backup og meta

กินกระเทียมสด มีประโยชน์และข้อควรระวังอย่างไร

กินกระเทียมสด มีประโยชน์และข้อควรระวังอย่างไร

กระเทียม เป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาปรุงอาหาร มีแหล่งกำเนิดอยู่ภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียใต้ มีสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุหลายชนิด เช่น โพแทสเซียม วิตามินซี ส่วนสารสำคัญที่พบได้ในกระเทียมคือ สารแอลลิซิน (Allicin) ซึ่งอาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็งและช่วยลดความดันเลือด ทั้งนี้ งานวิจัยในปัจจุบันพบว่า สารแอลลิซินจะลดลงเมื่อนำกระเทียมไปคั่ว ต้ม หรือนำไปดอง ดังนั้น การ กินกระเทียมสด อาจเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพ แต่หากรับประทานมากเกินไป อาจทำให้ปวดท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก และลมหายใจมีกลิ่นเหม็น

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของกระเทียมสด

กระเทียมสด 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 149 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

  • น้ำ 63.1 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 33.1 กรัม
  • โปรตีน 6.36 กรัม
  • โพแทสเซียม 401 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 181 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 153 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 31.2 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 17 มิลลิกรัม
  • ซีลีเนียม (Selenium) 14.2 ไมโครกรัม

นอกจากนี้ ในกระเทียมสดยังประกอบด้วยธาตุอาหารอย่าง สังกะสี ทองแดง แมงกานีส โคลีน (Choline) และวิตามินชนิดต่าง ๆ เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 โฟเลต (Folate)

ประโยชน์ของการ กินกระเทียมสด

กระเทียมสด อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพในการ กินกระเทียมสด ดังนี้

อาจช่วยต้านมะเร็ง

กระเทียมมีสารแอลลิอิน (Alliin) ซึ่งเมื่อถูกหั่นหรือทุบจะเปลี่ยนเป็นสารแอลลิซิน มีคุณสมบัติยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง และทำให้เซลล์มะเร็งตาย

งานวิจัยหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติทางเคมีและชีววิทยาของแอลลิซิน ตีพิมพ์ในวารสาร Molecules ปี พ.ศ. 2557 ระบุว่า สารแอลลิซินที่พบมากในกระเทียมมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยมีคุณสมบัติเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทำลายตัวเอง และอาจช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งได้

ดังนั้น การกินกระเทียมจึงอาจช่วยต้านมะเร็งได้ โดยเฉพาะหากกินกระเทียมสด ซึ่งมีปริมาณแอลลิซินมากกว่ากระเทียมที่นำไปต้ม อบ เจียว คั่ว หรือดองแล้ว

อาจช่วยลดความดันเลือด

กระเทียมมีประสิทธิภาพในการป้องกันการหลั่งสารแอนจิโอเทนซินที่ 2 (Angiotensin II) ในร่างกาย ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น การกินกระเทียมสดจึงอาจช่วยลดความดันเลือดได้ นอกจากนี้ กระเทียมยังมีสารไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดเลือด การกินกระเทียมจึงอาจช่วยให้ความดันเลือดลดลงและเลือดไหลเวียนสะดวกขึ้น

งานวิจัยหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของแอลลิซินในการลดความดันเลือด ในหนูทดลองที่มีค่าความดันเลือดสูง เผยแพร่ในวารสาร Biomedicine & Pharmacotherapy ปี พ.ศ. 2563 นักวิจัยได้แบ่งหนูทดลองเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้บริโภคสารแอลลิซินในปริมาณ 7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้บริโภคสารแอลลิซินในปริมาณ 14 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

เมื่อการทดลองสิ้นสุดลงหลังผ่านไป 4 สัปดาห์ นักวิจัยพบว่าหนูทดลองมีความดันเลือดลดลง จึงสรุปว่า สารแอลลิซินอาจมีส่วนช่วยลดความดันเลือดของหนูทดลองด้วยการทำให้หลอดเลือดของหนูขยายตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการทดสอบในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าการกินกระเทียมสดช่วยลดความดันเลือดในมนุษย์ได้

อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นสนับสนุนว่า การกินกระเทียมอย่างน้อยวันละ 1 กลีบ อาจช่วยส่งเสริมการควบคุมน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน และอาจช่วยกระตุ้นเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายให้ตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น

งานวิจัยหนึ่ง ว่าด้วยประสิทธิภาพของกระเทียมในการกระตุ้นเซลล์ในร่างกายให้ตอบสนองต่ออินซูลิน ในหนูที่บริโภคน้ำตาลฟรักโทส (Fructose) ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition & Metabolism ปี พ.ศ. 2554 นักวิจัยได้แบ่งหนูทดลองเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้กินอาหารที่ประกอบด้วยแป้งข้าวโพดร้อยละ 65 กลุ่มที่ 2 ให้กินอาหารที่ประกอบด้วยฟรักโทสร้อยละ 65 และกลุ่มที่ 3 ให้กินอาหารที่ประกอบด้วยฟรักโทสร้อยละ 65 และกินกระเทียมสดที่ถูกบดละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน ในอัตราส่วน 250 มิลลิกรัม/ต่อน้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัม/วัน โดยการทดลองใช้เวลาทั้งหมด 8 สัปดาห์

เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง นักวิจัยได้เปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของร่างกายหนูในแต่ละกลุ่ม และพบว่า หนูกลุ่มที่ 3 มีปริมาณของสารต่าง ๆ ในกระแสเลือดทั้งน้ำตาล อินซูลิน ไตรกลีเซอไรด์ (Trigleceride) และกรดยูริก ต่ำกว่าหนูกลุ่มที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น หนูกลุ่มที่ 3 ยังมีการตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีกว่าหนูกลุ่มที่ 2 ด้วย

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การกินกระเทียมสด อาจมีคุณสมบัติเชิงบวกต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและการตอบสนองของเซลล์ในร่างกายต่ออินซูลิน

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการทดสอบในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกระเทียมต่อการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

ข้อควรระวังในการ กินกระเทียมสด

ข้อควรระวังในการกินกระเทียมสด มีรายละเอียดดังนี้

  • งานวิจัยส่วนใหญ่สนับสนุนว่า ปริมาณกระเทียมที่ควรกินต่อวันคือ 1-2 กลีบ หากกินมากเกินไปอาจทำให้ปวดท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหารเยอะ
  • ผู้เป็นกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยงการกินกระเทียม เพราะอาจเสี่ยงต่ออาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก
  • การกินกระเทียมอาจทำให้เลือดออกมากกว่าปกติ เนื่องจากกระเทียมมีคุณสมบัติยับยั้งการรวมตัวกันของลิ่มเลือด ดังนั้น ผู้ที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือดควรปรึกษาคุณหมอหากต้องการกินกระเทียมสด
  • หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถกินกระเทียมได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการกินในปริมาณมาก และควรกินผักและผลไม้ให้หลากหลายเพื่อบำรุงร่างกายและได้รับปริมาณสารอาหารครบถ้วน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Allicin: Chemistry and Biological Properties. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6271412/. Accessed September 23, 2022

Garlic, raw. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/169230/nutrients. Accessed September 23, 2022

Antihypertensive effects of allicin on spontaneously hypertensive rats via vasorelaxation and hydrogen sulfide mechanisms. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/32480217/. Accessed September 23, 2022

Garlic improves insulin sensitivity and associated metabolic syndromes in fructose fed rats. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3168415/. Accessed September 23, 2022

Garlic: Is It Good For You?. https://www.webmd.com/diet/garlic-good-for-you. Accessed September 23, 2022

Antimicrobial properties of allicin from garlic. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10594976/. Accessed September 23, 2022

Escherichia coli.
http://nih.dmsc.moph.go.th/data/data/fact_sheet/12_57.pdf. Accessed September 23, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/10/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

กระเทียมรักษาสิว ช่วยแก้ไขปัญหาผิวหน้าได้จริงหรือ

กระเทียม เสริมภูมิคุ้มกัน ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้จริงหรือไม่ 


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 05/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา