ชาดำ เป็นชาจากการนำใบชาสายพันธุ์ Camellia sinensis ไปหมักบ่มแล้วนำไปตากแห้งหรืออบแห้ง จนได้ชาที่มีลักษณะเป็นสีแดงเข้มไปจนถึงเกือบดำ และมีรสขมเล็กน้อย ชาดำมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจและลำไส้ และอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด อย่างไรก็ตาม ชาดำอาจมีคาเฟอีนสูง การดื่มชาดำมากเกินไปจึงอาจส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็ว นอนหลับยาก เพื่อความปลอดภัยจึงควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม
[embed-health-tool-bmr]
คุณค่าทางโภชนาการของชาดำ
ชาดำมีสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) และฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยป้องกันการอักเสบจากอนุมูลอิสระที่อาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ ยังอาจมีสารประกอบต่าง ๆ ดังนี้
- คาเฟอีน
- กรดอะมิโน
- คาร์โบไฮเดรต
- โปรตีน
- ธีโอฟิลลีน (Theophylline)
- ธีโอโบรมีน (Theobromine)
- คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll)
- ฟลูออไรด์ (Fluoride)
- อะลูมิเนียม (Aluminium)
ประโยชน์ของชาดำ
ชาดำมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของชาดำในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
-
อาจช่วยเพิ่มสมาธิ
ชาดำมีคาเฟอีนและกรดอะมิโนแอล-ธีอะนีน (L-Theanine) ที่อาจช่วยทำให้ร่างกายและสมองตื่นตัว ทำให้มีสมาธิมากยิ่งขึ้น จากการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางจิตของสารประกอบในชาอย่าง คาเฟอีนและแอล-ธีอะนีน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition Reviews ปี พ.ศ. 2551 พบว่า การดื่มชา หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาจช่วยให้มีสมาธิ สามารถจดจ่อกับกิจกรรมที่อยู่ตรงหน้าได้มากขึ้น แต่ควรดื่มในปริมาณที่พอดี เพราะหากร่างกายได้รับคาเฟอีนมากเกินไป อาจส่งผลให้นอนหลับยาก กระสับกระส่าย วิตกกังวล หัวใจเต้นเร็วได้
-
อาจช่วยลดความดันโลหิต
ชาดำมีฟลาโวนอยด์ที่อาจช่วยลดความดันโลหิต ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่หลอดเลือดได้ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2558 ที่ได้ทำการทดสอบในกลุ่มตัวอย่าง 19 คน โดยให้กลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งดื่มชาดำ 129 มิลลิกรัม อีกส่วนหนึ่งได้รับยาหลอก วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 8 วัน พบว่า การบริโภคชาดำอาจช่วยลดความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic blood pressure) ที่เป็นแรงดันเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว และอาจช่วยลดความดันโลหิตตัวบน (Systolic blood pressure) ที่เป็นแรงดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัว ดังนั้น การดื่มชาดำเป็นประจำจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
-
อาจช่วยลดคอเลสเตอรอล
ชาดำเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีไขมันอิ่มตัว และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงอาจช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) ซึ่งทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ และอาจช่วยลดความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลในเลือด การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Nutrition เมื่อปี พ.ศ. 2546 ที่ได้ทำการทดสอบในผู้ใหญ่จำนวน 15 คน แบ่งเป็นผู้หญิง 8 คน และผู้ชาย 7 คน ที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โดยทดสอบแบบสุ่มให้ดื่มชาดำ 5 มื้อ/วัน ในขณะที่รับประทานอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักร่วมด้วยเป็นเวลา 3 สัปดาห์ พบว่า การดื่มชาดำอาจช่วยลดคอเลสเตอรอลโดยรวมและไขมันไม่ดีในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
-
ช่วยปรับปรุงการทำงานของลำไส้
ภายในลำไส้จะมีแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส ที่อาจช่วยควบคุมความสมดุลการทำงานของลำไส้ การดื่มชาดำที่มีโพลีฟีนอลที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงอาจช่วยลดการอักเสบจากสารอนุมูลอิสระ และกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ดีภายในลำไส้ได้ จากการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food Reviews international ปี พ.ศ.2554 ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโพลีฟีนอลในอาหารและจุลชีพในลำไส้ของมนุษย์ พบว่า โพลีฟีนอลอาจทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ดี และอาจช่วยยับยั้งการขยายพันธุ์ของแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) และเอชไพโลไร (Helicobacter pylori; H. pylori) ที่ส่งผลให้อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ และท้องร่วงได้
-
อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
ชาดำมีโพลีฟีนอลที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยยับยั้งเอนไซม์อะโรมาเทส (Aromatase enzyme) ซึ่งมีบทบาทกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้องอก จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร EJC European Journal of Cancer ปี พ.ศ. 2547 พบว่า โพลีฟีนอลในชาดำอาจช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะโรมาเทส ที่อาจนำไปสู่การเกิดฮอร์โมนดีเอชอีเอ (Dehydroepiandrosterone) และพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งเต้านมได้ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ชาดำเพื่อช่วยในการรักษาเนื้องอกในเต้านม
ข้อควรระวังในการบริโภคชาดำ
เนื่องจากชาดำมีคาเฟอีนสูง การดื่มชาดำในปริมาณมากกว่า 4-5 ถ้วย/วัน อาจส่งผลให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนมากเกินไป และส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ดังนี้
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- หายใจเร็ว
- กระสับกระส่ายและนอนหลับยาก
- ลำไส้แปรปรวน ท้องเสีย
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น
- ความดันโลหิตสูง ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันตาสูงและต้อหิน
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโลหิตจาง โรคกระดูกพรุน และอาการชัก
ชาดำอาจทำปฏิกิริยากับยาและอาหารเสริมบางชนิด เช่น คาร์บามาเซพีน (Carbamazepine) เอฟีดรีน (Ephedrine) และยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจส่งผลให้คาเฟอีนอยู่ในร่างกายนานกว่าปกติหรือลดประสิทธิภาพของยาลง เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาคุณหมอก่อน