หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่มีใจรักในการออกกำลังกาย คุณก็ต้องระมัดระวังเรื่องการได้รับการบาดเจ็บจนเกิดเป็น รอยฟกช้ำ ที่ผิวหนังด้วยนะคะ วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาคุณไปทำความรู้จักกับอาการฟกช้ำ และวิธีดูแลรอยฟกช้ำให้บรรเทาลงได้ ว่าแต่รอยฟกช้ำจะมีลักษณะอาการอย่างไร และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง Hello คุณหมอ จะพาไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
รอยฟกช้ำ… อาการบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง
รอยฟกช้ำ (Bruise) เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังได้รับบาดเจ็บ ทำให้เส้นเลือดเล็ก ๆ ที่เรียกว่า เส้นเลือดฝอย แตกจนมีเลือดไหลออกมาจากเส้นเลือดฝอย และสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีสีแดงอมน้ำตาล เกิดเป็นรอยฟกช้ำ รอยช้ำสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย บางท่านอาจจะยังไม่ทันสังเกตเห็นเมื่อมีรอยช้ำเพียงเล็กน้อย แต่หากมีรอยฟกช้ำรุนแรงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
ออกกำลังกายหนักเกินไป เป็นสาเหตุให้เกิดรอยฟกช้ำ
การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เช่น การยกน้ำหนัก การว่ายน้ำ การวิ่ง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผิวหนังเกิด ฟกช้ำ แต่ปัจจัยอื่น ๆ ต่อไปนี้ ก็สามารถทำให้เกิดรอย ฟกช้ำ ได้เช่นกัน
- ได้รับบาดเจ็บ เช่น ข้อเท้าแพลง การกระแทกของแข็ง การหกล้ม ก็ทำให้ผิวหนังเกิดรอยช้ำได้
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างรอยช้ำที่ผิวหนังได้
- ผิวเสื่อมตามวัย เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังและเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังจะบางลง ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ง่ายขึ้น
- การรับประทานยาหรืออาหารเสริม ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด อาจทำให้เกิดอาการรอยฟกช้ำได้
สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดรอย ฟกช้ำ
- รู้สึกเจ็บปวดและมีอาการบวมในบริเวณที่เกิดรอยฟกช้ำ
- รอยฟกช้ำที่เกิดขึ้นหลังจากการกระแทกรุนแรงหรือล้ม
- รอยฟกช้ำจากการรับประทานยาแก้ปวดแอสไพริน หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- รอยฟกช้ำที่เกิดขึ้นพร้อมกับการมีเลือดออกมาจากการปัสสาวะหรืออุจจาระ
- รอยฟกช้ำที่เกิดขึ้นพร้อมกับการมีเลือดออกมาจากเหงือก ปาก จมูก หรือดวงตา
- รอยฟกช้ำจากการเกิดกระดูกหัก
รอยช้ำ รักษาได้ ไม่ต้องกังวล
การรักษาเบื้องต้นด้วยตัวเอง
หากคุณพบว่าตนเองมีรอย ฟกช้ำ แต่อาการไม่รุนแรงมาก คุณสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง โดยวิธีการประคบเย็น ประมาณ 20-30 นาที และหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้ปวดแอสไพริน หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพราะจะทำให้เลือดแข็งตัวช้า และเสี่ยงทำให้เลือดไหลเพิ่มขึ้น
หลังเกิดอาการช้ำประมาณ 48 ชั่วโมง ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณที่เกิดรอยฟกช้ำเป็นเวลา 10 นาที หรือนำมาประคบ 2-3 ครั้ง/วัน เพื่อช่วยในการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณที่มีรอยฟกช้ำ
การรักษาโดยแพทย์
ในเบื้องต้นนั้น แพทย์จะรักษารอย ฟกช้ำ เหมือนวิธีข้างต้นที่กล่าวไป คือ การประคบเย็น ประคบร้อน และแนะนำยาที่ใช้รับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวด หากผู้ป่วยมีอาการฟกช้ำรุนแรง แพทย์จะทำการรักษาอาการตามสาเหตุของรอยฟกช้ำ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับบทความที่นำมาฝากกันในวันนี้ รอยฟกช้ำสามารถรักษาได้ด้วยตนเองและไม่น่ากลัวอย่างที่คิดนะคะ แต่หากพบว่าตนเองมีอาการฟกช้ำรุนแรง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
[embed-health-tool-bmi]