บทความ Hello คุณหมอ วันนี้ขอนำ 7 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง มาฝากทุกคนกันค่ะ หากคุณกำลังอยู่ในเกณฑ์ที่เข้าข่ายเป็น โรคความดันโลหิตสูง จะได้ดูแลตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าว ว่าแต่ปัจจัยเสี่ยงโรคนี้จะมีอะไรบ้าง มาดูพร้อมกันเลยค่ะ
[embed-health-tool-heart-rate]
ทำความรู้จัก โรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะสุขภาพที่พบได้บ่อย เกิดจากความดันในหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้น หากปล่อยไว้นานวัน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม และอื่น ๆ ที่สร้างความเสียหายแก่ร่างกายแทบทุกส่วนได้
7 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ดังต่อไปนี้
- อายุ ความเสี่ยงของ โรคความดันโลหิตสูง จะเพิ่มมากขึ้น เมื่อคุณมีอายุมากขึ้นจนถึงอายุ 64 ปี โรคนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุเพศชายมากกว่าเพศหญิง
- น้ำหนักเกิน เมื่อคุณน้ำหนักมากขึ้น ก็ต้องใช้เลือดในการลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารเข้าไปในเนื้อเยื่อมากยิ่งขึ้น เมื่อปริมาณเลือดไหลเวียนผ่านหลอดเลือด ก็จะเพิ่มความดันบนผนังหลอดเลือดเช่นเดียวกัน
- สูบบุหรี่ สารเคมีในบุหรี่มีผลทำให้ระดับความดันโลหิตของคุณเพิ่มสูงมากขึ้น อีกทั้งยังทำลายผนังบุหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงแคบลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจด้วย
- รับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็ม การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็ม ทำให้ความระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากไป ยิ่งคุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงของคุณก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
- ภาวะเครียด ความเครียดสูงอาจทำให้ความดันโลหิตของคุณเพิ่มสูงขึ้นชั่วคราวได้
- ภาวะเรื้อรัง ภาวะเรื้อรังของโรคต่าง ๆ มีส่วนช่วยเพิ่มความดันโลหิตสูง เช่น โรคไต เบาหวาน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง
หากเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ไม่ควบคุมอาการของโรค อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ดังต่อไปนี้
- โรคหลอดเลือดสมอง (Heart attack or stroke) ความดันโลหิตอาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวและหนาขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่อาการหัวใจวายได้
- หลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm) ความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็ง จึงทำให้หลอดเลือดโป่งพอง
- ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) ขนาดเอวที่มากขึ้น บ่งบอกถึงปริมาณไขมันในท้อง และเมื่อระบบการเผาผลาญในร่างกายผิดปกติ ความดันจึงเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเมตาบอลิกซินโดรม
- ปัญหาเกี่ยวกับความจำ (Trouble with memory or understanding) โรคความดันโลหิตสูง ที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ อาจส่งผลให้ระบบความคิด และความจำ ของคุณแย่ลงได้
- โรคสมองเสื่อม (Dementia) เมื่อหลอดเลือดแดงแคบลง ปริมาณเลือดที่ไหลเวียนไปยังหลอดเลือดสมองก็น้อยลง นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมบางประเภทได้