Kwashiorkor (ควาชิออร์กอร์) คือ โรคขาดสารอาหารประเภทโปรตีน ที่เกิดจากร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ โดยอาจสังเกตได้จากอาการเหนื่อยล้าง่าย เจ็บป่วย มีปัญหาด้านสุขภาพผิว เส้นผม และเล็บ รวมถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะโปรตีนมีส่วนช่วยรักษากล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ กระดูก ผิวหนัง และเส้นผม และอาจกระตุ้นการผลิตแอนติบอดีช่วยต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสและสิ่งแปลกปลอมที่ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้
[embed-health-tool-bmi]
Kwashiorkor คืออะไร
Kwashiorkor หรือ ควาชิออร์กอร์ คือ โรคขาดสารอาหารชนิดโปรตีนระดับรุนแรง ที่อาจส่งผลให้ร่างกายสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ผิวหนังอักเสบ มีรอยช้ำง่าย เส้นผมและเล็บเปราะบาง อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ปัญหาระบบทางเดินอาหาร ปัญหาการเผาผลาญอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ และอาการช็อกจากการเสียเลือดและน้ำมาก
ปกติแล้วร่างกายควรได้รับโปรตีนอย่างน้อย 10-35% ของแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวัน ยกตัวอย่าง หากมีแผนการรับประทานอาหาร 2,000 แคลอรี่/วัน ร่างกายก็ควรได้รับโปรตีน 200-700 แคลอรี่ สำหรับผู้ใหญ่ควรได้รับโปรตีน 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น น้ำหนัก 75 กิโลกรัม ควรรับประทานโปรตีน 60 กรัม/วัน และสำหรับผู้สูงอายุอาจต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้น 75-90 กรัม/วัน
สาเหตุของ Kwashiorkor
ควาชิออร์กอร์เกิดจากการที่ร่างกายได้รับโปรตีนจากอาหารไม่เพียงพอ โดยอาจมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคควาชิออร์กอร์ ดังนี้
- เศรษฐกิจไม่ดี
- ครอบครัวยากจน
- การหยุดให้นมทารกก่อนถึงวัยหย่านม
- การเจ็บป่วยเรื้อรัง
- การขาดความรู้ด้านโภชนาการ
- พฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติ
- เบื่ออาหาร
อาการของ Kwashiorkor
อาการของควาชิออร์กอร์ อาจมีดังนี้
- สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
- ผิวหนังอักเสบ ผิวแห้ง ผิวลอก รอยฟกช้ำ และผื่นขึ้น
- ผมแห้งเสีย เปราะบาง ขาดหลุดร่วง และอาจเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือส้ม
- เล็บแตก
- อาการบวมน้ำที่ขา ข้อเท้า และเท้า เมื่อกดลงไปอาจมีรอยบุ๋ม
- รู้สึกเบื่ออาหาร
- หงุดหงิดง่าย
- แผลหายช้า
- ท้องร่วง
- อาการช็อก
การรักษา Kwashiorkor
การรักษาควาชิออร์กอร์ในระยะแรกคุณหมออาจแนะนำให้เพิ่มแคลอรี่ในแต่ละมื้ออาหาร โดยเน้นการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนเป็นหลัก รวมถึงอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น อาหารทะเล ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน โยเกิร์ต นม เต้าหู้ ผักใบเขียว ผลไม้ แซลมอน อัลมอนด์ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้ คุณหมออาจใช้วิธีให้อาหารทางสายยางหรือหลอดเลือดดำแทน สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคควาชิออร์กอร์ในระดับรุนแรง อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ยาปฏิชีวนะสำหรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย เช่น ติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในทางเดินหายใจ ติดเชื้อในทางเดินอาหาร
- วิตามินและแร่ธาตุในรูปแบบอาหารเสริม ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ร่วมด้วย
- อาหารเสริมเพื่อการรักษา (Ready-to-Use Therapeutic Food: RUTF) ที่ประกอบด้วยเนยถั่ว นมพร่องมันเนย วิตามิน และแร่ธาตุ ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยที่ขาดสารอาหาร โดยควรแจ้งให้คุณหมอทราบหากแพ้อาหารเหล่านี้
- ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คุณหมออาจให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล หรือรับประทานของหวานเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด
- ผู้ป่วยที่มีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ คุณหมออาจแนะนำให้สวมใส่เสื้อผ้าหลายชั้น หรือห่มผ้าหนา ๆ ดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เช่น การหายใจ จังหวะการเต้นของหัวใจ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวโดยไม่จำเป็น และไม่ควรให้ผู้ป่วยสัมผัสกับความร้อนโดยตรง เช่น แผ่นทำความร้อน แผ่นแปะความร้อน เพราะอาจทำให้ผิวหนังได้รับบาดเจ็บ และเพิ่มความเสี่ยงให้หัวใจหยุดเต้นได้