ผลไม้สีเหลือง เช่น เลมอน สับปะรด กล้วย อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินบี วิตามินเอ ไฟเบอร์ ฟลาโวนอยด์ ไลโคปีน โพแทสเซียม แมงกานีส ธาตุเหล็ก และแคลเซียม ที่มีส่วนช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก อีกทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ผลไม้สีเหลืองบางชนิดอาจไม่เหมาะกับภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล จึงควรศึกษาประโยชน์และข้อควรระวัง หรือปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน
[embed-health-tool-bmi]
5 ผลไม้สีเหลือง มีอะไรบ้าง
ผลไม้สีเหลือง 5 อย่าง ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีดังนี้
1. เลม่อน
เลม่อน เป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่มีลักษณะเป็นวงรี มีเปลือกภายนอกสีเหลือง ด้านในสีเหลืองอ่อนใส นิยมนำมาปรุงรสชาติอาหารหรือทำเป็นเครื่องดื่ม เลม่อน 100 กรัม ให้พลังงาน 28 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น โพแทสเซียม วิตามินซี แคลเซียม แมกนีเซียม ที่อาจช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคโลหิตจาง บรรเทาอาการท้องผูก และลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Plants ปี พ.ศ. 2563 ที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของเลม่อนที่นำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมยาและอาหาร พบว่า การรับประทานเลม่อนในรูปแบบเครื่องดื่มเป็นประจำทุกวันอาจช่วยลดความดันโลหิตที่อาจเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ย่อยอาหารได้ดีขึ้น ช่วยลดอาการท้องผูกและอาการกรดไหลย้อน
2. สับปะรด
สับปะรด เป็นผลไม้สีเหลืองที่มีลักษณะภายนอกเป็นทรงกระบอก เปลือกแข็งและมีหนามอยู่รอบผล ภายในมีเนื้อสีเหลืองรสชาติหวานอมเปรี้ยว สับปะรด 1 ลูก อาจให้พลังงาน 452 กิโลแคลอรี่ รวมถึงแร่ธาตุและวิตามินที่ดีต่อสุขภาพ เช่น โพแทสเซียม วิตามินซี แคลเซียม แมกนีเซียม วิตามินเอ ที่อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก ต้านอนุมูลอิสระ บำรุงกระดูก และดีต่อการทำงานของระบบย่อยอาหาร
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food Research International ปี พ.ศ. 2563 ที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของสับปะรดและประโยชน์ต่อสุขภาพ พบว่าการรับประทานสับปะรดซึ่งเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอาจช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลำไส้ที่อาจช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของสับปะรดต่อสุขภาพเพิ่มเติมในอนาคต
3. กล้วย
กล้วย เป็นผลไม้สีเหลืองที่มีลักษณะแตกต่างกันตามสายพันธุ์ กล้วยขนาดกลาง 1 ลูก อาจให้พลังงาน 93.5 กิโลแคลอรี่ ใยอาหาร 2.22 กรัม และวิตามินซีและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินเค วิตามินบี โพแทสเซียม แมกนีเซียม ที่อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ เสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก และลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of Experimental Biology เมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานกล้วยทุกวันต่อระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงจำนวน 30 คน รับประทานกล้วยเป็นอาหารเช้าในปริมาณ 250-500 กรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์ และทำการวัดระดับไขมันในเลือดและน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารทุก ๆ 4 สัปดาห์ พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
4. มะเฟือง
มะเฟือง เป็นผลไม้สีเหลืองที่มีลักษณะเป็นแฉกคล้ายรูปดาว และมีรสชาติเปรี้ยวหวาน มะเฟือง 1 ลูกใหญ่ อาจให้พลังงาน 38.4 กิโลแคลอรี่ รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุมากมาย เช่น แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม วิตามินซี วิตามินบี ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบทางเดินหายใจ
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food Science ปี พ.ศ. 2564 ที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณทางยาของมะเฟือง พบว่า มะเฟืองอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และคอเลสเตอรอล ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต้านเชื้อโรค อีกทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ มะเฟืองยังมีไฟเบอร์สูงที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหารและป้องกันโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
5.ขนุน
ขนุน เป็นผลไม้ขนาดใหญ่ที่มีเนื้อภายในสีเหลืองนวล รสชาติหวานหอม เนื้อขนุน 100 กรัม อาจให้พลังงาน 95 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส สังกะสี วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี ลูทีนและซีแซนทีน ที่อาจช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคต้อกระจก และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหาร
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Food Science ปี พ.ศ. 2562 ที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์ของขนุนต่อสุขภาพ พบว่า สารอาหารที่อยู่ในขนุน เช่น ไฟเบอร์ วิตามินเอ แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) โพแทสเซียม อาจช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และโรคกระดูกพรุน อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท
ข้อควรระวังในการรับประทานผลไม้สีเหลือง
บางคนอาจมีอาการแพ้ต่อผลไม้สีเหลืองบางชนิด หากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ใบหน้า ลิ้น และริมฝีปากบวม มีผื่นลมพิษ หายใจลำบาก ควรเข้าพบคุณหมอทันที และควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะผลไม้บางชนิดอาจมีค่าน้ำตาลสูง เช่น ขนุน กล้วย ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ มะเฟืองอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคไตและกำลังใช้ยาบางชนิดเพราะอาจลดประสิทธิภาพของยาได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการป่วยหรือกำลังใช้ยารักษาโรคจึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน