หญ้าหนวดแมว เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นยารักษาโรค ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและสารพฤษเคมีหลายชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น ต้านการอักเสบ รักษาโรคเบาหวาน รักษาความดันโลหิตสูง รักษาโรคข้ออักเสบ ทั้งยังอาจช่วยปรับปรุงระบบประสาท อย่างไรก็ตาม หากใช้เป็นยาควรอยู่ในความควบคุมของคุณหมอเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
คุณค่าทางโภชนาการของหญ้าหนวดแมว
หญ้าหนวดแมวปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 3.45 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น
- โซเดียม 81.3 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 78 กรัม
- ไฟเบอร์ 17 กรัม
- โปรตีน 6.8 กรัม
- น้ำตาล 6 กรัม
- ไขมัน 0.04 กรัม
ประโยชน์ของหญ้าหนวดแมวที่มีต่อสุขภาพ
หญ้าหนวดแมว มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของหญ้าหนวดแมวในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
-
อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ
หญ้าหนวดแมวมีสารประกอบที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น เมทานอล (Methanol) เอทานอล (Ethanol) ที่อาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบในร่างกายได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Agricultural and Food Chemistry เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบของหญ้าหนวดแมวและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ พบว่า สารสกัดจากน้ำหญ้าหนวดแมว สารประกอบเมทานอลและเอทานอล อาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ โดยสารประกอบเอทานอลมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่โดดเด่นที่สุด
-
อาจช่วยรักษาโรคเบาหวาน
หญ้าหนวดแมวอาจใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินเพื่อใช้ในการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด จึงอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Integrative Medicine Research เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับหญ้าหนวดแมวเป็นยารักษาโรคเบาหวานในภาวะน้ำตาลในเลือดสูง พบว่า หญ้าหนวดแมวช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินเพื่อเผาผลาญน้ำตาลในกระแสเลือด โดยหญ้าหนวดแมวอาจกระตุ้นปฏิกิริยาของเปปไทด์ (Peptide) ที่เป็นโครงสร้างโปรตีนในร่างกาย เช่น ฮอร์โมน GLP-1 ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งอินซูลิน และฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความหิว ทำให้กระตุ้นการทำงานของอินซูลิน กระตุ้นการทำงานของเซลล์ในตับอ่อนเพื่อผลิตอินซูลิน ทำให้สามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ทั้งนี้เป็นเพียงการทดลองในสัตว์ ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของหญ้าหนวดแมวในการควบคุมเบาหวาน
-
อาจช่วยรักษาความดันโลหิตสูง
การใช้สารสกัดจากหญ้าหนวดแมวร่วมกับการควบคุมอาหารและการปรับพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารไขมันต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี อาจมีส่วนช่วยลดความดันโลหิตได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เมื่อเดือนมกราคม-เมษายน พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารสกัดจากหญ้าหนวดแมวในการรักษาความดันโลหิตสูง โดยจากงานวิจัย 2 ชิ้นซึ่งมีการทดลองด้วยการควบคุมอาหารร่วมกับการใช้สารสกัดจากหญ้าหนวดแมว และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 30-80 ราย พบว่า หญ้าหนวดแมวช่วยลดความดันโลหิตซิสโตลิก (Systolic Blood Pressure) ซึ่งเป็นแรงดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัวได้ ดังนั้น สารสกัดจากหญ้าหนวดแมวจึงอาจมีประโยชน์สำหรับการรักษาความดันโลหิตสูง
-
อาจช่วยรักษาโรคข้ออักเสบ
หญ้าหนวดแมวมีสารประกอบเอทานอลที่อาจมีคุณสมบัติช่วยรักษาโรคข้ออักเสบได้ เช่น โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Complementary Medicine and Therapies เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับหญ้าหนวดแมวในการปรับปรุงการเกิดโรคข้ออักเสบ พบว่า สารสกัดเอทานอลจากหญ้าหนวดแมวใช้ในการรักษาโรคเกาต์ โรคข้ออักเสบ และสภาวะที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ โดยการยับยั้งอาการบวมน้ำที่เท้า นอกจากนี้ ยังยับยั้งการผลิตเอนไซม์ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการอักเสบของร่างกาย ดังนั้น สารสกัดจากหญ้าหนวดแมวจึงอาจมีคุณสมบัติต้านข้ออักเสบและอาจเป็นประโยชน์ในการป้องกันและจัดการโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และความผิดปกติของการอักเสบเรื้อรังอื่น ๆ
-
อาจช่วยปรับปรุงระบบประสาท
หญ้าหนวดแมวมีสารประกอบเอทานอลที่อาจมีส่วนช่วยปรับปรุงระบบประสาทและฟื้นฟูความจำที่เสื่อมสภาพตามอายุได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับผลของสารสกัดใบเอทานอลจากหญ้าหนวดแมวต่อการเสริมสร้างความจำ พบว่า สารสกัดเอทานอลจากใบหญ้าหนวดแมวอาจมีส่วนช่วยปรับปรุงระบบประสาทและความทรงจำระยะสั้นได้ ด้วยการปิดกั้นตัวรับสารเคมีอะดีโนซีน (Adenosine) ซึ่งเป็นสารเคมีที่อยู่ในเซลล์ทุกเซลล์ มีหน้าที่ควบคุมการใช้ออกซิเจนและการไหลเวียนเลือดของหัวใจ จึงอาจส่งผลดีต่อการช่วยปรับปรุงและฟื้นฟูความจำที่เกี่ยวข้องกับอายุ และสามารถป้องกันหรือลดอัตราการเสื่อมสภาพของระบบประสาทได้
-
มีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ
หญ้าหนวดแมวมีสารประกอบเมทานอลที่อาจใช้เป็นยาขับปัสสาวะและลดกรดยูริกส่วนเกินได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Ethnopharmacology เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ขับปัสสาวะและฤทธิ์ในการลดกรดยูริกของสารสกัดเมทานอลจากหญ้าหนวดแมว พบว่า หญ้าหนวดแมวเป็นยาพื้นบ้านที่ใช้ในการรักษาโรคไต โรคเกาต์ และเป็นยาขับปัสสาวะ ทั้งยังช่วยในการขับโซเดียมและโพแทสเซียมทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น จึงอาจเป็นไปได้ว่าการผสมสารสกัดเมทานอลจากหญ้าหนวดแมวกับน้ำในอัตราส่วน 1:1 มีต่อผลขับปัสสาวะและลดภาวะกรดยูริกเกินได้ ทั้งนี้เป็นเพียงการทดลองในสัตว์ ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
-
มีฤทธิ์ช่วยต้านจุลชีพ
หญ้าหนวดแมวมีสารพฤษเคมีหลายชนิด เช่น คลอโรฟอร์ม (Chloroform) เมทานอล (Methanol) เอทิลอะซิเตท (Ethyl Acetate) ที่อาจมีฤทธิ์ช่วยต้านจุลชีพที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Saudi Journal of Biological Sciences เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระและต้านจุลชีพที่พบในสารสกัดของหญ้าหนวดแมว แป๊ะตำปึง (Gynura Procumbens) และไทรใบโพธิ์หัวกลับ (Ficus Deltoidea) พบว่า สารสกัดคลอโรฟอร์ม เมทานอล และเอทิลอะซิเตท ที่พบในหญ้าหนวดแมวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านจุลชีพ เช่น เชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ที่ดื้อต่อยาเพนนิซิลิน (Penicillin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
ข้อควรระวังในการบริโภคหญ้าหนวดแมว
หญ้าหนวดแมวมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะหากใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ คือ แบบสดประมาณ 90-120 กรัม หรือแบบแห้งประมาณ 40-50 กรัม อาจส่งผลดีต่อสุขภาพและใช้เป็นยารักษาโรคได้ อย่างไรก็ตาม ควรอยู่ในการควบคุมของคุณหมอ หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้มีอาการปัสสาวะมากกว่าปกติ เกิดภาวะขาดแร่ธาตุบางชนิด ร่างกายสูญเสียน้ำ ระดับโซเดียมในเลือดต่ำจนเกิดการสะสมของโพแทสเซียม ทั้งยังอาจทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะและปวดศีรษะได้
[embed-health-tool-bmr]