โรคโลหิตจางหรือโรคเลือดจาง (Anemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยเกินไป จึงไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ จนส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หน้ามืดบ่อยครั้ง ซึ่งอาจบรรเทาได้ด้วยการกินอาหารที่เหมาะสม การเรียนรู้ว่า โลหิตจาง ห้ามกินอะไรบ้าง จึงอาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคนี้ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น โดยทั่วไป ผู้ป่วยโลหิตจางควรเลี่ยงการกินอาหารที่อาจลดประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น อาหารที่มีแคลเซียมสูงอย่างนม โยเกิร์ต ชีส เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหล้า เบียร์ ไวน์ อาหารที่มีโพลีฟีนอลสูงอย่างชา กาแฟ และกินอาหารที่มีธาตุเหล็กซึ่งช่วยในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และอาหารที่มีวิตามินซี เช่น ผลไม้ตระกูลซิตรัสซึ่งช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้ดียิ่งขึ้น
โลหิตจาง เกิดจากอะไร
โรคโลหิตจาง เกิดจากร่างกายมีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติและฮีโมโกลบินซึ่งเป็นโปรตีนในเลือดที่ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อในร่างกายมีความเข้มข้นน้อยกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เพียงพอ จึงส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะบ่อย หน้ามืด ผิวซีดเซียว โดยทั่วไปมักเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency) ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงควรกินอาหารที่มีธาตุเหล็กและสารอาหารอื่น ๆ อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะวิตามินซีที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง
อาการของโรคโลหิตจาง
อาการของโรคโลหิตจาง อาจมีดังนี้
- ผิวซีดหรือผิวดูเหลืองกว่าปกติ
- เวียนศีรษะ
- ปวดศีรษะบ่อย
- หน้ามืด
- อ่อนเพลีย
- เหนื่อยง่าย
- หายใจลำบาก
- หงุดหงิดง่าย
- ไม่อยากอาหาร
กลุ่มเสี่ยงของโรคโลหิตจาง อาจมีดังนี้
- ผู้หญิงในช่วงเป็นประจำเดือน
- คนท้องและผู้ให้นมบุตร
- ทารกแรกเกิด โดยเฉพาะทารกคลอดก่อนกำหนด
- เด็กที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องใช้เลือดมากขึ้นและมีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น จึงต้องการธาตุเหล็กมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือน
- ผู้ที่กินอาหารแบบมังสวิรัติและวีแกนที่ไม่ค่อยได้กินผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก
- ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง ผู้ที่ต้องฟอกไต และผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร
- ผู้ที่กินอาหารแบบแฟด (Fad diet) หรือควบคุมปริมาณอาหารเพื่อลดน้ำหนัก
- นักกีฬา เป็นกลุ่มคนที่ต้องฝึกซ้อมอยู่ตลอด ทำให้มีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงต้องการธาตุเหล็กมากขึ้นในการผลิตเนื้อเยื่อและเซลล์เม็ดเลือดใหม่
- ผู้ที่บริจาคโลหิตเป็นประจำ โดยเฉพาะหากไม่ค่อยได้บริโภคอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงหรือวิตามินเสริมธาตุเหล็ก
โลหิตจาง ห้ามกินอะไรบ้าง
อาหารที่คนเป็นโรคโลหิตจางควรหลีกเลี่ยง อาจมีดังนี้
-
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ เป็นประจำ นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมแล้ว ยังทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารหลัก เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และสารอาหารรองอย่างวิตามินและแร่ธาตุไปใช้ประโยชน์ได้น้อยลง ผู้เป็นโรคโลหิตจางจึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจลดประสิทธิภาพการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย ทำให้อาการโลหิตจางไม่ดีขึ้นหรือยิ่งแย่ลง
-
อาหารที่มีแคลเซียมสูง
อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมวัว ชีส โยเกิร์ต อาจยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กทั้งในรูปแบบเหล็กฮีม (Heme Iron) ที่พบได้ในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์และอาหารทะเล เป็นต้น และธาตุเหล็กในรูปแบบสารประกอบที่ไม่ใช่ฮีม (Non-heme Iron) ที่พบได้ในไข่แดง ถั่วเมล็ดแห้ง พืชผัก เป็นต้น จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมร่วมกับอาหารที่มีธาตุเหล็กหรือรับประทานในเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
-
อาหารที่มีโพลีฟีนอลสูง
โพลีฟีนอล (Polyphenols) เป็นสารพฤกษเคมีที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ แม้จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การรับประทานอาหารที่มีโฟลีฟีนอลสูง เช่น ชา กาแฟ โกโก้ แอปเปิล เครื่องเทศ ในปริมาณมากเกินไปก็อาจลดประสิทธิภาพการดูดซึมธาตุเหล็กในอาหารของผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ทำให้ร่างกายได้รับธาตุเหล็กเพื่อไปเสริมสร้างเม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบินไม่เต็มที่ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมากเกินไป เพื่อให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น
โรคโลหิตจาง ควรกินอะไร
สาเหตุของโรคโลหิตจางที่พบบ่อย คือ การขาดธาตุเหล็ก ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กดังต่อไปนี้ จึงอาจช่วยเพิ่มการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบิน และรักษาโรคโลหิตจางให้ดีขึ้นได้
ธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ เช่น
- เนื้อแดง เช่น หมู วัว
- เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ไต
- สัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่
- ปลาหรือหอย เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน
- ไข่
ธาตุเหล็กจากพืช เช่น
- พืชตระกูลถั่ว เช่น อัลมอนด์ ถั่วเขียว ถั่วดำ
- แป้งจากเมล็ดข้าวสาลีเต็มเมล็ด (Wholewheat) เช่น พาสต้า ขนมปัง
- ผลไม้อบแห้ง เช่น ลูกเกด อินทผลัมอบแห้ง แอปริคอตอบแห้ง
- ผักใบเขียวเข้ม เช่น ปวยเล้ง บรอกโคลี คะน้า ผักกาดเขียว
- ซีเรียลอาหารเช้าที่เสริมธาตุเหล็ก
- เต้าหู้
นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม มะขาวป้อม มะนาว กีวี่ ดอกกะหล่ำ ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ประโยชน์
[embed-health-tool-bmr]