backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

ว่านหางจระเข้ สมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ว่านหางจระเข้ สมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
ว่านหางจระเข้ สมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ว่านหางจระเข้ เป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายกระบองเพชร สามารถเจริญเติบโตในสภาพอากาศร้อน หรือภูมิอากาศแห้งแล้ง ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ ได้แก่ วุ้น ยาง วุ้นของว่านหางจระเข้ได้จากเซลล์ส่วนกลางของใบ ในขณะที่ยางได้จากเซลล์ใต้ผิวของใบ ว่านหางจระเข้นั้นมีประโยชน์มากมาย เช่น นำมารับประทานเพื่อเป็นยาระบาย บ้วนปากเพื่อลดคราบพลัค ใช้ทาผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดริ้วรอย แม้ว่านหางจระเข้จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน ดังนั้น ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ว่านหางจระเข้

ประโยชน์ของว่านหางจระเข้

มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประโยชน์ของว่านหางจระเข้ในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

อาจช่วยลดคราบพลัค

โรคเหงือกและฟันผุเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่มักพบได้บ่อย ซึ่งวิธีการป้องกันอาการเหล่านี้ คือ ลดการสะสมของคราบพลัค ซึ่งเป็นคราบจุลินทรีย์ที่เกิดจากแบคทีเรียและน้ำตาล ซึ่งอาจเกาะอยู่บริเวณเคลือบผิวฟัน โดยว่านหางจระเข้อาจมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตคอคคัส มิวแทนส์ (Streptococcus Mutans) และเชื้อราที่แคดิดา แอลบิแคนส์ (Candida Albicans) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตคราบจุลินทรีย์ในปาก จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Oral Health and Dental Management พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับผลของน้ำยาบ้วนปากว่านหางจระเข้ต่อคราบพลัคและโรคเหงือกอักเสบ พบว่า น้ำยาบ้วนปากว่านหางจระเข้ มีประสิทธิภาพในการลดโรคเหงือกอักเสบ ทั้งยังช่วยให้เลือดออกที่เหงือกและคราบพลัคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

ว่านหางจระเข้มีสารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน และอาจช่วยปรับปรุงการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น การบริโภคน้ำว่านหางจระเข้อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ลดลง จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Phytomedicine พ.ศ. 2539 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านเบาหวานของน้ำว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยเบาหวาน พบว่า ว่านหางจระเข้อาจมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยผู้ป่วยเบาหวานที่ดื่มน้ำว่านหางจระเข้ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาจมีระดับน้ำตาลในเลือดและไตรกรีเซอร์ไรด์ลดลง 

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอาหารเสริมว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเบาหวานที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในระยะแรก พบว่า ผู้เข้าร่วม 415 คนที่ได้รับอาหารเสริมว่านหางจระเข้มีความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ฮีโมโกลบินเอวันซี (HBA1c) ไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลรวม และไขมันชนิดไม่ดีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังมีระดับไขมันชนิดดีเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบของการบริโภคว่านหางจระเข้ที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว 

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่กำลังรับประทานยาลดน้ำตาลในเลือด ควรระมัดระวังในการบริโภคว่านหางจระเข้ เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจนอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายได้

อาจช่วยลดอาการท้องผูก

ว่านหางจระเข้มีสารอะโลอิน (Aloin) ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ จึงอาจช่วยรักษาอาการท้องผูกได้ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Natural Pharmaceuticals พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพยาระบายของสารสกัดเอทานอล (Ethanol) ในใบของว่านหางจระเข้ พบว่า หนูท้องผูกที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดเอทานอลปริมาณ 50 มิลลิกรัม/วัน 100 มิลลิกรัม/วัน และ 200 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 7 วัน มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ดีขึ้นและมีปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สารสกัดปริมาณ 200 มิลลิกรัม ยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายได้ดี อย่าไรก็ตาม การวิจัยนี้เป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันว่าว่านหางจระเข้มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการท้องผูกในมนุษย์ได้จริง

สำหรับผู้ที่เป็นโรคโครห์น (Crohn’s Disease) โรคลำไส้อักเสบ หรือโรคริดสีดวงทวาร ไม่ควรรับประทานว่านหางจระเข้ เพราะอาจทำให้ปวดท้องและท้องร่วงอย่างรุนแรง ส่วนผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคหัวใจ ไม่ควรรับประทานว่างหานจระเข้ เพราะอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยาได้น้อยลง

อาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านม

ว่านหางจระเข้มีสารอะโลอีโมนดิน (Aloe-Emodin) ซึ่งเป็นสารต้านมะเร็งที่อาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร  Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับสารอีโมดิน (Emodin) และอะโลอีโมดิน (Aloe-Emodin) ที่ช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งเต้านม พบว่า สารอีโมดินและอะโลอีโมดินสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็งเต้านม จึงอาจเป็นทางเลือกที่ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมได้ 

อาจช่วยบำรุงผิวและป้องกันริ้วรอย

ว่านหางจระเข้มีสารประกอบพิเศษที่เรียกว่า คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นมอยเจอร์ไรเซอร์บำรุงผิวหน้าได้ นอกจากนี้ ว่านหางจระเข้ยังช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้ผิว ซึ่งอาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวแห้ง จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Annals of Dermatology พ.ศ. 2552 ศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมว่านหางจระเข้ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและปรับปรุงริ้วรอยบนใบหน้าในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ซึ่งได้รับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมว่านหางจระเข้ 1,200 มิลลิกรัม/วัน และ 3,600 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 90 วัน พบว่า หลังจากรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมว่านหางจระเข้ ริ้วรอยบนใบหน้าดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในผิวหนังด้วยการผลิตคอลลาเจนที่เพิ่มขึ้น 

ผลข้างเคียงของว่านหางจระเข้

แม้ว่านหางจระเข้จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงดังนี้

  • อาจทำให้ทางเดินอาหารระคายเคือง ท้องร่วง และเป็นตะคริว
  • อาจทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย หากรับประทานนานกว่า 2-3 วัน
  • อาจทำให้ลำไส้ใหญ่มีคราบน้ำยางจากว่านห่างจระเข้ ซึ่งส่งผลต่อการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคว่านหางจระเข้เป็นเวลา 1 เดือนก่อนเข้ารับการตรวจลำไส้
  • ไม่ควรใช้ว่านหางจระเข้ทาแผลลึก หรือแผลไหม้รุนแรง เพราะสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone) ในว่านหางจระเข้ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บ แสบ หรือเกิดอาการแพ้ ทั้งยังอาจทำให้ผิวระคายเคืองหรือเกิดผื่นได้
  • ผู้ที่มีปัญหาหรือใช้ยาเกี่ยวกับโรคหัวใจ ปัญหาเกี่ยวกับไต โรคเบาหวาน ไม่ควรรับประทานว่านหางจระเข้โดยที่คุณหมอไม่อนุญาต เพราะว่านหางจระเข้อาจลดความสามารถในการดูดซึมยาของร่างกาย 
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ โรคริดสีดวงทวาร ไม่ควรใช้อาหารเสริมจากว่านหางจระเข้ เพราะอาจทำให้ท้องเสีย อ่อนเพลีย
  • เด็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้หญิงที่ให้นมบุตร ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากว่านหางจระเข้ เพราะอาจทำให้แท้งลูก และทำให้ลูกที่กินนมแม่ท้องเสียได้

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Aloe Vera. https://www.webmd.com/diet/supplement-guide-aloe-vera. Accessed February 18, 2022

Using Aloe Vera has multiple benefits. https://www.bcm.edu/news/benefits-using-aloe-vera. Accessed February 18, 2022

Aloe Vera. https://www.nccih.nih.gov/health/aloe-vera. Accessed February 18, 2022

Effect of Aloe vera mouthwash on periodontal health: triple blind randomized control trial. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24603910/. Accessed February 18, 2022

Antidiabetic activity of Aloe vera L. juice. I. Clinical trial in new cases of diabetes mellitus. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23195077/. Accessed February 18, 2022

Efficacy of Aloe Vera Supplementation on Prediabetes and Early Non-Treated Diabetic Patients: A Systematic Review and Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4963864/. Accessed February 18, 2022

Laxative potential of the ethanolic leaf extract of Aloe vera (L.) Burm. f. in Wistar rats with loperamide-induced constipation. https://www.researchgate.net/publication/232273149_Laxative_potential_of_the_ethanolic_leaf_extract_of_Aloe_vera_L_Burm_f_in_Wistar_rats_with_loperamide-induced_constipation. Accessed February 18, 2022

Emodin and Aloe-Emodin Suppress Breast Cancer Cell Proliferation through ERα Inhibition. https://www.hindawi.com/journals/ecam/2013/376123/. Accessed February 18, 2022

Dietary Aloe Vera Supplementation Improves Facial Wrinkles and Elasticity and It Increases the Type I Procollagen Gene Expression in Human Skin in vivo. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2883372/. Accessed February 18, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/02/2022

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง

avatar

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 24/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา