้เกิดอาการเกร็ง ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อไม่ได้ กล้ามเนื้อสลายตัว และอาจทำให้การทำงานของคลื่นหัวใจไฟฟ้าผิดปกติ
วิธีรักษาภาวะขาดโพแทสเซียม
สำหรับผู้ที่มีภาวะขาดโพแทสเซียม คุณหมออาจแนะนำให้กินโพแทสเซียมทดแทน เช่น โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride) เพื่อช่วยปรับระดับโพแทสเซียมในร่างกายให้กลับสู่ภาวะปกติ แต่หากเป็นกรณีรุนแรงดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยอาจต้องได้รับโพแทสเซียมผ่านหลอดเลือดดำ และคุณหมออาจวินิจฉัยและรักษาภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้นร่วมกับภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำด้วย
- โพแทสเซียมในเลือดต่ำมาก จนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- โพแทสเซียมในเลือดต่ำจนทำให้ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- กินโพแทสเซียมทดแทนระยะหนึ่งแล้ว แต่ระดับโพแทสเซียมยังไม่กลับสู่ระดับปกติ
- สูญเสียโพแทสเซียมเร็วจนการกินโพแทสเซียมเสริมไม่สามารถทดแทนปริมาณโพแทสเซียมที่ร่างกายสูญเสียไปได้