backup og meta

Cushing syndrome คืออะไร มีสาเหตุและอาการอะไรบ้าง

Cushing syndrome คืออะไร มีสาเหตุและอาการอะไรบ้าง

Cushing syndrome (กลุ่มอาการคุชชิง) คือ ภาวะที่เกิดจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) มากเกินไป จนทำให้เกิดความบกพร่องในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและการทำงานของระบบการเผาผลาญ จนอาจส่งผลให้มีน้ำหนักเพิ่ม มีไขมันสะสม และเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน หากสังเกตว่ามีอาการเหนื่อยล้า น้ำหนักขึ้นผิดปกติ มีไขมันสะสมในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาทันที

[embed-health-tool-bmi]

Cushing syndrome คืออะไร 

Cushing syndrome คือ ความผิดปกติของร่างกาย่ที่เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายมีระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินไป โดยฮอร์โมนคอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนถูกสร้างขึ้นจากต่อมหมวกไต มีส่วนช่วยควบคุมความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และการเผาผลาญไขมันในอาหารให้เป็นพลังงาน แต่หากมีปริมาณมากก็อาจทำให้ฮอร์โมนเสียสมดุล จนเสี่ยงก่อให้เกิดโรค Cushing syndrome ที่ส่งผลให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น อ้วนลงพุง มีไขมันสะสมบนใบหน้า อีกทั้งยังอาจเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และอาจสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและกระดูกได้

สาเหตุของ Cushing syndrome

สาเหตุของ Cushing syndrome มีดังนี้

  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เช่น เพรดนิโซน (Prednisone) เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone) ที่นิยมใช้รักษาโรคหอบหืด โรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) โรคเกี่ยวกับลำไส้ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคถุงลมโป่งพอง รวมถึงใช้หลังจากผ่าตัดเพื่อกดภูมิคุ้มกันไม่ให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาการปฏิเสธอวัยวะ  อย่างไรก็ตาม การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์แบบฉีดและแบบทาอาจมีความเสี่ยงน้อยกว่าแบบรับประทาน แต่ก็สามารถส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการคุชชิงได้เช่นเดียวกันหากใช้ในปริมาณมาก
  • เนื้องอกต่อมใต้สมอง อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรปิก (ACTH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตและหลั่งจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ที่อาจกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลมากขึ้น นำไปสู่การเกิดกลุ่มอาการคุชชิง อาจพบได้บ่อยในผู้หญิง
  • เนื้องอกต่อมหมวกไต อาจทำให้การทำงานของต่อมหมวกไตผิดปกติ จึงส่งผลให้ผลิตคอร์ติซอลในปริมาณมาก และเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการคุชชิง
  • เนื้องอกส่วนอื่น ๆ เช่น ปอด ตับอ่อน ต่อมไทรอยด์ ต่อมไทมัส ที่ส่งผลกระทบต่อการหลั่งฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรปิก ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลในปริมาณมาก

อาการของ Cushing syndrome

อาการของ Cushing syndrome อาจสังเกตได้ดังนี้

  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น
  • มีการสะสมของไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ใบหน้า หน้าท้อง ไหล่และหลัง
  • ผิวบอบบาง ฟกช้ำง่าย
  • สิวขึ้น
  • รอยแตกลายสีม่วง กว้าง 1-2 นิ้วขึ้นไป พบได้บริเวณหน้าท้อง ต้นแขน ต้นขาและหน้าอก
  • แผลหายช้า
  • ความดันโลหิตสูงและน้ำตาลในเลือดสูง
  • สูญเสียมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ ที่อาจส่งผลให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกระดูก ปวดหลังและปวดสะโพก
  • กระหายน้ำมากขึ้นและปัสสาวะบ่อย
  • อ่อนเพลีย และเหนื่อยล้า
  • มีปัญหาการนอนหลับ
  • อารมณ์แปรปรวน
  • ปวดศีรษะ
  • ซึมเศร้าและวิตกกังวล

นอกจากนี้ ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ และมีขนขึ้นทั่วร่างกายมากขึ้น สำหรับผู้ชายอาจมีแรงขับทางเพศลดลง และอาจมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หากสังเกตว่ามีอาการดังกล่าว ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจทันที และควรแจ้งให้คุณหมอทราบเกี่ยวกับการใช้ยารักษาโรคที่กำลังใช้อยู่ เช่น โรคหอบหืด โรคข้ออักเสบ โรคลำไส้อักเสบ

Cushing syndrome เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนอย่างไร

เนื่องจาก Cushing syndrome มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนความเครียดมากเกินไป ซึ่งหน้าที่หลักของฮอร์โมนนี้คือ ช่วยเผาผลาญไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตในอาหารให้เป็นพลังงาน หากฮอร์โมนคอร์ติซอลมีปริมาณมากเกินไปจึงอาจทำให้ฮอร์โมนเสียความสมดุล ส่งผลกระทบต่อการเผาผลาญอาหารไม่ดี จึงและอาจส่งผลให้มีไขมันสะสมทั่วทั้งร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง ไหล่และใบหน้า เสี่ยงต่อการมีน้ำหนักมากขึ้น จนนำไปสู่โรคอ้วนได้ 

วิธีรักษาโรค Cushing syndrome

วิธีรักษาโรค Cushing syndrome อาจแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ดังนี้

  • ลดการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์

สำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มอาการคุชชิงเนื่องจากการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในปริมาณสูงเป็นเวลานาน คุณหมออาจสั่งลดขนาดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ แล้วค่อย ๆ ให้หยุดกินเอง เพื่อช่วยให้ร่างกายกลับมาผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลตามปกติ ไม่ควรหยุดยากะทันหันหรือหยุดยาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งของคุณหมอ เพราะอาจทำให้เสี่ยงระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้นได้

  • การผ่าตัด

หากสาเหตุของกลุ่มอาการคุชชิงเกิดจากเนื้องอก คุณหมออาจแนะนำให้ผ่าตัดเนื้องอกออก โดยการใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบบุกรุกน้อยที่สุด และหลังการผ่าตัดคุณหมออาจให้รับประทานยาทดแทนคอร์ติซอล เพื่อให้ร่างกายมีฮอร์โมนคอร์ติซอลในปริมาณที่สมดุล อย่างไรก็ตาม หลังจากการผ่าตัดต่อมหมวกไตของผู้ที่เป็นกลุ่มอาการคุชชิงบางคนอาจไม่สามารถกลับมาผลิตฮอร์โมนได้ตามปกติและจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนตลอดชีวิต

  • การรักษาด้วยรังสี

มักใช้รักษาในกรณีที่คุณหมอไม่สามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้ทั้งหมด จึงใช้การฉายรังสีเข้ามาช่วยกำจัดเนื้องอก หรือลดขนาดเนื้องอก อีกทั้งยังเหมาะสำหรับผู้ที่มีสภาวะร่างกายไม่เหมาะกับการผ่าตัด

  • การใช้ยา

คุณหมออาจให้ใช้ยาควบคุมการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล โดยอาจใช้ยาก่อนการผ่าตัดในผู้ที่เป็นกลุ่มอาการคุชชิงจากเนื้องอก เพื่อช่วยบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงในการผ่าตัด แต่อาจไม่สามารถช่วยลดฮอร์โมนคอร์ติซอลส่วนเกินได้ทั้งหมด ตัวอย่างยาที่ใช้ เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไมโทเทน (Mitotane) เมไทราโพน (Metyrapone) ผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้คือ อาการเหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ความดันโลหิตสูง ระดับโพแทสเซียมต่ำ หรืออาจใช้ยาพาซิรีโอไทด์ (Pasireotide) ซึ่งเป็นยาที่ใหม่กว่า เป็นยาในรูปแบบฉีด โดยฉีดวันละ 2 ครั้ง

หากไม่มีตัวเลือกในการรักษาที่เหมาะสม หรือผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา คุณหมออาจจำเป็นต้องผ่าตัดต่อมหมวกไตออก และให้ใช้ยาฮอร์โมนคอร์ติซอลทดแทนตลอดชีวิต

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cushing syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cushing-syndrome/symptoms-causes/syc-20351310.Accessed August 4, 2022.

Cushing’s syndrome. https://www.nhs.uk/conditions/cushings-syndrome/.Accessed August 4, 2022.

Cushing’s Syndrome. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/cushing-syndrome.Accessed August 4, 2022.

Cushing syndrome. https://medlineplus.gov/ency/article/000410.htm.Accessed August 4, 2022.

Cushing syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cushing-syndrome/diagnosis-treatment/drc-20351314.Accessed August 4, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/07/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีลดน้ำหนัก ป้องกันโรคอ้วน ทำอย่างไรได้บ้าง

อันตรายจากโรคอ้วน กับผลเสียต่อสุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา