ถั่วพู เป็นผักที่นิยมรับประทานเป็นผักเคียง หรือนำมาประกอบอาหาร เช่น ยำถั่วพู ไข่เจียวถั่วพู อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ โปรตีน ใยอาหาร ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุที่อาจช่วยเพิ่มพลังงาน สร้างกล้ามเนื้อ ส่งเสริมสุขภาพภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมสุขภาพผิวอีกด้วย
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าทางโภชนาการของถั่วพู
ฝักอ่อนของถั่วพูปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 74 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น
- น้ำ 76.86 กรัม
- ไฟเบอร์ 25.9 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 14.1 กรัม
- โปรตีน 5.85 กรัม
- ไขมัน 0.272 กรัม
นอกจากนี้ ถั่วพูยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม ธาตุเหล็ก แมงกานีส โพแทสเซียม ทองแดง ซีลีเนียม (Selenium) โซเดียม สังกะสี
ถั่วพู ประโยชน์ ที่มีต่อสุขภาพ
ถั่วพูมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของถั่วพูในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
-
ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน
ถั่วพูอุดมไปด้วยสารประกอบ เช่น โพลีฟีนอล (Polyphenols) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ฟีนอล (Phenolic) เมทานอล (Methanol) เอทานอล (Ethanol) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน International Journal on Advanced Science, Engineering and Information Technology เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับสารประกอบออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่อการเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว และศักยภาพในการปรับภูมิคุ้มกันของถั่วพู พบว่า ถั่วพูมีสารประกอบหลายชนิด เช่น โพลีฟีนอล ฟลาโวนอยด์ ฟีนอล เมทานอล เอทานอล ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถช่วยปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้
-
อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ
ถั่วพู อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น วิตามินซี โพลีฟีนอล ฟลาโวนอยด์ ฟีนอล ที่มีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบ ซึ่งอาจช่องป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Plants เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของถั่วพู พบว่า ถั่วพูอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี โพลีฟีนอล ฟลาโวนอยด์ ฟีนอล ที่อาจมีคุณสมบัติช่วยต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ ต้านเนื้องอก ต้านจุลชีพ ต้านเซลล์กลายพันธุ์ ต้านการแพ้ ต้านการขาดเลือด และอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย
-
อาจส่งเสริมสุขภาพผิว
สารสกัดจากเมล็ดถั่วพูอาจช่วยยับยั้งปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิดริ้วรอยบนผิวหนัง โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biofactors เมื่อเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานสารสกัดจากถั่วพูและประโยชน์ต่อผิวหนังชั้นนอก พบว่า การรับประทานสารสกัดจากเมล็ดถั่วพูเป็นเวลา 5 สัปดาห์ อาจช่วยยับยั้งปฏิกิริยาของยีนที่สร้างการอักเสบของผิวหนังที่ก่อให้เกิดริ้วรอยบริเวณผิวหนังชั้นนอก
-
อาจช่วยเพิ่มพลังงานและป้องกันภาวะขาดสารอาหาร
ถั่วพูเป็นพืชตระกูลถั่วที่ให้พลังงานสูงและมีโปรตีนมาก จึงอาจส่งผลดีต่อการป้องกันการขาดสารอาหารได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน All India Co-ordinated Research Network on Potential Crops เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับถั่วพู พบว่า ถั่วพูเป็นพืชตระกูลถั่วที่อุดมไปด้วยโปรตีน กรดอะมิโน น้ำ ไขมัน ใยอาหาร คาร์โบไฮเดรตซึ่งสารอาหารเหล่านี้ให้พลังงานกับร่างกายและเป็นส่วนสำคัญในการทำงานของร่างกาย ถั่วพูจึงอาจเป็นอาหารเสริมที่ดีต่อการเสริมโภชนาการ พัฒนาสุขภาพและอาจช่วยแก้ปัญหาการขาดสารอาหารได้
-
อาจช่วยสร้างกล้ามเนื้อ
ถั่วพูเป็นพืชตระกูลถั่วที่อุดมไปด้วยโปรตีนในปริมาณสูงมากเมื่อเทียบกับถั่วชนิดอื่น เช่น ถั่วชิกพี ถั่วแระ ถั่วฝักยาว โดยถั่วพูสายพันธ์ุเม็ดสีน้ำตาลอ่อนมีโปรตีนสูงถึง 40.30% จึงอาจสามารถรับประทานทดแทนหรือรับประทานเสริมเพื่อเพิ่มโปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อในร่างกาย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Food Quality เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบของสารอาหารจากถั่วพู พบว่า ถั่วพูเป็นพืชตระกูลถั่วที่อุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด เช่น ไขมัน น้ำ ใยอาหาร คาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยโปรตีนในปริมาณสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพืชตระกูลถั่วชนิดอื่น ๆ เช่น ถั่วชิกพี ถั่วแระ ถั่วฝักยาว โดยเฉพาะถั่วพูเม็ดสีน้ำตาลอ่อน ที่มีโปรตีนสูงถึง 40.30% และถั่วพูเม็ดสีเหลืองอมเทาไม่พบต้นกำเนิด แต่มีโปรตีนต่ำสุดประมาณ 34.18% ดังนั้น อาจสามารถรับประทานทดแทนในมื้ออาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าโปรตีน ซึ่งอาจมีศักยภาพในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้
-
อาจช่วยต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย
สารสกัดเมทานอลจากถั่วพูเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจมีคุณสมบัติช่วยต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Plants เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของถั่วพู พบว่า สารสกัดเมทานอลจากฝัก ใบหรือจากรากของถั่วพูอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านเชื้อรา เช่น เชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas Aeruginosa) เชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของถั่วพูในการช่วยต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย
ข้อควรระวังในการบริโภคถั่วพู
การบริโภคถั่วพูอาจมีข้อควรระวัง ดังนี้
- เนื่องจากถั่วพูเป็นพืชตระกูลถั่ว ผู้ที่แพ้ถั่วจึงอาจเกิดอาการแพ้ได้
- ถั่วพูมีกรดออกซาลิก (Oxalic Acid) ปริมาณมาก เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นกรดออกซาเลต (Oxalate) ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ เมื่อสะสมในร่างกายปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดนิ่วในไตได้