คุณกำลังรู้สึกเจ็บจี๊ดๆ ใต้ฝ่าเท้าอยู่หรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเท้าเดิน วิ่ง และโดยเฉพาะผู้ที่ทำกิจกรรมในการยืน หรือนั่งกับที่เป็นเวลานาน จนอาจทำให้เกิด เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ โดยที่คุณไม่รู้ตัว มารู้จักกับอาการนี้ไปพร้อมกับบทความของ Hello คุณหมอ ที่มีคำแนะนำในการเลือกรองเท้าสวมใส่อย่างเหมาะสมมาฝากทุกคนค่ะ
รู้จักกับอาการ เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เพื่อการรักษาอย่างถูกต้อง
เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar fasciitis) มักมีอาการปวดในบริเวณฝ่าเท้าบน และด้านล่างช่วงส้นเท้า เหมือนกับมีคนกำลังเอาของมีคมมาทิ่มแทง ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อนั้นหนาขึ้นเรียกสั้นๆ ได้ว่า พังผืด ที่เชื่อมต่อไปยังส้นเท้าด้านหลังที่ช่วยในการเคลื่อนตัว ทำให้เกิดอาการคล้ายเส้นยึดในบริเวณฝ่าเท้า และรู้สึกเจ็บ ส่วนมากอาการนี้มักพบในผู้หญิงบ่อยกว่าผู้ชาย
สาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกเจ็บจนก้าวเท้าออกข้างนอกได้ยากนั้น อาจเป็นเพราะ การมีน้ำหนักเกินมาเกี่ยวข้อง หรือผู้ที่ชอบด้านการออกกำลังกายด้านการวิ่ง เช่น วิ่งมาราธอน รวมถึงการเลือกรองเท้าที่ใส่ในชีวิตประจำวันแบบผิดๆ จึงทำให้ฝ่าเท้าของคุณเกิดเจ็บปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหว
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ
- อายุ : เอ็นฝ่าเท้าอักเสบพบได้มากที่สุดในช่วงอายุระหว่าง 40 – 60 ปี หรือผู้ที่รักการออกกำลังกาย และทำกิจกรรมที่ส่งผลให้เนื้อเยื่อใต้เท้าเกิดการบวมอักเสบ
- น้ำหนักเกินมาตรฐาน : เนื่องจากเท้าเป็นอวัยวะที่รองรับน้ำหนักเราแทบทั้งตัว จึงทำให้เมื่อเคลื่อนไหว หรือหักโหมในการทำกิจกรรมอย่างหนัก อาจทำให้ฝ่าเท้าเกิดตึงและปวดได้
- อาชีพ : ในตำแหน่งหน้าที่ของการทำงานนั้น มีหลากหลายมากมาย และยังส่งผลให้เกิดอาการฝ่าเท้าอักเสบได้ เมื่อต้องยืน หรืออยู่กับที่เป็นเวลานาน เช่น ครู พนักงานแคชเชียร์ พนักงานห้าง คนงานในโรงงาน เป็นต้น
วิธีรักษา เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ให้หายขาด
การดูแลให้สุขภาพเท้าของคุณใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรเริ่มจากการรักษาน้ำหนักให้สมดุลกับฝ่าเท้าที่รับน้ำหนักคุณได้ไหว เลือกการออกกำลังกายให้เหมาะสม หรือเมื่อเกิดอาการปวดเล็กน้อยให้ใช้น้ำแข็งประคบ และนวดบริเวณที่คุณปวดประมาณ 15 นาที
แต่หากเกิดอาการเจ็บปวดเรื้อรัง คุณควรรีบเข้ารับการรักษาทันที โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจใช้อุปกรณ์อัลตร้าซาวด์ในการระบุตำแหน่งที่อักเสบ และอาจใช้วิธีการเหล่านี้เข้าช่วยร่วมด้วย
- การรักษาแบบบำบัดกล้ามเนื้อของฝ่าเท้า
- ยาบรรเทาอาการปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) , นาพรอกเซน โซเดียม (Naproxen sodium)
- ฉีดยาสเตียรอยด์
- การรักษาด้วยคลื่นเสียง (Extracorporeal shock wave therapy)
- การผ่าตัดแยกพังผืดออกจากกระดูกเพิ่มความเคลื่อนไหว
เคล็ดลับการเลือกรองเท้า เพื่อป้องกันเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ
- เลือกรองเท้าที่มีความยืดหยุ่น รองรับแรงกระแทกได้ดีเมื่อคุณต้องทำกิจกรรมที่ต้องมีการลงน้ำหนักฝ่าเท้า
- รองเท้าที่สวมใส่ต้องมีขนาด ไซส์ และรูปทรงที่เหมาะกับลักษณะเท้าของเรา
- สวมใส่ถุงเท้าทุกครั้งเพื่อถนอมฝ่าเท้า เมื่อต้องทำกิจกรรมอย่างหนักทั้งนอกบ้าน และในบ้าน
- รองเท้าที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง หรือตามแฟชั่นเสมอไป ควรเน้นที่ความสบาย และการใช้งานเป็นหลัก
- เมื่อรองเท้าที่คุณสวมใส่เสื่อมสภาพ ควรเปลี่ยนใหม่ทันที เพราะวัสดุที่รองรับแรงกระแทกอาจสึกหรอได้ตามกาลเวลา
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด