backup og meta

เตรียมอาหารให้ลูก 6 เดือน อย่างไรถึงจะเหมาะสม

เตรียมอาหารให้ลูก 6 เดือน อย่างไรถึงจะเหมาะสม

การ เตรียมอาหารให้ลูก 6 เดือน ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะเมื่อทารกอายุได้ 6 เดือน การให้เด็กกินนมแม่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ คุณแม่จึงควรเริ่มศึกษาถึงการ เตรียมอาหารให้ลูกตั้งแต่ก่อนที่ลูกจะอายุ 6 เดือน (อาจเตรียมตัวตั้งแต่ลูกอายุ 4 เดือน) และฝึกให้ลูกรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัมผัสหยาบขึ้น เพื่อฝึกการบดเคี้ยวและเพื่อให้ได้รับสารอาหารเพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต เสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่สุขภาพและพัฒนาการของสมองและร่างกาย

อาหารที่เหมาะสำหรับลูก 6 เดือน

อาหารที่ลูก 6 เดือนควรได้รับ มีดังนี้

  • อาหารประเภทแป้ง

อาหารประเภทแป้งประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต ที่เป็นพลังงานที่ดีส่งเสริมให้ทารกแข็งแรง แต่ควรรับประทานร่วมกับผักผลไม้ ธัญพืช เพื่อช่วยให้ลูกย่อยอาหารได้ง่าย อาหารประเภทแป้งที่ลูก 6 เดือน อาจรับประทานได้ ได้แก่ ข้าวโอ๊ต พาสต้า ข้าว มันฝรั่ง ข้าวโพด ข้าวต้ม ขนมปัง เป็นต้น ซึ่งคุณแม่ควรนำมาปั่น บด หรือปรุงผสมกับนมแม่ เพื่อให้เกิดความนิ่มและรับประทานได้ง่ายขึ้น

  • อาหารประเภทโปรตีน

โปรตีนเป็นสารอาหารที่มีส่วนช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เซลล์ และเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดงช่วยนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย ทั้งยังช่วยสร้างแอนติบอดีให้ร่างกายลูกต่อสู้กับการติดเชื้อ ลดความเสี่ยงจากเป็นไข้ เจ็บป่วย อาหารที่มีโปรตีน ได้แก่ ไก่ ไข่ เนื้อวัว เนื้อหมู ปลา เต้าหู้ ถั่ว คุณแม่ควรปรุงอาหารให้สุก บดหรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆอย่างละเอียด และควรสังเกตว่าลูกมีอาการแพ้หรือไม่ เนื่องจาก อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว ไข่ อาจทำให้เด็กมีอาการแพ้ได้

  • ผัก

ผักมีวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ ไฟเบอร์ และน้ำ ช่วยเพิ่มพลังงาน บำรุงสายตาให้เด็ก และลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งบางชนิด โรคหัวใจ ไฟเบอร์ในผักช่วยในการปรับลำไส้และขับถ่าย ผักที่คุณแม่อาจนำมาให้เด็กรับประทานได้ คือ ผักกาด ตำลึง ปวยเล้ง หน่อไม้ฝรั่ง ผักคะน้า แครอท กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักโขม บร็อคโคลี่ เป็นต้น โดยควรนำผักเหล่านี้มาล้างให้สะอาด ต้มให้นิ่มมากที่สุดและหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เน้นรับประทานให้หลากหลายในแต่ละมื้อ เพื่อให้ได้แร่ธาตุที่หลากหลาย

  • ผลไม้

ผลไม้เป็นแหล่งรวมวิตามิน แร่ธาตุ โฟเลต โพแทสเซียม และไฟเบอร์ ที่มีส่วนช่วยทำให้ลำไส้ในทางเดินอาหารแข็งแรง ป้องกันท้องผูก ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง คุณแม่ควรนำผลไม้มาล้างทำความสะอาดและปรุงให้นิ่ม หรือนำไปปั่นให้พอมีเนื้อสัมผัส โดยผลไม้ที่อาจนำมาให้เด็กรับประทานได้ คือ กล้วย กีวี่ บลูเบอร์รี่ ส้ม แอปเปิ้ล มะละกอ สัปปะรด สตรอเบอร์รี่ แตงโม มะม่วง อะโวคาโด เป็นต้น

  • ผลิตภัณฑ์จากนม

อาหารที่ทำจากนมพาสเจอร์ไรส์ เช่น โยเกิร์ต ชีส อาจเหมาะสำหรับลูกวัยตั้งแต่ 6 เดือน ขึ้นไป โดยคุณแม่ควรนำมาใช้ในการปรุงผสมกับอาหารชนิดอื่น ๆ ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป ไม่ควรให้ลูกรับประทานเป็นอาหารมื้อหลักเพียงอย่างเดียว จนกว่าลูกจะอายุได้ 12 เดือน

นอกจากนี้ ไม่ควรให้ลูกรับประทานนมเปรี้ยว เพราะเป็นนมที่หมักด้วยแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ที่ช่วยส่งเสริมในเรื่องระบบขับถ่าย การย่อยอาหาร แต่ก็อาจทำให้ลูกปวดท้อง ท้องร่วง หรือท้องผูกอย่างรุนแรงได้ อีกทั้งนมเปรี้ยวยังมีน้ำตาลปริมาณสูง ไม่เหมาะกับการนำมาเลี้ยงทารกในวัย 6 เดือนถึง 1 ปี

เตรียมอาหารให้ลูก 6 เดือน ควรทำอย่างไร

การเตรียมอาหารให้ลูก 6 เดือน คุณแม่ควรปรุงอาหารให้สุกและอ่อนนุ่ม โดยอาจเริ่มจากต้มหรื่อนึ่งให้เปื่อยแล้วบดละเอียด เมื่ออายุ 8-9 เดือน เคี้ยวกลืนได้ดีแล้ว จึงค่อย ๆ ปรับเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำเพื่อป้องกันการติดคอ ให้เด็กสามารถบดเคี้ยวและกลืนง่าย (ปรับตามฟันน้ำนมที่ขึ้น ซึ่งความพร้อมในการบดเคี้ยวของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน)  อีกทั้งคุณแม่ควรเตรียมอาหารให้ลูกในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน ดังนี้

  • ผักผลไม้ 2-3 ช้อนโต๊ะ หากไม่มีอาการท้องอืด หรือท้องผูก/ท้องเสีย จึงค่อย ๆ เพิ่มเป็น 4-8 ช้อนโต๊ะ ควรให้ลูกรับประทาน 1-2 ครั้ง/วัน
  • ผลิตภัณฑ์ธัญพืช 1-2 ช้อนโต๊ะ และค่อย ๆ เพิ่มเป็น 2-4 ช้อนโต๊ะ โดยอาจผสมกับอาหารในแต่ละมื้อ
  • เนื้อสัตว์และอาหารที่มีโปรตีน 1-2 ช้อนโต๊ะ และค่อย ๆ เพิ่มเป็น 2-4 ช้อนโต๊ะ ควรให้ลูกรับประทาน 2 ครั้ง/วัน
  • มื้อแรกที่ฝึกให้ลูกรับประทานอาหารมีเนื้อสัมผัสหยาบ ควรเริ่มต้นด้วยปริมาณเล็กน้อย เพื่อให้ลูกคุ้นชินกับรสชาติอาหารและเนื้อสัมผัสใหม่ หากสังเกตว่าลูกรับประทานอาหารได้ราบรื่น คุณแม่จึงค่อย ๆ เพิ่มสารอาหารอื่น ๆ เข้าไป

อาหารที่ลูก 6 เดือน ควรหลีกเลี่ยง

หากครอบครัวมีประวัติการแพ้อาหาร อาจส่งผลให้เด็กเสี่ยงแพ้อาหารได้เช่นกัน ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่มีประวัติการแพ้อาหารประเภทใด อาจให้ลูกหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนั้นด้วยเช่นกัน

หรือคอยสังเกตอาการแพ้อาหารอย่างใกล้ชิด หากมีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด หายใจลำบาก ลมพิษ ควรพาลูกเข้ารับการรักษาทันที และแจ้งให้คุณหมอทราบถึงอาหารที่ลูกรับประทาน

สำหรับอาหารที่ลูก 6 เดือน ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้

  • น้ำผึ้ง เพราะอาจส่งผลให้ทารกเสี่ยงเป็นโรคโบทูลิซึม (Botulism) ที่เกิดจากแบคทีเรีย
  • อาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไข่ ปลา ถั่วลิสง หอย
  • อาหารที่มีไขมัน เกลือ น้ำตาลสูง และอาหารแปรรูป เช่น ป๊อปคอร์น ฮอทด็อก เค้ก บิสกิต เครื่องดื่มรสหวาน น้ำอัดลม อาหารกระป๋อง
  • นมข้นหวาน เพราะอาจทำให้เด็กได้รับแคลอรีมากเกินไป เสี่ยงเป็นโรคอ้วน และไม่ได้รับวิตามิน
  • อาหารดิบไม่ผ่านการปรุงสุก มักมีแบคทีเรียหรือเชื้อก่อโรคปนเปื้อน หากรับประทานอาหารไม่ผ่านการปรุงสุก อาจส่งผลให้เกิดอาหารเป็นพิษ หรือติดเชื้อได้

เคล็ดลับการป้อนอาหารแข็งให้ลูก

เคล็ดลับการป้อนอาหารแข็งให้ลูกในช่วงแรก คุณแม่สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้

  • รักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหารให้ทารก หรือก่อนหยิบจับช้อนเพื่อป้อนอาหารทารก
  • บด หรือหั่นอาหารให้ชิ้นเล็กที่สุด และต้มวัตถุดิบให้เปื่อย มีความนิ่ม
  • ให้ลูกรับประทานอาหารในปริมาณน้อย โดยอาจเริ่มจากการใช้ช้อนชา หากสังเกตว่าลูกรับประทานได้เป็นปกติจึงเพิ่มขนาดเป็นช้อนโต๊ะ
  • ไม่ควรให้อาหารสำเร็จรูป ปรุงอาหารด้วยเกลือ น้ำตาล อีกทั้งควรล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนนำมาทำอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อแบคทีเรีย เชื้อโรคที่อยู่ตามดิน
  • ไม่ควรให้ซีเรียลที่มีธาตุเหล็กจนกว่าทารกจะอายุได้ 18 เดือน
  • สอนให้ทารกจับช้อน หรือให้มือเขาจับช้อนโดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยประคอง เพื่อให้ลูกจดจำว่าควรจับช้อนตักอาหาร ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการให้ทารกรับประทานอาหารได้เองเมื่อเติบโต (ไม่ต้องบังคับ เน้นการรับประทานอย่างมีความสุข)
  • ไม่ควรเติมนมวัวในอาหารให้แก่ทารกจนกว่าจะมีอายุ 1 ขวบ เพราะอาจทำให้เด็กทารกไม่ได้รับสารอาหารที่เหมาะสม
  • หากเด็กไม่ชอบรับประทานอาหารแข็ง คุณแม่ควรใช้วิธีการทำอาหารที่ดึงดูดสายตา ด้วยการเพิ่มสีสันของอาหารด้วยผัก หรือทำรูปทรงอาหารให้ดูน่ารับประทาน เช่น หั่นผักเป็นรูปหัวใจ ดาว และอาจปรับเปลี่ยนรูปร่างหรือเมนูข้าวเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกเบื่ออาหารเดิม ๆ

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Feeding Guide for the First Year. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=feeding-guide-for-the-first-year-90-P02209 . Accessed October 29, 2021

What to feed your baby. https://www.nhs.uk/start4life/weaning/what-to-feed-your-baby/around-6-months/ . Accessed October 29, 2021

Starchy foods and carbohydrates. https://www.nhs.uk/live-well/eat-well/starchy-foods-and-carbohydrates/ . Accessed October 29, 2021

Benefits of Protein. https://www.webmd.com/diet/benefits-protein#1 . Accessed October 29, 2021

Why 5 A Day?. https://www.nhs.uk/live-well/eat-well/why-5-a-day/ . Accessed October 29, 2021

Health Benefits of Vegetables. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-vegetables# . Accessed October 29, 2021

Fermented milk. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1481/fermented-milk . Accessed October 29, 2021

Children’s nutrition: 10 tips for picky eaters. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/childrens-health/in-depth/childrens-health/art-20044948 . Accessed October 29, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/05/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

นมผงสำหรับทารก นมทางเลือกสำหรับทารกที่ไม่ได้กินนมแม่

พัฒนาการทารก ในช่วงขวบปีแรกของแต่ละเดือนเป็นอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 23/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา