backup og meta

สิวฮอร์โมน สาเหตุ และวิธีรักษา

สิวฮอร์โมน สาเหตุ และวิธีรักษา

สิวฮอร์โมน เกิดจากความผกผันของฮอร์โมนที่ทำให้กลายเป็นสิว นอกจากจะต้องรักษาความสะอาดใบหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้สิวที่มีอยู่กำเริบหรือเพิ่มมากขึ้นแล้ว ก็อาจจำเป็นต้องมีการรักษาทางการแพทย์เพื่อจัดการกับความแปรปรวนของฮอร์โมนในร่างกายด้วย 

สิวฮอร์โมน คืออะไร

สิวฮอร์โมนเป็นสิวที่เกิดมาจากความผันผวนของฮอร์โมน เช่น เอนโดรเจน (Androgen) อย่างเทสโทสเตอโรน (Testosterone) หรือฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือโปรเจสเตอโรน (Progesterone) โดยความไม่ปกติของฮอร์โมนเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้ต่อมผลิตน้ำมันใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum) ออกมามากกว่าปกติ จนอาจทำให้ผิวหน้าหรือหนังศีรษะมัน และความมันขึ้น และหากซีบัมหรือน้ำมันส่วนเกินผสมกับสิ่งสกปรกหรือเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดสิวได้

สิวฮอร์โมนมักจะเกิดขึ้นในบริเวณทีโซน (T-zone) ได้แก่ หน้าผาก จมูก และคาง แต่สำหรับบางคน อาจมีสิวฮอร์โมนเป็นสิวผดเม็ดเล็ก ๆ สิวหัวดำ หรือสิวหัวขาว โดยอาจจะขึ้นที่บริเวณกราม หรือช่วงล่างแก้ม หรือหน้าผาก สิวฮอร์โมนอาจพบมากในผู้หญิง โดยเฉพาะในช่วงที่มีประจำเดือนหรือเป็นเมนส์ เนื่องจากระดับฮอร์โมนไม่คงที่

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิวฮอร์โมน

หลายคนอาจเข้าใจว่าสิวฮอร์โมนพบมากแค่ในกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น เพราะเป็นช่วงที่มีโอกาสพบกับความผันผวนของฮอร์โมนมากที่สุดแล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มแตกเนื้อหนุ่มเนื้อสาวในวัย 14-15 ปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ใหญ่ที่ไม่ได้มีอายุอยู่ในช่วงวัยรุ่น หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี หากมีระดับของเทสโทสเตอโรน หรือเอสโตรเจนผันผวน ก็สามารถเป็นสิวฮอร์โมนได้เช่นกัน

สำหรับผู้หญิงอาจจะพบสิวฮอร์โมนได้บ่อยทั้งในช่วงที่เป็นประจำเดือน รวมถึงช่วงที่ก้าวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง หรือผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ก็ถือว่าอยู่ในช่วงที่งฮอร์โมนไม่สมดุล และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสิวได้

ทำอย่างไรเมื่อเป็นสิวฮอร์โมน

ไม่ว่าจะเป็นสิวเพราะสิ่งสกปรก เป็นสิวเพราะหน้ามัน เป็นสิวฮอร์โมน สิวที่เกิดจากอาการแพ้ หรือสิวแบบใดก็ตาม การดูแลและทำความสะอาดผิวหน้าให้ดีด้วยวิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการของสิวที่เป็นอยู่ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสิวได้

  • ล้างหน้าให้สะอาดและล้างหน้าอย่างเบามือ วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือหากเหงื่อออกมาก เช่น หลังออกกำลังกาย ไม่ควรล้างหน่าบ่อยเกินไป 
  • เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่อ่อนโยนและลดการระคายเคือง 
  • ไม่ใช้น้ำร้อนล้างหน้า
  • หลีกเลี่ยงการใช้สครับหรือการขัดผิวหน้าอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวและสิวระคายเคือง หรืออักเสบได้
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าหรือใช้เครื่องสำอาง หรือหากจำเป็นควรเลือกผลิตภัณฑ์สูตรน้ำ (water-based cosmetics) ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน อักเสบ หรือระคายเคือง
  • พยายามหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ร้อนและชื้น หรือสภาวะที่จะทำให้เหงื่อออกมากขึ้น

นอกจากการดูแลรักษาความสะอาดของผิวหน้าแล้ว ปัญหาสิวที่เกิดจากความผันผวนของฮอร์โมนอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย โดยคุณหมออาจรักษาด้วยยา เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาต้านแอนโดรเจน หรืออาจต้องทายาที่มีส่วนผสมของเรตินอยด์ อย่างไรก็ตาม ควรใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมอหรือเภสัชกรเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาผิว หรือปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากสิวฮอร์โมน หรือสิวอื่น ๆ ที่เป็นอยู่ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือปริมาณของเม็ดสิวไม่ลดลงแม้จะดูแลผิวอย่างดีที่สุดแล้ว ควรเข้าพบคุณหมอผิวหนัง เพื่อรับการวินิจฉัย คำแนะนำ และการรักษาที่เหมาะสมและตรงจุด

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hormonal treatment of acne vulgaris: an update. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5015761/. Accessed November 30, 2021

ADULT ACNE. https://www.aad.org/public/diseases/acne/really-acne/adult-acne. Accessed November 30, 2021

Hormonal Acne. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21792-hormonal-acne. Accessed November 30, 2021

Adult acne: Can natural hormone treatments help?. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/expert-answers/adult-acne/faq-20058129. Accessed November 30, 2021

THE USE OF HORMONAL AGENTS IN THE TREATMENT OF ACNE. https://www.scmsjournal.com/article/buy_now/?id=342. Accessed November 30, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/04/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีการทำแผ่นลอกสิวเสี้ยนด้วยตัวเอง

สิวที่หัว สาเหตุ ประเภท และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา