การอุ้มลูกอาจช่วยกระชับความสัมพันธ์ ทำให้ลูกมีความสุข รู้สึกปลอดภัย และไม่ได้เป็นอย่างความเชื่อที่ว่า อุ้มลูก แล้วลูกจะติดมือ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาวิธีการอุ้มลูกที่ถูกต้อง เพราะศีรษะและกระดูกช่วงลำคอของลูกอาจยังไม่แข็งแรง การอุ้มลูกไม่ถูกวิธีอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อลูกได้
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ประโยชน์ของการ อุ้มลูก
ประโยชน์ของการอุ้มลูก มีดังนี้
- กระชับความสัมพันธ์กับลูก เพราะการอุ้มอาจทำให้ได้ใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น ทำให้ลูกมีความสุข ได้รับความรัก และช่วยทำให้ผูกพันกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น
- ลูกร้องไห้น้อยลง การอุ้มอาจช่วยทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และสบายใจ จึงส่งผลให้ร้องไห้น้อยลง หรือหยุดร้องไห้เร็วขึ้น
- ช่วยบรรเทาอาการจุกเสียด การอุ้มลูกเดินไปมา หรือลูบหลังเบา ๆ อาจช่วยทำให้ลูกเรอและช่วยขับแก๊สในกระเพาะอาหารออกมาได้มาก จึงลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง ทำให้ลูกรู้สึกสบายตัว และนอนหลับได้ดีขึ้น
- ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ การอุ้มอาจช่วยเพิ่มพัฒนาการทางระบบประสาท ช่วยให้ลูกจดจำใบหน้าพ่อแม่และมีการตอบสนองต่อสิ่งที่พบเห็น ทั้งยังอาจช่วยกระตุ้นพัฒนาการของร่างกาย ทำให้มวลกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากการที่ลูกเริ่มยกศีรษะตั้งขึ้นได้
5 ท่าอุ้มลูกที่ถูกต้อง
5 ท่าอุ้มลูกที่ถูกต้องและปลอดภัย มีดังนี้
- ท่าอุ้มประคองทั้งตัว เป็นท่าที่ทำให้ลูกรู้สึกเหมือนนอนอยู่ในเปล โดยอุ้มให้ลูกนอนหงาย ใช้แขนข้างใดข้างหนึ่งเป็นฐานรองบริเวณหลังและก้น ให้ศีรษะของลูกอยู่บริเวณข้อพับแขน จากนั้นใช้มืออีกข้างประคองศีรษะและโอบกอดลำตัวของลูกเอาไว้ ทำให้ลูกสามารถมองหน้าคุณพ่อคุณแม่ได้ถนัด และช่วยให้นอนหลับสบาย
- ท่าอุ้มพาดไหล่ เป็นท่าอุ้มที่ช่วยทำให้ลูกนอนหลับสบาย โดยเริ่มจากใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะและต้นคอของลูก จากนั้นใช้มืออีกข้างประคองก้นของลูกเอาไว้
- ท่าอุ้มวางบนตัก คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกขึ้นวางบนตัก โดยใช้หน้าขาเป็นฐานรองรับตัวลูก ให้เท้าของลูกอยู่บริเวณข้างเอวของคุณพ่อคุณแม่ การอุ้มลูกในท่านี้ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่คุยกับลูกได้สะดวกขึ้น
- ท่าอุ้มทารกนอนคว่ำ ผู้ปกครองที่ต้องการอุ้มลูกในท่านี้ควรมีต้นแขนที่แข็งแรง และหน้าแขนกว้างเพียงพอที่จะประคองลำตัวและศีรษะของลูกได้มั่นคง เริ่มจากใช้มือช้อนใต้ท้องของลูก ให้ลำตัวพาดอยู่บนแขนในลักษณะคว่ำหน้า หันศีรษะของลูกออกด้านข้างเพื่อให้หายใจได้สะดวก และใช้แขนอีกข้างประคองลำตัวลูกไว้
- ท่าอุ้มเข้าเอว เหมาะสำหรับทารกที่สามารถตั้งศีรษะได้แล้ว และมีต้นคอแข็งแรง โดยเริ่มจากการอุ้มเข้าเอวและใช้แขนข้างหนึ่งประคองใต้ก้นหรือเอวของลูก
อย่างไรก็ตาม การอุ้มลูกแต่ละท่าอาจต้องคำนึงถึงช่วงวัยของลูกด้วย
สิ่งที่ไม่ควรทำขณะอุ้มลูก
สิ่งที่ไม่ควรทำขณะอุ้มลูก ได้แก่
- ไม่ล้างมือก่อนสัมผัสหรืออุ้มลูก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของลูกอาจยังทำงานไม่เต็มที่จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ลูกติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ง่าย
- ไม่ควรอุ้มลูกโดยใช้มือเดียว เพราะศีรษะ กระดูก และกล้ามเนื้อของลูกยังไม่แข็งแรง การอุ้มเพียงมือเดียวอาจเป็นอันตราย และอาจทำลูกพลัดตกจากมือได้ง่าย
- ไม่ควรเขย่าหรือโยนลูกเพราะอาจกระทบกระเทือนต่อสมอง อาจทำให้มีเ้ลือดออกในสมอง และเสี่ยงเสียชีวิตกะทันหัน
- ขณะอุ้มลูกไม่ควรทำกิจกรรมอื่นไปพร้อมกัน เช่น เล่นโทรศัพท์ ถือของร้อน ใช้ของมีคม ถ่ายรูปเซลฟี่ เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
- ไม่ควรห่อตัวลูกให้หนาเกินไป และบดบังใบหน้า เพราะอาจทำให้ลูกขยับร่างกายลำบากและหายใจไม่สะดวก อาจขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตได้