ทำไมผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องลดน้ำหนัก ก็เพราะว่าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากการมีน้ำหนักตัวที่สมส่วนจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานน้อยลง ห่างไกลจากภาวะสุขภาพอันตรายอย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอล และช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในระยะสงบของโรค (Diabetes remission) ที่อาจทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวใกล้เคียงกับคนทั่วไปได้
[embed-health-tool-bmi]
ทำไมผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องลดน้ำหนัก
การมีน้ำหนักส่วนเกินหรือมีไขมันรอบหน้าท้องอาจหมายความว่าอวัยวะภายในร่างกายก็มีไขมันก่อตัวอยู่รอบ ๆ ได้เช่นเดียวกัน และส่งผลให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนได้ตามปกติ อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ดังนั้น หากผู้ป่วยเบาหวานเริ่มต้นลดน้ำหนักและออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเผาผลาญไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย ก็อาจเป็นประโยชน์ในการช่วยให้ร่างกายดื้ออินซูลินน้อยลงหรืออาจช่วยให้อินซูลินที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เป้าหมายน้ำหนักของผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานควรมุ่งเน้นการมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับส่วนสูงของตัวเอง โดยอาจคำนวณด้วยการใช้ดัชนีมวลกาย หรือ BMI ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ชี้วัดระดับไขมันในร่างกายที่เป็นค่าสากล และสามารถใช้ได้ทั้งกับคนทั่วไปและผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อนำมาใช้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
โดยค่า BMI ใช้วิธีคำนวณจากค่า น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง และแสดงค่าเป็นหน่วย กิโลกรัม/เมตร2 หรืออาจคำนวณได้ง่าย ๆ จากการใช้เครื่องคำนวณ หาค่า BMI หรือดัชนีมวลกาย ต่อไปนี้
วิธีลดน้ำหนักที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
การลดน้ำหนักด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมตามเป้าหมายได้
- เน้นการรับประทานอาหารจากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ ไขมันดีอย่างอะโวคาโด ปลาแซลมอน ปลาแมกเคอเรล ปลาซาร์ดีน
- หลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวที่ดูดซึมเร็วซึ่งจะไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำตาลทรายขาว รวมไปถึงอาหารที่มีไขมันทรานส์ โซเดียม คอเลสเตอรอล ที่ทำให้ไขมันเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดและทำให้ความดันโลหิตสูง
- หากเริ่มต้นเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างทันทีทันใดแล้วไม่ได้ผล ให้ลองเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปแทน เช่น ดื่มน้ำเปล่าแทนการดื่มน้ำอัดลม เริ่มจากรับประทานอาหารเช้าเพื่อสุขภาพก่อนแล้วค่อย ๆ ปรับให้มื้อเย็นดีต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน ออกกำลังกายวันละ 10 นาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป็นวันละ 20-30 นาที
- เข้ารับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ นักโภชนาการ เทรนเนอร์ส่วนตัว เป็นต้น ที่จะช่วยวางแผนการลดน้ำหนักที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย โดยควรปรึกษาคุณหมอก่อนเริ่มต้นการออกกำลังกายที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนอาหารและอินซูลิน เพื่อไม่ให้น้ำตาลลดต่ำจนเกินไป