backup og meta

อาการโรคหัวใจ ปัจจัยเสี่ยงและวิธีดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง

อาการโรคหัวใจ ปัจจัยเสี่ยงและวิธีดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง

อาการโรคหัวใจ ส่วนใหญ่แล้วมักมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก แขนขาชา โดยอาจมีสาเหตุแตกต่างกันตามประเภทของโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการโรคหัวใจ ควรศึกษาวิธีการดูแลสุขภาพหัวใจ คอยสังเกตอาการผิดปกติ หรือขอคำแนะนำจากคุณหมอ และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี

[embed-health-tool-heart-rate]

อาการโรคหัวใจ

อาการโรคหัวใจ อาจแตกต่างกันออกไปตามประเภทของโรคหัวใจที่เป็น ดังต่อไปนี้

โรคหลอดเลือดหัวใจ

เป็นโรคหัวใจประเภทหนึ่งที่พบได้บ่อย อาจมีสาเหตุมาจากไขมันสะสมในหลอดเลือด และอาจพัฒนาทำให้เกิดคราบจุลินทรีย์หรือคราบพลัค (Plaque) ที่ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัว ขวางทางเดินของเลือดและส่งผลให้หลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจอุดตัน ที่และอาจก่อให้เกิดอาการโรคหัวใจ ดังนี้

  • เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
  • หายใจถี่
  • ปวดเมื่อยบริเวณคอ ท้องส่วนบน และหลัง
  • รู้สึกปวดและชาบริเวณแขนและขา

โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม

อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น หัวใจติดเชื้อ เยื่อบุหัวใจอักเสบ ความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ การฉายรังสี และเคมีบำบัดรักษามะเร็ง ที่ส่งผลกระทบการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจในการสูบฉีดเลือด ซึ่งอาจมีอาการโรคหัวใจดังต่อไปนี้

  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • ใจสั่น
  • หายใจไม่อิ่มในขณะที่ทำกิจกรรมหรือนอนพักผ่อน
  • ขาและข้อเท้าบวม
  • รู้สึกเหนื่อยล้า
  • วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด และเป็นลม

โรคลิ้นหัวใจ

โรคลิ้นหัวใจ โดยส่วนมากเกิดจากความเสื่อมของลิ้นหัวใจในผู้สูงอายุเช่นลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ หรือลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว ในผู้ป่วยบางรายอาจมีความเชื่อมโยงกับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจมีความหย่อนผิดปกติ (Barlow’s disease) เยื่อบุหัวใจอักเสบ ไข้รูมาติก (Rheumatic Fever) และการติดเชื้อที่หัวใจ ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการโรคหัวใจดังต่อไปนี้

  • เจ็บหน้าอก
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • อาการเหนื่อยล้า
  • หายใจถี่
  • ข้อเท้าและเท้าบวม
  • เป็นลม หมดสติ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจพิการแต่กำเนิด โรคเบาหวาน ความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณมากเกินไป การรับประทานยา สมุนไพร และอาหารเสริมบางชนิดที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ โดยอาจสังเกตอาการโรคหัวใจได้ดังนี้

  • หัวใจเต้นเร็วหรือช้า ไม่สม่ำเสมอ
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจถี่
  • วิงเวียนศีรษะ
  • มีอาการใกล้เป็นลมและอาจเป็นลมหมดสติ

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์ โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ ความผิดปกติของพันธุกรรม การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือรับประทานยาบางชนิดระหว่างตั้งครรภ์ โดยอาจสังเกตอาการได้ตั้งแต่แรกเกิดดังนี้

  • ทารกหายใจถี่ระหว่างกินนม
  • สีผิวซีด หรือสีผิวเปลี่ยนแปลงเป็นสีขาวหรือน้ำเงิน
  • อาการบวมรอบดวงตา ขา หน้าท้อง เท้า และข้อเท้า
  • หายใจไม่ออกระหว่างออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีการใช้แรงมาก
  • เหนื่อยง่าย

จากแบบสำรวจวันหัวใจโลกของ Hello คุณหมอ พบว่า อาการโรคหัวใจที่คนไทยส่วนใหญ่ทราบเป็น 3 อันดับแรก คือ อาการหัวใจเต้นผิดปกติ อาการเจ็บหน้าอก และอาการแขนขาอ่อนแรง ในขณะเดียวกัน หลายคนไม่ทราบว่าอาการไอเรื้อรัง อาการคลื่นไส้อาเจียน และอาการบวมที่แขนและขา ก็เป็นหนึ่งในอาการโรคหัวใจเช่นกัน และมักจะมองข้ามอาการเหล่านี้ไป ซึ่งอาจส่งผลให้สังเกตพบความผิดปกติและเข้ารับการตรวจวินิจฉัยได้ล่าช้า และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ปัจจัยเสี่ยงของอาการโรคหัวใจ

ปัจจัยเสี่ยงของอาการโรคหัวใจ มีดังนี้

  • อายุมากขึ้น เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจอาจเสื่อมสภาพลง
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ
  • การรับประทานอาหารที่ส่งผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจ เช่น อาหารที่มีไขมัน เกลือ และน้ำตาลสูงอย่างน้ำอัดลม ขนมหวาน มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว
  • การไม่ออกกำลังกาย
  • ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ที่อาจทำให้เกิดคราบพลัคอุดตันในหลอดเลือด จนขวางทางเดินของเลือดไปยังหัวใจ
  • ภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาจส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบตัน
  • ความเครียด อาจส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพ และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้
  • การสูบบุหรี่ เนื่องจากในบุหรี่มีนิโคติน (Nicotine) ที่อาจทำให้หลอดเลือดตีบตัน หัวใจขาดเลือด และหัวใจวาย
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลและทำให้ระดับความดันโลหิตสูง ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ
  • โรคอ้วนและโรคเบาหวาน อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้เนื่องจากการสะสมของไขมันและภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำลายหลอดเลือดหรือทำให้หลอดเลือดอุดตันได้

วิธีดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง

วิธีดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง และป้องกันอาการโรคหัวใจ อาจทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และพืชตระกูลถั่ว เช่น อัลมอนด์ น้ำมันมะกอก แซลมอน คะน้า กะเพรา กะหล่ำปลี ฝรั่ง แอปเปิ้ล และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมัน เกลือ และน้ำตาลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูป น้ำอัดลม มันฝรั่งทอด เค้ก โดนัท คุกกี้
  • ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที เพราะการออกกำลังกายอาจช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต
  • หยุดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจเช็กสุขภาพหัวใจ เช่น จังหวะการเต้นของหัวใจ รวมถึงอาการผิดปกติต่าง ๆ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที ช่วยลดความเสี่ยงก่อให้เกิดโรคหัวใจ หัวใจวาย และหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Heart disease. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-disease/symptoms-causes/syc-20353118.Accessed August 10, 2022.

About Heart Disease. https://www.cdc.gov/heartdisease/about.htm.Accessed August 10, 2022.

Heart Disease: Types, Causes, and Symptoms. https://www.webmd.com/heart-disease/heart-disease-types-causes-symptoms.Accessed August 10, 2022.

How to take care of your heart health. https://www.who.int/philippines/news/feature-stories/detail/how-to-take-care-of-your-heart-health.Accessed August 10, 2022.

Heart disease.  https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-disease/diagnosis-treatment/drc-20353124.Accessed August 10, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/09/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารบำรุงหัวใจ ต้องกินอะไร สุขภาพหัวใจถึงจะแข็งแรง

หัวใจเต้นแรง สัญญาณเตือนของ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์

โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา