เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะภายในสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ โดยการช่วยแปรเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซออกซิเจน เพื่อลำเลียงนำก๊าซบริสุทธิ์เข้าสู่เลือด แต่เมื่อใดที่ปอดคุณเกิดทำงานผิดปกติ หรือเสี่ยงเข้าสู่ โรคปอดบวม ต้องพึงระวังไว้ให้ดี เพราะโรคปอดบวมนี้ยังถูกแบ่งออกได้อีกหลายประเภทด้วยกัน แต่จะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหนนั้น ติดตามได้ในบทความของ Hello คุณหมอกันค่ะ
โรคปอดบวมส่งผลให้เกิด ภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง
ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็น โรคปอดบวม มักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี แต่หากเป็นกรณีที่มีความรุนแรงมากนัก นอกจากจะเจ็บปวดกับอาการที่เกิดขึ้นแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้อีกด้วย ดังนี้
- ระบบหายใจล้มเหลว
เมื่อปอดของคุณอักเสบ และบวมขึ้นอาจส่งผลเสียต่อระบบหายใจทำให้คุณหายใจลำบากได้ บางกรณีแพทย์จึงจำเป็นต้องมีการใส่เครื่องช่วยหายใจร่วม
- ฝีในปอด
ฝีที่เกิดขึ้นอาจมีหนองอยู่บริเวณรอบ ๆ ปอดร่วมด้วย เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแพทย์มักนิยมใช้ยาปฏิชีวนะในระยะแรก หากร่างกายคุณยังไม่มีการตอบสนอง ก็อาจต้องใช้วิธีผ่าตัด เพื่อทำการระบายหนองออก
- ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด
เมื่อแบคทีเรียจากปอดเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้เชื้อเหล่านี้ถูกแพร่กระจายเข้าไปทำลายยังส่วนต่าง ๆ จนอาจทำให้ระบบการทำงานอื่น ๆ นั้น เกิดล้มเหลวไปด้วยได้
- เยื่อหุ้มปอดอักเสบ
โรคปอดบวมสามารถส่งผลให้มีการสะสมของเหลวในระหว่างเนื้อเยื่อ จนเสี่ยงต่อการติดเชื้อขึ้น และจำเป็นต้องทำการผ่าตัดออกอย่างเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัย
5 ประเภทของโรคปอดบวม ที่ควรรู้ไว้
การจำแนก ประเภทของโรคปอดบวม ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่คุณนั้นเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อมาก รวมไปถึงการมีเชื้อแบคทีเรีย และไวรัสบางชนิดเข้าสู่ทางเดินหายใจ โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1.โรคปอดบวมที่ได้รับจากโรงพยาบาล โดยคุณอาจได้รับเชื้อแบคทีเรียในช่วงระหว่างการรักษาตัว และอาจได้รับจากอุปกรณ์การรักา เช่น เครื่องช่วยหายใจ
2.โรคปอดบวมที่เกิดจากชุมชน เนื่องจากชุมชนที่คุณพักอาศัย อาจมีแบคทีเรีย ไวรัส จำนวนมาก เมื่อมีการสูดหายใจเข้าไป และระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถกำจัดออกไปได้ ก็สามารถส่งผลให้คุณได้รับเชื้อลงสู่ปอดจนเป็นโรคปอดบวมนั่นเอง
3.โรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย คุณสามารถรับเชื้อนี้ส่งต่อกันได้จากการไอ จาม เนื่องจากละอองเชื้อแบคทีเรียที่ล่องลอยอยู่อากาศยากเกินกว่าจะมองเห็นจนทำให้คุณมีการสูดดมนำพาเข้าไป โดยคุณสามารถสังเกตอาการตนเองได้ ดังนี้ ไข้ขึ้นสูง ไอ น้ำมูก หายใจถี่ เหนื่อยล้าง่าย เป็นต้น
4.โรคปอดบวมจากเชื้อไวรัส การได้รับเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุต้น ๆ ที่ทำให้ผู้คนล้มป่วยมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน อีกทั้งยังสามารถลงไปทำลายปอดให้ได้รับความเสียหาย จนถึงขั้นเสียชีวิตได้หากคุณมีประวัติโรคประจำตัว และภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
5.โรคปอดบวมจากเชื้อรา เป็นประเภทที่พบได้น้อยที่สุด โดยมักพบในผู้ที่มักเผชิญกับฝุ่นละออง เช่น เกษตรกร ชาวสวน คนงานก่อสร้าง เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรก็คงจัดอยู่ในโรคปอดบวมที่มีอาการรุนแรงได้หากคุณมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง
การรักษา โรคปอดบวม ด้วยวิธีทางการแพทย์
ก่อนการรักษาแพทย์อาจต้องทำการวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์ทรวงอก และตรวจเลือดคุณเสียก่อน เพื่อหาสาเหตุ และเห็นภาพรอบ ๆ บริเวณอย่างแน่ชัดว่ามีความผิดปกติอื่น ๆ อีกหรือไม่ แล้วจึงดำเนินการทางรักษาที่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่เทคนิคการรักษาที่แพทย์นิยมใช้นั้น มีดังนี้
- ยาปฏิชีวนะ ที่สามารถช่วยกำจัดแบคทีเรีย หนึ่งในสาเหตุก่อให้เกิดโรคปอดบวม
- ยาแก้ไอ ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการไอร่วมด้วย เพื่อเป็นการป้องกันอาการไออย่างรุนแรง แพทย์จึงอาจให้ยาชนิดนี้แก่คุณ
- ยาลดไข้ และยาแก้ปวด เนื่องจากโรคปอดบวมอาจส่งผลให้คุณมีไข้ขึ้น จนคุณรู้สึกไม่สบายตัว ดังนั้นการให้ยาลดไข้อย่างแอสไพริน (Aspirin) และไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) จึงเป็นอีกหนทางรักษาที่เหมาะสม
แต่หากกรณีที่เป็นโรคปอดบวมชนิดรุนแรง แพทย์อาจมีการใส่เครื่องช่วยหายใจ และติดตามอาการคุณเป็นระยะอย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้ยาตามอาการที่คุณเป็น