backup og meta

เรื้อนกวาง (Psoriasis) คืออะไร เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

เรื้อนกวาง (Psoriasis) คืออะไร เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

เรื้อนกวาง หรือเรียกอีกอย่างว่า โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังที่ส่งผลให้เกิดผื่น ผิวหนังเป็นสะเก็ด อาการคันได้เล็กน้อย และอาจมีอาการปวด ส่วนใหญ่มักเป็นบริเวณหัวเข่า ข้อศอก หนังศีรษะ ลำตัว ซึ่งไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่มีวิธีบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้

[embed-health-tool-heart-rate]

เรื้อนกวาง คืออะไร

เรื้อนกวาง หรือโรคสะเก็ดเงิน คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังเพิ่มจำนวนเร็วผิดปกติ จนไม่สามารถผลัดเซลล์ผิวเก่าออกได้ทัน แล้วสะสมกันเป็นสะเก็ดหนาสีแดง มีขุยขาว ๆ และมีอาการคัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การนอนหลับพักผ่อน ไม่มีสมาธิในการทำงาน ส่วนใหญ่อาการของโรคเรื้อนกวางมักจะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน 2-3 สัปดาห์ หรือหลายเดือน แล้วจึงค่อย ๆ บรรเทาลง แต่อาจเกิดขึ้นซ้ำ ๆ บ่อยครั้ง เนื่องจากไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีที่ช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนังและช่วยบรรเทาอาการเรื้อนกวางไม่ให้แย่ลงได้

สาเหตุของเรื้อนกวาง

สาเหตุของเรื้อนกวางเกิดจากคววามผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังรวดเร็วจนเกินไป โดยปกติแล้วร่างกายจะผลิตเซลล์ผิวหนังใหม่แทนที่เซลล์ผิวหนังเก่าทุก ๆ 10-30 วัน แต่สำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติอาจผลิตเซลล์ผิวใหม่ทุก ๆ 3-4 วัน จนไม่สามารถผลัดเซลล์ผิวเก่าออกได้ทัน จึงส่งผลให้ผิวหนังก่อตัวหนาเป็นสะเก็ด

นอกจากนี้ ปัจจัยทางเสี่ยงต่าง ๆ อาจเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดเรื้อนกวางได้ ดังนี้

  • พันธุกรรมจากคนในครอบครัว หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นเรื้อนกวาง บุตรหลานก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อนกวางได้เช่นกัน
  • สภาพอากาศหนาวและแห้ง
  • การบาดเจ็บที่ผิวหนัง เช่น บาดแผลจากของมีคม ผิวถูกแดดเผาไหม้ แมลงกัดต่อย
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • ความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษามาลาเรีย ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

เรื้อนกวาง มีอาการอะไรบ้าง

อาการของเรื้อนกวางอาจแตกต่างกันออกไปตามประเภทของเรื้อนกวาง ดังนี้

  • เรื้อนกวางแบบปื้นใหญ่ เป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด และมักปรากฏให้เห็นบริเวณข้อศอก หัวเข่า หนังศีรษะ และหลังส่วนล่าง โดยสังเกตได้จากอาการผิวแห้ง ผิวเป็นสะเก็ดสีขาวและผิวหนังอักเสบแดง
  • เรื้อนกวางที่หนังศีรษะ อาจก่อให้เกิดสะเก็ดหนาบนหนังศีรษะเป็นหย่อม ๆ มีขุยสีออกขาวเงินและอาจมีอาการคันระคายเคือง
  • เรื้อนกวางที่เล็บ อาจสังเกตได้จากเล็บเป็นรอยบุบหรือหลุมเล็ก ๆ เล็บเปราะบาง เล็บยกตัวเล็บหนาที่เกิดจากการสะสมของเซลล์ผิวหนังใต้เล็บ เล็บเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล
  • เรื้อนกวางตามข้อพับ มักมีรอยแดงยาวที่ผิว ไม่เป็นเกล็ดหนา ไม่เป็นเกล็ดหนา อาจมีอาการแสบระคายเคืองได้ โดยมักเกิดขึ้นตามข้อพับต่าง ๆ ทั่วทั้งร่างกาย เช่น ขาหนีบ รักแร้ ใต้หน้าอก และอาการอาจแย่ลงหากถูกเสียดสีหรือมีเหงื่อออกมาก
  • เรื้อนกวางชนิดหนอง มักมีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ สีแดง ชมพู หรือน้ำตาล และอาจมีตุ่มหนองร่วมด้วย มักเกิดตามผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ที่อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากและผิวหนังบวมแดง
  • เรื้อนกวางชนิดตัวแดง เป็นประเภทที่รุนแรงและอันตรายมากที่สุด โดยสังเกตได้จากผื่นลามเป็นขุยลอก ทำให้ตัวแดงทั้งตัว แสบร้อนได้ มีผลข้างเคียงเป็นอาการไข้สูง หนาวสั่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการคันรุนแรง และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้

หากสังเกตว่าอาการรุนแรงขึ้น เช่น ผิวเป็นสะเก็ดหนามากและลุกลามไปแทบทุกส่วนของร่างกาย หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ รู้สึกแสบร้อนที่ผิวหนัง อาการคันที่ทำให้นอนหลับยากและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเข้ารับการรักษาจากคุณหมอในทันที เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคข้ออักเสบ ภาวะซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง เยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด

วิธีรักษาเรื้อนกวาง

การรักษาเรื้อนกวางมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนัง ลดอาการอักเสบ และบรรเทาอาการคันเท่านั้น เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยอาจใช้วิธีดังต่อไปนี้

  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นยาที่มีในรูปแบบแบบครีม โลชั่น เจล สเปรย์ แชมพู ขี้ผึ้ง และฉีด เพื่อใช้รักษาเรื้อนกวาง เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการในระดับเบาจนถึงระดับปานกลาง โดยควรใช้วันละ 1 ครั้ง อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้ไม่ควรใช้เป็นเวลานาน เพราะอาจเสี่ยงทำให้ผิวหนังบางลงได้
  • ยาเรตินอยด์ ใช้สำหรับสะเก็ดเงินบางประเภท เช่น ทาซาโรทีน (Tazarotene) อาซิเทรติน (Acitretin) ที่มีในรูปแบบรับประทาน ฉีด และทาเฉพาะที่ เพื่อช่วยลดการผลิตเซลล์ผิวหนัง โดยควรทาบริเวณผิวที่ได้รับผลกระทบวันละ 1-2 ครั้ง สำหรับยาในรูปแบบรับประทานควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มเรตินอยด์อาจไม่เหมาะสำหรับสตรีตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้
  • วิตามินดีสังเคราะห์ เช่น แคลซิไทรออล (Calcitriol) แคลซิโปไตรอีน (Calcipotriene) ใช้เพื่อช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนัง สามารถใช้ควบคู่กับยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ในรูปแบบทาเฉพาะที่เพื่อช่วยลดผลข้างเคียงของเสตียรอยด์
  • สารยับยั้งแคลซินิวริน (Calcineurin) เช่น ยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) ยาพิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) เพื่อช่วยลดการอักเสบและการสะสมของสะเก็ดผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่บอบบาง เช่น รอบดวงตา ยานี้อาจไม่เหมาะกับสตรีตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร รวมถึงไม่ควรใช้ในระยะยาวเนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) อาจช่วยลดขนาดสะเก็ดผิวหนัง ผลัดเซลล์ผิว และอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ยาชนิดอื่น ๆ ที่ใช้รักษา ทำให้ยาสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่ายขึ้น
  • น้ำมันดิน มีในรูปแบบแชมพู ครีม และออยล์ ใช้เพื่อช่วยลดการอักเสบและอาการคันของเรื้อนกวาง แต่อาจมีกลิ่นแรงและอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ จึงไม่สำหรับการใช้ในสตรีตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) เป็นยาในรูปแบบรับประทาน ใช้เพื่อช่วยลดการผลิตเซลล์ผิวหนังและลดการอักเสบ โดยปริมาณยาที่ได้รับขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพและอาการ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ตับอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง การมองเห็นเปลี่ยนแปลง ผิวหนังบวมและหัวใจเต้นผิดปกติ
  • ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) เป็นยาในรูปแบบรับประทาน ใช้เพื่อช่วยรักษาเรื้อนกวางในระดับรุนแรง และควบคุมอาการเรื้อนกวางไม่ให้แย่ลง โดยควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนดและไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกินกว่า 1 ปี เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ นอกจากนี้ ในระหว่างที่ใช้ยาอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อตรวจการทำงานของไตและตรวจระดับความดันโลหิตว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่
  • การบำบัดด้วยแสง เช่น ยูวีเอ (UVA) ยูวีบี (UVB) พียูวีเอ (PUVA) อาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเรื้อนกวางในระดับปานกลางถึงรุนแรงที่มีผื่นเป็นบริเวณกว้าง เพื่อช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง ทำให้อาการของเรื้อนกวางดีขึ้น การรักษาวิธีนี้จำเป็นต้องทำซ้ำหลายครั้ง ผลข้างเคียงของการรักษานี้คืออาจทำให้รู้สึกแสบผิว ผิวแห้ง ผิวแดง มีอาการคันหรืออาจเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้น จึงควรขอคำปรึกษาและวิธีการดูแลตัวเองหลังจากรักษา เพื่อลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงเหล่านี้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Psoriasis. https://www.nhs.uk/conditions/psoriasis/.Accessed December 20, 2022 

Psoriasis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/psoriasis/symptoms-causes/syc-20355840.Accessed December 20, 2022 

Psoriasis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/psoriasis/diagnosis-treatment/drc-20355845.Accessed December 20, 2022 

Psoriasis. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/psoriasis/understanding-psoriasis-basics.Accessed December 20, 2022 

PSORIASIS: SIGNS AND SYMPTOMS. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/PSORIASIS/WHAT/SYMPTOMS.Accessed December 20, 2022 

What is Psoriasis?. https://www.cdc.gov/psoriasis/index.htm.Accessed December 20, 2022 

Methotrexate (Anti-Rheumatic) Tablet – Uses, Side Effects, and More https://www.webmd.com/drugs/2/drug-3441/methotrexate-anti-rheumatic-oral/details.Accessed December 20, 2022 

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/02/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผื่นโควิดคันไหม อาการทางผิวหนังของโรคโควิด 19

จมูกลอก อาการ สาเหตุ และการดูแลผิว


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 03/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา