วิตามินผิว สามารถพบได้ในแหล่งอาหารตามธรรมชาติหลายชนิด เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไขมันจากสัตว์และพืช ซึ่งอาจมีความสำคัญต่อการบำรุงผิวให้แข็งแรงและเพิ่มความยืดหยุ่น นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดดและต้านการอักเสบของผิวหนัง อาจช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยและความหย่อนคล้อย ลดจุดด่างดำ ช่วยสมานแผลและช่วยให้สีผิวดูสม่ำเสมอยิ่งขึ้น
[embed-health-tool-bmr]
4 วิตามินผิว ที่รับประทานแล้วดีต่อสุขภาพผิว
การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินผิว อาจช่วยเสริมความแข็งแรงของผิวทำให้ผิวสุขภาพดีขึ้น โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประสิทธิภาพของวิตามินผิวในอาหาร ดังนี้
-
วิตามินเอ
การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ เช่น แครอท แตงโม ฟักทอง มันเทศ มะม่วง มะเขือเทศ มะละกอ สาหร่าย ยีสต์ เคย กุ้ง กั้ง ตับ นม ไข่แดง ชีส ปลาที่มีไขมันอย่างปลาแซลมอน ทูน่า ปลาแมคเคอเรล อาจมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของผิว โดยการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและต้านการทำลายคอลลาเจนในผิว ส่งผลทำให้ผิวเต่งตึงมากขึ้น ลดการเกิดริ้วรอย อาจช่วยลดการอักเสบและอาจช่วยให้แผลสมานตัวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดดที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหาริ้วรอยและผิวหมองคล้ำ
โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Dermato-Endocrinology เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างโภชนาการกับความชราของผิว พบว่า การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอที่มีสารประกอบเป็นแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) หลายชนิด เช่น เบต้าแคโรทีน (β-Carotene) แอสตาแซนทิน (Astaxanthin) ไลโคปีน (Lycopene) เรตินอล (Retinol) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงในการช่วยป้องกันผิวจากการทำร้ายของแสงแดด โดยไลโคปีนและเบต้าแคโรทีนที่พบในแหล่งอาหาร เช่น แครอท แตงโม ฟักทอง มันเทศ มะม่วง มะเขือเทศ มะละกอ อาจมีคุณสมบัติช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดและอาจช่วยลดการเกิดผื่นแดงบนผิวหนังที่เกิดจากรังสียูวี
สารประกอบอย่างแอสตาแซนทินที่พบได้ในแหล่งอาหาร เช่น สาหร่าย ยีสต์ ปลาแซลมอน เคย กุ้ง กั้ง อาจมีคุณสมบัติช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดและลดโอกาสการเกิดโรคผิวหนัง ปัญหาผิวหย่อนคล้อย และริ้วรอย
สารประกอบอย่างเรตินอลที่พบในแหล่งอาหาร เช่น ตับ นม ไข่แดง ชีส ปลาที่มีไขมันอย่างปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล อาจมีคุณสมบัติช่วยบำรุงและรักษาเนื้อเยื่อผิวให้แข็งแรง กระตุ้นการสร้างคอลาเจนซึ่งเป็นโครงสร้างผิวที่ช่วยต้านความหย่อนคล้อย และปรับปรุงการสร้างเม็ดสี ทำให้ผิวแลดูสม่ำเสมอมากขึ้น
-
วิตามินอี
วิตามินอีมักถูกใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายชนิด เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดด ต้านการอักเสบและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวแข็งแรง ยืดหยุ่น ชะลอการเกิดริ้วรอยและความหย่อนคล้อย โดยอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินอี ได้แก่ ถั่วเหลือง นมวัว น้ำมันตับปลา เนื้อสัตว์ ไข่ ตับ พืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว ธัญพืช น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด
โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ใน Indian Dermatology Online Journal เมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับวิตามินอีในโรคผิวหนัง พบว่า วิตามินอีมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของรังสียูวีในแสงแดด ต้านการอักเสบ ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และช่วยป้องกันการเกิดปัญหาผิวบางชนิด เช่น สิวผด ฝ้า โรคหนังแข็ง (Scleroderma) มะเร็งผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน โรคดักแด้ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง นอกจากนี้ ยังช่วยรักษาบาดแผลไฟไหม้ และแผลกดทับได้อีกด้วย
-
วิตามินดี
การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี เช่น น้ำมันตับปลา เห็ด ชีส ไข่แดง ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ตับ น้ำส้ม นม โยเกิร์ต ซีเรียล อาจมีคุณสมบัติช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของรังสียูวีในแสงแดด ช่วยส่งเสริมการซ่อมแซมผิวหนังเมื่อเกิดบาดแผล เป็นเกราะป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนังและอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน สิว
โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ใน Journal of Advanced Research เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับวิตามินดีกับผิวหนัง พบว่า วิตามินดีสามารถพบได้มากในแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้าและแหล่งอาหารบางชนิด เช่น น้ำมันตับปลา เห็ด ชีส ไข่แดง ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ตับ น้ำส้ม นม โยเกิร์ต ซีเรียล ซึ่งอาจมีคุณสมบัติช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นเกราะป้องกันในการต้านการติดเชื้อบนผิวหนังและอาจช่วยป้องกันโรคผิวหนังหลายชนิด เช่น โรคมะเร็งผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน สิว โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) โรคด่างขาว โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคตุ่มน้ำพุพองหรือโรคเพมฟิกัส วัลการิส (Pemphigus Vulgaris)
นอกจากนี้ วิตามินดียังอาจช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของรังสียูวีในแสงแดด ลดปฏิกิริยาการอักเสบและการตายของเซลล์ผิวหนัง ช่วยลดการเกิดริ้วรอย ความเหี่ยวย่น และมะเร็งผิวหนัง รวมทั้งยังอาจช่วยรักษาบาดแผลด้วยการส่งเสริมการสร้างเซลล์และเส้นเลือดใหม่ ซึ่งช่วยในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ จึงอาจส่งผลให้แผลสมานตัวได้ดีขึ้น
-
วิตามินซี
การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เช่น มะรุม เบอร์รี่ ส้ม มะนาว ฝรั่ง มะขามป้อม มะขามเทศ มะละกอ ส้มโอ ดอกกะหล่ำ ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ถั่วลันเตา ผักกาดขาว ผักโขม ผักคะน้า ผักชี ผักบุ้ง อาจมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยต้านการอักเสบของผิวหนัง และปกป้องผิวจากรังสียูวีในแสงแดด รวมถึงยังมีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจลให้กับผิวหนัง ทำให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น ชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยและความเหี่ยวย่น ลดจุดด่างดำ ทำให้สีผิวดูสม่ำเสมอ และยังช่วยในการสมานแผลอีกด้วย
โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินซีต่อสุขภาพผิว พบว่า วิตามินซีเป็นสารอาหารที่พบมากในผิวหนัง มีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของผิวหนัง รวมถึงยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีศักยภาพในการช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดด ช่วยกำจัดสารพิษที่ตกค้างและป้องกันการสูญเสียความยืดหยุ่น จึงอาจช่วยชะลอการเกิดริ้วรอย ความเหี่ยวย่น ความแห้งกร้าน จุดด่างดำและช่วยให้สีผิวดูสม่ำเสมอมากขึ้น
นอกจากนี้ วิตามินซียังช่วยในการรักษาบาดแผล โดยการกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ลดการอักเสบและป้องกันการติดเชื้อ ส่งผลให้บาดแผลสมานตัวได้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คุณสมบัติต้านการอักเสบของวิตามินซียังอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน สิว ผิวแห้ง อาการคัน