backup og meta

อาหารอ่อน หรือ Soft Diet คืออะไร เหมาะกับใคร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 21/11/2022

    อาหารอ่อน หรือ Soft Diet คืออะไร เหมาะกับใคร

    Soft diet คือ อาหารอ่อน หมายถึง อาหารที่มีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม เปื่อยยุ่ย มีใยอาหารต่ำ สามารถเคี้ยว กลืน และย่อยได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดหรือมีภาวะสุขภาพบางประการที่ทำให้เกิดปัญหาด้านการเคี้ยวหรือย่อยอาหาร ผู้ที่ต้องรับประทานอาหารแบบ Soft diet ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องอืดหรือเกิดแก๊ส และอาหารที่ย่อยได้ยาก เช่น อาหารรสเผ็ดจัด ของทอด ธัญพืชไม่ขัดสี ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอหรือนักโภชนาการเกี่ยวกับการบริโภค soft diet เพื่อให้ได้รับสารอาหารต่าง ๆ ในปริมาณที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ

    Soft diet คือ อะไร

    Soft diet คือ อาหารอ่อนที่มีเนื้อสัมผัสนุ่ม มีใยอาหารหรือไฟเบอร์ต่ำ ใช้เวลาในการย่อยไม่นาน โดยทั่วไป คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัดหรือผู้มีอาการอาหารไม่ย่อยรับประทานอาหารลักษณะนี้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับระยะการฟื้นตัวของระบบขับถ่าย หรือจนกว่าความอยากอาหารของผู้ป่วยจะกลับมาเหมือนเดิม ส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะค่อย ๆ เปลี่ยนมารับประทานอาหารที่มีใยอาหารมากขึ้นได้ และควรกลับมารับประทานอาหารตามปกติเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ

    การรับประทานอาหารอ่อนอาจต้องจำกัดปริมาณใยอาหารที่บริโภคในแต่ละวันไม่ให้เกิน 1-2 กรัมต่ออาหาร 1 ส่วน จึงควรรับประทานผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช หรืออาหารอื่น ๆ ที่มีใยอาหารสูงแต่พอดี สำหรับผู้ป่วยบางราย คุณหมออาจแนะนำให้จำกัดการรับประทานอาหารประเภทนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวด้วย เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่สบายท้องหรือท้องเสีย โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะแพ้แลคโตส ทั้งนี้ การจำกัดอาหารตามที่คุณหมอแนะนำอาจแตกต่างไปในแต่ละคน เนื่องจากแต่ละคนมีความทนทานต่ออาหารแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน

    Soft diet เหมาะสำหรับใคร

    Soft diet อาจเหมาะกับกลุ่มคนต่อไปนี้

    • ผู้ที่มีอาการลำไส้ตีบตันเนื่องจากมีเนื้องอก หรือเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบ
    • ผู้ที่มีปัญหาในการเคี้ยวอาหารหรือกลืนลำบาก
    • ผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดบริเวณศีรษะ ฟัน ปาก ลำคอ ท้อง กระเพาะอาหารหรือลำไส้
    • ผู้ที่กำลังรับการรักษาโรคบางชนิด เช่น ผู้ที่เข้ารับการฉายรังสีบริเวณศีรษะ ลำคอ ท้อง เพื่อรักษาโรคมะเร็ง อาจทำให้เนื้อเยื่อของระบบทางเดินอาหารถูกทำลายหรือระคายเคืองได้ง่าย

    Soft diet มีอะไรบ้าง

    ตัวอย่างของ Soft diet หรืออาหารอ่อน ย่อยง่าย อาจมีดังนี้

    • เนื้อสัตว์และสารทดแทนเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อสัตว์บด ไข่ไก่ต้ม เนยถั่ว เต้าหู้ ไส้กรอกไม่ใส่เครื่องเทศ (เฉพาะเนื้อด้านใน) เป็นแหล่งโปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่สึกหรอ
    • ผลไม้และน้ำผลไม้ เช่น กล้วย อะโวคาโด แตงโม เมลอน แอปเปิลปอกเปลือก ลูกพีช ผลไม้ปรุงสุกที่ไม่มีเปลือกหรือเมล็ด ซอสผลไม้ น้ำผลไม้ที่ไม่มีเนื้อผลไม้ผสม
    • ผัก เช่น มันฝรั่งปอกเปลือก ผักนึ่งสุก ผักกระป๋องที่ไม่มีเมล็ดหรือปอกเปลือกแล้ว น้ำผักที่ไม่มีกากผสม
    • ซีเรียลและธัญพืช เช่น ข้าวต้ม ข้าวขาว ก๋วยเตี๋ยว ธัญพืชแห้งหรือปรุงสุกที่มีใยอาหารต่ำอย่างรำ ข้าวสาลีป่น และข้าวสาลีฝอย เป็นอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตที่เป็นแหล่งพลังงานที่ดี มีใยอาหารต่ำ จึงย่อยได้ง่ายกว่า
    • ขนมปังและแครกเกอร์ที่ทำจากธัญพืชขัดสี เช่น ขนมปังแป้งสาลีขัดขาว
    • นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น นมวัว นมผง โยเกิร์ต คอทเทจชีส
    • ของหวานเนื้อนิ่ม เช่น แพนเค้ก วาฟเฟิล เค้ก พุดดิ้ง คัสตาร์ด ไอศกรีมสมูทตี้ มิลค์เชคเนื้อเนียน มาร์ชแมลโลว์ คุกกี้ที่ไม่ผสมผลไม้แห้ง ธัญพืช หรือถั่ว
    • เครื่องปรุงรส เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง เยลลี่ มายองเนส มัสตาร์ด ซีอิ๊ว น้ำมัน

    อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อรับประทาน Soft diet

    อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงขณะรับประทานอาหารแบบ Soft diet คือ อาหารที่มีใยอาหารสูงซึ่งอาจใช้เวลาย่อยนาน หรือทำให้มีอาการท้องอืดและเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น

    • พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วขาว ถั่วเหลือง อัลมอนด์
    • ขนมเนื้อแข็ง เช่น มันฝรั่งทอด ป๊อปคอร์น ช็อกโกแลต
    • โปรตีนชนิดแข็ง เช่น เนื้อสัตว์แข็ง เบคอน ไส้กรอกย่าง
    • ธัญพืชที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวกล้อง
    • ผักดิบเนื้อแน่น เช่น บรอกโคลี ข้าวโพด หัวผักกาด หน่อไม้ฝรั่ง
    • ผลไม้บางชนิด เช่น มะม่วง สับปะรด ผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก
    • อาหารรสเผ็ด เช่น ส้มตำปูปลาร้า ผัดเผ็ดปลาดุก ผัดพริกสดทะเล

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 21/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา