backup og meta

อบเชย เบาหวาน ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

อบเชย เบาหวาน ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

อบเชย เป็นเปลือกไม้ชั้นในที่แห้งแล้วของต้นอบเชย โดยจัดเป็นเครื่องเทศซึ่งนิยมบริโภคในฐานะสมุนไพรเพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น มีคุณสมบัติกระตุ้นเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายให้สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น

[embed-health-tool-bmi]

เบาหวานคืออะไร

เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนทั่วไป เนื่องจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกายหรือไม่ได้เลย หรืออาจเกิดจากการที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดีทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบกพร่อง ส่งผลให้น้ำตาลสะสมในกระแสเลือดมากขึ้นเรื่อย ๆ และหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานโดยไม่ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเบาหวานขึ้นตา ปลายประสาทอักเสบ

อบเชย เบาหวาน มีประโยชน์อย่างไร

อบเชย เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลากหลาย นิยมใช้บริโภคเพื่อเป็นยาและใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารมายาวนานกว่าพันปี

อบเชยมีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการกระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายสามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพระยะสั้นของการบริโภคอบเชยต่อความต้านทานกลูโคส เผยแพร่ในวารสาร Diabetes, Obesity and Metabolism ปี พ.ศ. 2550 นักวิจัยให้อาสาสมัครเพศชายที่มีอายุประมาณ 26 ปีและมีค่าดัชนีมวลกายประมาณ 24.5 จำนวน 7 ราย ทดสอบความต้านทานกลูโคส หรือประสิทธิภาพในการจัดการระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกาย จำนวน 3 ครั้ง โดยแต่ละครั้ง อาสาสมัครจะบริโภคสารละลายกลูโคสควบคู่กับไปของกินที่แตกต่างกัน ดังนี้ การทดสอบครั้งที่ 1 บริโภคสารละลายกลูโคสพร้อมกับยาหลอก 5 กรัม การทดสอบครั้งที่ 2 บริโภคสารละลายกลูโคสพร้อมกับอบเชย 5 กรัม และการทดสอบครั้งที่ 3 บริโภคอบเชย 5 กรัม เป็นเวลา 12 ชั่วโมงก่อนบริโภคสารละลายกลูโคส

หลังสิ้นสุดการทดลอง นักวิจัยพบว่าการบริโภคสารละลายกลูโคสพร้อมกับอบเชย และการบริโภคอบเชยก่อนเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ก่อนบริโภคสารละลายกลูโคส ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์และ 10 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับการบริโภคยาหลอก นอกจากนั้น การบริโภคอบเชยทั้ง 2 แบบ ยังช่วยเพิ่มการตอบสนองของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายต่ออินซูลินได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังเป็นงานวิจัยขนาดเล็ก ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของอบเชยต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และผู้มีภาวะก่อนเบาหวาน ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes Research and Clinical Practice ปี พ.ศ. 2562 นักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอบเชยจากงานวิจัยจำนวน 16 ชิ้น และพบข้อสรุปว่า อบเชยมีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร รวมถึงช่วยบรรเทาภาวะดื้ออินซูลิน หรือช่วยให้การตอบสนองของเซลล์ในร่างกายต่ออินซูลินดีขึ้นทั้งในผู้ป่วยเบาหวานและผู้มีภาวะก่อนเบาหวาน

อย่างไรก็ตาม แม้งานวิจัยจำนวนมากจะสนับสนุนว่าอบเชยต้านเบาหวานได้ แต่งานวิจัยบางชิ้นกลับพบข้อสรุปที่ตรงกันข้าม ทำให้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอบเชยในการต้านเบาหวาน และควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิภาพของอบเชยต่อไป

ข้อควรระวังในการบริโภค อบเชย สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

อบเชย ถือว่าเป็นสมุนไพรที่ผู้ป่วยเบาหวานสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย ยกเว้นผู้ป่วยเบาหวานที่สุขภาพของตับผิดปกติ เพราะสารคูมาริน (Coumarin) ในอบเชยมีคุณสมบัติเป็นพิษต่อตับ

โดยปกติ วิธีบริโภคอบเชย อาจทำได้ดังนี้

  1. ดื่มน้ำหมักอบเชย
  2. ใช้อบเชยแทนการใส่น้ำตาลในอาหาร
  3. ดื่มชาอบเชยหรือชามสาลาจาย (Masala Chai Tea) ซึ่งเป็นชาที่ใส่เครื่องเทศแนวอินเดีย
  4. ใส่ผงอบเชยลงในอาหาร ขนม หรือซีเรียล
  5. ใส่แท่งอบเชยลงในเครื่องแกงต่าง ๆ

ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจบริโภคอบเชยเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสมในการบริโภคอบเชยโดยไม่รบกวนฤทธิ์ของยาและวิธีการรักษาเบาหวานในแผนปัจจุบัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Effects of short-term cinnamon ingestion on in vivo glucose tolerance. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17924872/.

Does Cinnamon Help Diabetes?. https://www.webmd.com/diabetes/cinnamon-and-benefits-for-diabetes. Accessed August 9, 2022

Cinnamon. https://www.webmd.com/diet/supplement-guide-cinnamon. Accessed August 9, 2022

Efficacy and safety of cinnamon in type 2 diabetes mellitus and pre-diabetes patients: A meta-analysis and meta-regression. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31425768/. Accessed August 9, 2022

Diabetes treatment: Can cinnamon lower blood sugar?. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/expert-answers/diabetes/faq-20058472. Accessed August 9, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/10/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการ น็อค เบาหวาน คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด

เกณฑ์ เบาหวาน มีอะไรบ้าง มีวิธีตรวจวัดอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา