backup og meta

ความเชื่อผิด ๆ เรื่อง โรคภูมิแพ้อาหาร เชื่อแบบนี้อาจเป็นอันตรายได้!

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 12/10/2020

    ความเชื่อผิด ๆ เรื่อง โรคภูมิแพ้อาหาร เชื่อแบบนี้อาจเป็นอันตรายได้!

    รู้หรือไม่ว่า โรคภูมิแพ้อาหาร หรือการแพ้อาหาร (Food allergy) ไม่ใช่โรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทารก และเด็กเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดกับขึ้นได้ในทุก ๆ ช่วงวัย อาหารที่คุณเคยกินได้ปกติ ไม่เคยแพ้มาก่อน วันหนึ่งคุณกินแล้วอาจแพ้ขึ้นมาก็ได้ ปัจจุบันยังมีผู้คนอีกมากที่เข้าใจผิด หรือมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการแพ้อาหาร ว่าแต่ ความเชื่อผิด ๆ เรื่องโรคภูมิแพ้อาหารของคนส่วนใหญ่นั้นมีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลย

    ความเชื่อผิดๆ ที่ 1

    โรคภูมิแพ้อาหาร ไม่ใช่เรื่องใหญ่

    ข้อเท็จจริง

    ภูมิแพ้อาหาร ไม่ใช่แค่ทำให้คัน หรือปวดท้อง ท้องเสียเท่านั้น แต่ยังสามารถก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้อีกมากมาย ตั้งแต่ลมพิษ คัดจมูก อาเจียน หายใจลำบาก ไปจนถึงหมดสติ และหากอาการแพ้รุนแรง หรือส่งผลต่ออวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ก็จะกลายเป็นอาการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งอันตรายถึงชีวิต เพื่อความปลอดภัย ผู้เป็นภูมิแพ้อาหารและคนรอบข้างจึงควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงอาหารก่อภูมิแพ้ให้ดี

    ความเชื่อผิดๆ ที่ 2

    แม้จะแพ้ แต่กินแค่นิดเดียวคงไม่เป็นไร

    ข้อเท็จจริง

    สำหรับผู้เป็นภูมิแพ้อาหารบางราย แค่อาหารก่อภูมิแพ้เพียงเล็กน้อยก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ ฉะนั้น ก่อนจะกินอาหารอะไร คุณต้องแน่ใจว่าอาหารนั้น ๆ ปลอดภัย ปราศจากอาหารก่อภูมิแพ้ และต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้อาหารที่ปลอดภัยไปสัมผัสกับอาหารก่อภูมิแพ้โดยไม่ตั้งใจ (cross-contact) ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดจากภูมิแพ้อาหาร

    ความเชื่อผิดๆ ที่ 3

    อาการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นมีแต่จะยิ่งแย่ลง

    ข้อเท็จจริง

    อาการแพ้อาหารเป็นอะไรที่คาดการณ์ไม่ได้ นั่นเพราะร่างกายคุณอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองต่ออาหารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ แต่ละครั้งไม่เหมือนกัน คุณจึงไม่สามารถกำหนดได้ว่า ครั้งต่อไปร่างกายจะตอบสนองต่ออาหารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นอย่างไร อาการแพ้จะเบา ปานกลาง หรือรุนแรงแค่ไหน ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงควรพกยาฉุกเฉินติดตัว และเตรียมพร้อมรับมือกับอาการของโรคภูมิแพ้อาหารอยู่เสมอ

    ความเชื่อผิดๆ ที่ 4

    ส่วนประกอบของอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ถูกระบุไว้บนฉลากแล้ว

    ข้อเท็จจริง

    กฎระเบียบของสหรัฐอเมริกาเรื่อง ฉลากอาหารก่อภูมิแพ้ (Food Allergen Labeling and Consumer Protection Act หรือ FALCPA) กำหนดว่า อาหารก่อภูมิแพ้ 8 ชนิดที่พบว่า มีผู้แพ้มากที่สุด และต้องระบุบนฉลากอาหารอย่างชัดเจน สังเกตได้ง่าย ได้แก่

    อย่างไรก็ตาม อาจมีบางคนที่แพ้อาหารชนิดอื่นนอกเหนือจากอาหารก่อภูมิแพ้ 8 ชนิดนี้ เช่น แพ้ข้าวโพด แพ้มะเขือเทศ ซึ่งอาจไม่ได้ระบุไว้บนฉลากอาหาร หรือระบุไว้ในจุดที่สังเกตได้ยากกว่า ฉะนั้น ผู้ที่เป็นภูมิแพ้อาหารจึงควรอ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์อาหารก่อนเลือกซื้อทุกครั้ง หรือถามผู้เกี่ยวข้องให้ละเอียดก่อนว่าอาหารที่จะกินมีอาหารที่คุณแพ้เป็นส่วนประกอบหรือไม่

    ความเชื่อผิดๆ ที่ 5

    โรคภูมิแพ้อาหารที่อันตรายที่สุด คือ ภูมิแพ้ถั่วลิสง

    ข้อเท็จจริง

    ภูมิแพ้อาหารทุกชนิดนั้นอันตรายไม่ต่างกัน อาหารทุกชนิดล้วนเป็นเหตุให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่ 8 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น และหากคุณเป็นภูมิแพ้อาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใด แค่คุณกินอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปในปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้แล้ว

    ความเชื่อผิดๆ ที่ 6

    ไม่เห็นรายชื่อสารก่อภูมิแพ้ เท่ากับว่าอาหารนั้น  ๆ ปลอดภัย

    ข้อเท็จจริง

    สารก่อภูมิแพ้ (Allergen) หรืออาหารก่อภูมิแพ้สามารถปรากฏได้ทุกที่แม้ในที่ ๆ ไม่คาดคิด เช่น ปลาย่างหรือกุ้งย่าง บางครั้งอาจนำไปจุ่มหรือทานมเพื่อลดกลิ่นคาว แต่ไม่ได้ระบุไว้ให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจนว่า ปลาหรือกุ้งย่างจานนั้นมีนมเป็นส่วนประกอบ เมื่อผู้แพ้นมไม่รู้ และกินเข้าไป เลยทำให้เกิดอาการแพ้ คุณจึงไม่ควรทึกทักเอาเองว่า อาหารแต่ละจานมีวัตถุดิบใดเป็นส่วนประกอบ หรือปรุงแต่งด้วยกรรมวิธีใด ควรอ่านส่วนประกอบ หรือคำอธิบายเมนูให้ละเอียด หากไม่มีข้อมูลแจ้ง ก็ควรสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนเพื่อความแน่ใจ

    ความเชื่อผิดๆ ที่ 7

    แค่ตรวจเลือดก็บอกได้แล้วว่าคุณแพ้อาหารหรือไม่

    ข้อเท็จจริง

    การตรวจเลือด และการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังไม่ได้แม่นยำเสมอไป เพราะผลตรวจที่ออกมา 50-60% อาจเป็นผลบวกลวง หรือผลบวกที่ผิดพลาด (False positive) ที่บอกว่าเราเป็นโรคหรือภาวะนั้น ๆ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็น ทางที่ดีที่สุด คุณควรปรึกษาเรื่องผลตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ และหากยังไม่แน่ใจควรทดสอบด้วย “การแพ้อาหารที่สงสัยโดยการให้ลองรับประทาน’ (Oral Food Challenge Test) ซึ่งสามารถระบุได้แม่นยำขึ้นว่าคุณแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ หรือไม่

    ความเชื่อผิดๆ ที่ 8

    ภูมิแพ้อาหารจะเกิดในวัยเด็กเสมอ และไม่สามารถหายได้

    ข้อเท็จจริง

    ภูมิแพ้อาหารเป็นโรคที่พบได้บ่อยในทารกและเด็ก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย อาหารที่คุณเคยกินได้ปกติ วันหนึ่งคุณอาจกินแล้วเกิดอาการแพ้ขึ้นมาก็ได้ แม้ว่าภูมิแพ้อาหารจะไม่มียารักษาให้หายขาด แต่ก็ใช่ว่าต้องเป็นไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยภูมิแพ้อาหาร โดยเฉพาะเด็ก ๆ สามารถหายจากโรคภูมิแพ้อาหารได้ การศึกษาวิจัยพบว่า ในบางพื้นที่ เด็กกว่า 90-95% ที่เป็นภูมิแพ้นม ไข่ ถั่วเหลือง และข้าวสาลี สามารถหายจากอาการภูมิแพ้ได้เมื่อโตขึ้น แต่หากแพ้ถั่วที่โตบนดิน ถั่วลิสง ปลา และสัตว์น้ำจำพวกมีเปลือกจะมีโอกาสหายแพ้ได้ยากกว่า

    หากคุณยังคงมีความกังวล หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม แนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะได้ตรวจสอบร่างกายคุณอย่างละเอียดว่าคุณกำลังประสบกับอาการแพ้อาหารในระดับใด ซึ่งถือว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการทราบข้อมูล และวิธีดูแลตนเองในเรื่องของการรับประทานอาหารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 12/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา