ไซนัสอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อบริเวณโพรงอากาศข้างจมูกที่ทำหน้าที่ผลิตสารคัดหลั่งหรือน้ำมูกในบริเวณโพรงจมูก ทำให้มีอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก ไอ และปวดศีรษะ หากปล่อยทิ้งไว้อาจลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ เช่น ดวงตา สมอง ไขสันหลัง และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตอาการเบื้องต้นของไซนัสอักเสบ และพาลูกเข้ารับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรง
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ไซนัสอักเสบ คืออะไร
ไซนัสอักเสบ คือ การอักเสบของเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) แบคทีเรียฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา (Haemophilus influenza) หรือเชื้อแบคทีเรียมอแรเซลลา (Moraxella Catarrhalis) หรืออาจเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ทำให้ร่างกายผลิตสารคัดหลั่งหรือน้ำมูกมากเกินไป และอุดตันภายในไซนัส นำไปสู่การติดเชื้อ และมีอาการต่าง ๆ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ เป็นไข้ หากปล่อยทิ้งไว้ อาจลุกลามไปยังบริเวณดวงตา สมอง และไขสันหลัง เพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้ออย่างรุนแรงในกระดูก
นอกจากนี้ เด็กที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ไข้ละอองฟาง ไข้หวัด โรคผิดปกติของภูมิคุ้มกัน โรคหอบหืด รูปร่างจมูกผิดปกติ การบาดเจ็บที่จมูก และสัมผัสกับสารพิษ เช่น ควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ ก็อาจมีความเสี่ยงเป็นไซนัสอักเสบมากขึ้น
ไซนัสอักเสบมีอาการอย่างไร
อาการไซนัสอักเสบในเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต มีดังนี้
อาการไซอักเสบในเด็กเล็ก ได้แก่
- น้ำมูกไหล น้ำมูกข้นเหนียว อาจมีสีเขียว สีเหลือง หรือสีใส อาจเป็นนานกว่า 7-10 วัน
- อาการไอ
- ผิวหนังรอบดวงตาบวม
อาการไซอักเสบในเด็กโต ได้แก่
- ปวดศีรษะ
- น้ำมูกไหล อาจเป็นนานกว่า 7-10 วัน
- มีไข้
- อาการไอ มีเสมหะ เจ็บคอ
- สูญเสียการได้กลิ่น
- มีกลิ่นปาก
- อาการบวมรอบดวงตา อาจเห็นได้ชัดในช่วงเช้า
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าเด็ก ๆ มีอาการเหล่านี้นานกว่า 12 สัปดาห์ อาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง นอกจากนี้ หากเด็กมีอาการคอแข็ง การมองเห็นเปลี่ยนแปลง มีไข้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาการบวมบริเวณหน้าผากและรอบดวงตา ควรพาลูกพบคุณหมอทันที
การรักษาไซนัสอักเสบ
การรักษาไซนัสอักเสบในเด็กอาจแตกต่างกันออกไปตามประเภทของไซนัสอักเสบที่เป็น ดังนี้
ไซนัสอักเสบในเด็กชนิดเฉียบพลัน
ปกติแล้วเด็กที่เป็นไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันจะมีอาการดีขึ้นภายใน 12 สัปดาห์ โดยคุณหมออาจรักษาด้วยยา ดังนี้
- ยาแก้แพ้ สำหรับเด็กที่เป็นไซนัสอักเสบร่วมกับมีอาการภูมิแพ้ คุณหมออาจให้รับประทานยาแก้แพ้ เพื่อลดอาการบวมในเยื่อบุโพรงจมูก
- ยาปฏิชีวนะ เหมาะสำหรับเด็กที่เป็นไซนัสอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยคุณหมอจะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3-5 วัน อาจปรึกษาคุณหมออีกครั้งเพื่อเปลี่ยนยา
- ยาพ่นจมูก ควรใช้ตามที่คุณหมอกำหนด ไม่ควรซื้อเองตามร้านขายยา เพราะอาจส่งผลให้เด็กมีอาการแย่ลงได้
ไซนัสอักเสบในเด็กชนิดเรื้อรัง
มักส่งผลให้เด็กมีอาการไซนัสอักเสบนานกว่า 12 สัปดาห์ ซึ่งอาจรักษาได้ด้วยวิธี ดังนี้
- ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะสำหรับเด็กที่เป็นไซนัสอักเสบจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ซึ่งอาจให้ยานานกว่า 14 วัน ตามดุลพินิจของคุณหมอและอาการที่เด็กเป็น
- ยาพ่นจมูก คุณหมออาจให้ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) และยาคอร์โคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ในรูปแบบยาพ่นจมูก เพื่อลดอาการบวม การอักเสบ และขจัดน้ำมูก ช่วยให้เด็กหายใจสะดวกขึ้น
- ยาหดหลอดเลือด เช่น ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) ที่ช่วยละลายความเหนียวข้นของน้ำมูก ช่วยขจัดน้ำมูกและบรรเทาอาการคัดจมูก
- การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาที่เหมาะสำหรับเด็กที่มีติ่งเนื้อในจมูกและมีอาการไซนัสอักเสบรุนแรง
การป้องกันไซนัสอักเสบ
การป้องกันไซนัสอักเสบในเด็ก อาจทำได้ดังนี้
- ฝึกสุขอนามัยให้เด็กด้วยการสอนวิธีล้างมือให้สะอาดและหมั่นล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเมื่อมีน้ำมูก
- ให้เด็กหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารพิษ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์เลี้ยง ควันบุหรี่
- ให้เด็กหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ที่เป็นไข้หวัด หรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจและมีอาการไอหรือจาม
- เปิดเครื่องทำความชื้นหากเด็กอยู่ในห้องที่มีสภาพอากาศแห้ง
- จำกัดเวลาการเล่นน้ำในสระ เพราะสารคลอรีนอาจทำให้เกิดการระคายเคืองจมูก นำไปสู่ไซนัสอักเสบได้