backup og meta

รับมืออย่างไร เมื่อรู้ว่าตัวเอง เป็นโรคเนื้องอกในสมอง

รับมืออย่างไร เมื่อรู้ว่าตัวเอง เป็นโรคเนื้องอกในสมอง

การได้รับผลวินิจฉัยว่าตัวคุณเป็น โรคเนื้องอกในสมอง นั้นนับได้ว่าเป็นข่าวร้าย ที่ไม่ว่าใครต่างก็ไม่อยากจะพบเจอกันทั้งนั้น เนื้องอกในสมองเป็นความผิดปกติของเซลล์ในสมอง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ทำให้เป็นอัมพาต และอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้ การ รับมือ เมื่อต้องรับรู้ว่าตัวเองเป็น เนื้องอกในสมอง นั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราสามารถทำได้บทความนี้ Hello คุณหมอ นำว่ารับมือกับตนเอง เมื่อเป็น โรคเนื้องอกในสมอง มาฝากกันค่ะ

รับมือ เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็น เนื้องอกในสมอง ได้อย่างไร

รับมือกับความรู้สึกของตัวเอง

การได้รับข่าวร้ายว่าคุณมีเนื้องอกในสมองนั้นอาจทำให้คุณรู้สึกช็อค หวาดกลัว และกังวลใจ บางครั้งความรู้สึกหวาดกลัวนั้นอาจจะล้นหลามจนทำให้คุณสับสน งุนงง และทำอะไรไม่ถูก บ้างก็อาจจะเสียใจ ซึมเศร้า วิตกกังวล โกรธเกรี้ยว และตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นกับตัวเอง

คุณอาจจะมีความรู้สึกที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น หรืออาจจะรู้สึกอย่างอื่นไปเลย คนเราแต่ละคนมีปฏิกิริยาตอบสนองกับข่าวร้ายนี้แตกต่างกัน บางคนอาจจะเกิดความคิดบวก หาหนทางรักษา หรือพยายามใช้ชีวิตต่อไปอย่างเต็มที่ แต่บางคนก็อาจจะปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง หรือรู้สึกสิ้นหวังอย่างรุนแรง จนไม่ยอมทำอะไร

การมีความรู้สึกเหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่ว่าใครต่างก็คงไม่อยากที่จะต้องพบเจอกับเรื่องเหล่านี้กันทั้งนั้น แต่สิ่งที่สำคัญ ที่ผู้ป่วยเป็น โรคเนื้องอกในสมอง ทุกคนควรจะทำ คือการยอมรับความจริง จัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ และก้าวต่อไป

บ่อยครั้งที่ความรู้สึกวิตกกังวลซึมต่อเนื้องอกในสมองและต่อการรักษาที่จะเกิดขึ้นนั้น อาจจะนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ แม้ว่าอาการนี้จะเป็นเรื่องปกติ แต่ความรู้สึกเหล่านี้ก็อาจเพิ่มความตึงเครียด และอาจกลายเป็นอุปสรรคในการรักษาได้ ทางที่ดีคุณจึงควรปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการรักษาและจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ของคุณอย่างถูกต้อง

รับมือกับผลข้างเคียงของการรักษา

การรักษา โรคเนื้องอกในสมอง อาจช่วยให้คุณหายจากโรคนี้ หรือช่วยบรรเทาอาการของโรค และช่วยให้คุณมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็นำมาซึ่งผลข้างเคียงด้วยเช่นกัน

การรักษา โรคเนื้องอกในสมอง นั้นอาจจะมีอยู่มากมายหลายวิธี และไม่ว่าคุณจะเลือกใช้วิธีไหนๆ ต่างก็มีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไปทั้งนั้น ผลข้างเคียงเหล่านี้อาจจะขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความรุนแรงของโรค จุดที่มีเนื้องอก ระยะเวลาและระดับการรักษา และสุขภาพโดยรวมของคุณ คุณควรจะปรึกษากับแพทย์ และแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่คุณพบเจอเป็นประจำ โดยเฉพาะหากเกิดผลข้างเคียงใหม่ๆ หรือมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางร่างกาย เพื่อที่แพทย์จะได้หาทางจัดการกับผลข้างเคียงเหล่านี้ ช่วยให้คุณรู้สึกสบายขึ้น และคอยเฝ้าระวังหากผลข้างเคียงใดมีอาการรุนแรงขึ้น

ผลข้างเคียงของการรักษาที่คุณอาจจะพบเจอได้มากที่สุด คืออาการปวดหัวจากภาวะบวมน้ำ ภาวะบวมน้ำคืออาการบวมภายในสมองที่เกิดจากเนื้องอกหรือการรักษา แพทย์มักจะให้ยาสเตียรอยด์ (Steroids) เพื่อลดอาการบวมเหล่านี้ แต่ยาสเตียรอยด์ก็จะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น นอนไม่หลับ เหงื่อออก กินมากเกินไป หรือกระสับกระส่ายได้ ในบางครั้งอาการปวดหัวเหล่านี้อาจมาพร้อมกับอาการวิงเวียน คลื่นไส้ และอาเจียน อาการเหล่านี้มักจะเกี่ยวข้องกับจุดที่เกิดเนื้องอกในสมอง การผ่าตัดเนื้องอกออกจะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวนี้ได้

รับมือกับผลกระทบทางสังคม

เมื่อเรารับรู้ว่าตัวเองมีเนื้องอกในสมองนั้น คนส่วนใหญ่มักจะได้รับผลกระทบทางอารมณ์ มากพอๆ กับผลกระทบทางร่างกาย ผู้ป่วยเป็น โรคเนื้องอกในสมอง จะต้องรับมือกับสภาวะทางอารมณ์ เช่น โศกเศร้า วิตกกังวล หงุดหงิด หรือจัดการกับความเครียดที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บ่อยครั้งที่ผลกระทบทางอารมณ์เหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อตัวผู้ป่วย แต่อาจจะส่งผลไปถึงคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่คุณรักอีกด้วย ผู้ป่วยที่ต้องรับมือกับอาการป่วยอาจไม่สามารถสื่อสารและถ่ายทอดความรู้สึกของตัวเองไปสู่ผู้อื่นได้ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน และอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองอยู่ตัวคนเดียว ไม่เหลือใคร

ผู้ป่วยควรพูดคุยกับเพื่อนและคนในครอบครัวเกี่ยวกับปัญหาเรื่องเนื้องอกในสมอง เพื่อให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือและให้การสนับสนุนได้ ในบางครั้งผู้ป่วยอาจจะรู้สึกว่าการคุยกับผู้อื่น อาจจะง่ายกว่าคุยกับเพื่อนและคนรอบข้าง ผู้ป่วยควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทีมแพทย์ผู้ดูแล หรือผู้ที่ประสบปัญหาเดียวกันกับคุณ เพื่อหาหนทางและช่วยกันจัดการรับมือกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น เมื่อต้องรับมือกับ โรคเนื้องอกในสมอง

รับมือกับผลกระทบทางการเงิน

การรักษา โรคเนื้องอกในสมอง นั้นจำเป็นต้องใช้เงินอย่างมากมายมหาศาล และอาจกลายเป็นสาเหตุสำคัญของความเครียดและความวิตกกังวลที่ผู้ป่วยและคนรอบข้างจะต้องเผชิญ นอกเหนือจากค่ารักษาราคาแพงแล้ว คุณก็อาจจะต้องเสียเงินไปกับการดูแลรักษาร่างกาย ที่ไม่ได้คาดคิดอีกด้วย

ค่ารักษาที่ราคาแพงนี้อาจจะเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถรับการรักษาได้อย่างเต็มที่ ปัญหานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ป่วย และนำซึ่งค่ารักษาเพิ่มเติมที่ต้องจ่ายในภายหลังได้ หากผู้ป่วยและคนในครอบครัวมีปัญหาทางด้านการเงินเกี่ยวกับค่ารักษา ควรปรึกษาปัญหาเหล่านี้กับทีมแพทย์ผู้ดูแล เพื่อหาทางออกสำหรับปัญหาเหล่านี้

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Coping with brain tumours https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/brain-tumours/living-with/coping. Accessed 14 December 2019

Brain Tumor: Coping with Treatment https://www.cancer.net/cancer-types/brain-tumor/coping-with-treatment. Accessed 14 December 2019

Coping with a Brain Tumor https://www.cancersupportcommunity.org/coping-brain-tumor#tab1. Accessed 14 December 2019

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/07/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะวิตกกังวล หลังการสูญเสีย อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจมากกว่าที่คิด

อาหารบำรุงสมองผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงสมองเสื่อม เพิ่มความจำ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 24/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา