ผื่นผิวหนังอักเสบ เป็นปัญหาสุขภาพผิวที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อรา การแพ้สารระคายเคือง และสามารถขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย เช่น ข้อพับ คอ หน้าอก หลัง แขน ขา รักแร้ ร่องก้น ซึ่งวิธีการรักษานั้นอาจแตกต่างกันออกไป ดังนั้น หากสังเกตว่ามีผื่นแดงขึ้นบนผิวหนังควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
ผื่นผิวหนังอักเสบ เกิดจากอะไร
ผื่นผิวหนังอักเสบ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- การสัมผัสกับสารระคายเคือง เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์เลี้ยง ไรฝุ่น สบู่ ครีม ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม โลหะ นิกเกิล ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังหรือมีอาการแพ้ ที่อาจส่งผลให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ
- การแพ้สัมผัส สารเคมีบางอย่างที่ก่อให้เกิดอาการผื่นแพ้ได้ เมื่อสัมผัสซ้ำก้อจะทำให้ผื่นแย่ลง
- การติดเชื้อรา เช่น เชื้อราไตรโครไฟตอน ไมโครสปอร์รัม (Trichophyton Microsporum) เอพิเดอร์โมไฟตอน (Epidermophyton) เชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) เชื้อราแคนดิดา (Candida) ที่ส่งผลให้เกิดกลาก เกลื้อนและโรคน้ำกัดเท้า โดยอาจมีปัจจัยเสี่ยงมาจากความอับชื้น การสวมเสื้อผ้ารัดแน่นที่ทำให้ระบายอากาศได้ไม่ดี
- การติดเชื้อแบคทีเรีย หากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนังตามธรรมชาติเจริญเติบโตมากเกินไป อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ส่งผลให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ อีกทั้งยังอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคพุพอง (Impetigo) โรครูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) โรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas) โรคเนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)
- ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติและเข้าโจมตีเนื้อเยื่อผิวหนังรวมถึงอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย อาจส่งผลให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ
- โรคผิวหนังบางอย่าง ทำให้มีผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังได้ เช่น เซ็บเดิร์ม (seborrheic dermatitis)
ผื่นผิวหนังอักเสบ อาการเป็นอย่างไร
ผื่นผิวหนังอักเสบมีอาการดังนี้
- มีผื่นแดงขึ้นบนผิวหนัง ที่อาจมีลักษณะเป็นปื้นใหญ่หรือเป็นจุดเล็ก ๆ
- ผิวหนังบวมและสีผิวเปลี่ยนแปลง
- ผิวแห้งลอกและอาจเป็นสะเก็ด
- มีอาการคัน
หากอาการของผื่นรุนแรงขึ้น แพร่กระจายเป็นวงกว้าง มีหนอง หรือรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษาในทันที
วิธีรักษาผื่นผิวหนังอักเสบ
วิธีรักษาผื่นผิวหนังอักเสบ มีดังต่อไปนี้
- ยาปฏิชีวนะ ที่มีในรูปแบบครีม เจล โลชั่น และขี้ผึ้ง ใช้ทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบตามคำแนะนำของคุณหมอเพื่อช่วยฆ่าเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สำหรับผู้ที่ติดเชื้อรุนแรงอาจได้รับยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทานหรือแบบฉีดเข้าสู่หลอดเลือดดำ
- ยาต้านเชื้อรา เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ไมโคนาโซล (Miconazole) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ที่มีในรูปแบบครีมหรือเจลทาเฉพาะที่ ใช้เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อราสำหรับการรักษาผื่นผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา
- ยาต้านฮิสตามีน เป็นยาแก้แพ้ แก้คัน ที่ใช้สำหรับการรักษาผู้ที่มีผื่นผิวหนังอักเสบเนื่องจากอาการแพ้เช่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์เลี้ยง หรือเป็นลมพิษ หรือใช้บรรเทาอาการคันจากผื่นอื่นๆ
- ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) เพรดนิโซโลน (Prednisolone) ไมโคฟีโนเลต (Mycophenolate) เอซาไธโอพริน (Azathioprine) เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการผื่นผิวหนังอักเสบในระดับรุนแรง ใช้เพื่อช่วยลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันไม่ให้ต่อสู่กับสิ่งแปลกปลอมหรือสารก่อภูมิแพ้ โดยควรใช้ตามคำแนะนำของคุณหมอและไม่ควรใช้เป็นเวลานานเพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง
- การบำบัดด้วยแสง เหมาะสำหรับผื่นผิวหนังอักเสบบางโรคเท่านั้น โดยคุณหมออาจบำบัดด้วยการฉายแสงรังสีอัลตราไวโอเลตเอ หรือรังสีอัลตราไวโอเลตบี
วิธีป้องกันผื่นผิวหนังอักเสบ
วิธีป้องกันผื่นผิวหนังอักเสบ อาจทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น สบู่ ผงซักฟอก ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ น้ำยาปรับผ้านุ่ม โลหะ
- อาบน้ำอุณภูมิปกติและเลือกสบู่สูตรอ่อนโยนเพื่อกำจัดสิ่งสกปรก และควรเช็ดตัวให้แห้งสนิทเพื่อป้องกันความอับชื้น และรีบทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นหลังอาบน้ำ
- สวมเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศและเหงื่อได้ดี ช่วยป้องกันความอับชื้นที่อาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศร้อน
- ไม่ควรเดินด้วยเท้าเปล่าเมื่ออยู่บริเวณสระว่ายน้ำและห้องอาบน้ำสาธารณะ เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคที่ส่งผลให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณส้นเท้าและซอกนิ้วเท้าได้
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะกับสภาพผิวหรือควรใช้มอยเจอไรเซอร์เพื่อช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ป้องกันการระคายเคือง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ