อาหารเสริม แคลเซียม เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ หรือผู้ที่ร่างกายไม่ได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น รับประทานอาหารมังสวิรัติ แพ้แลคโตสในนม เป็นโรคลำไส้หรือโรคทางเดินอาหาร การที่ร่างกายได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพออาจส่งผลดีต่อความแข็งแรงของกระดูก และกระบวนการทำงานของร่างกาย เช่น หัวใจ เส้นประสาท กระบวนการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาจช่วยป้องกันโรคบางชนิดได้ เช่น กล้ามเนื้อเป็นตะคริว โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกอ่อน ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง
[embed-health-tool-bmr]
อาหารเสริม แคลเซียม มีประโยชน์อย่างไรต่อสุขภาพ
อาหารเสริม แคลเซียมอาจมีประโยชน์อย่างมากต่อผู้ที่มีปัจจัยบางประการที่ทำให้ร่างกายไม่ได้รับแคลเซียมอย่างเหมาะสม เช่น รับประทานอาหารมังสวิรัติ แพ้แลคโตสในนม เป็นโรคลำไส้หรือโรคทางเดินอาหาร ซึ่งการได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพออาจช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกาย ดังนี้
- แคลเซียมเป็นสิ่งจำเป็นในกระบวนการสร้างกระดูก ดังนั้น การได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอาจช่วยเสริมมวลกระดูกและความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งอาจช่วยป้องกันการแตกหักของกระดูกได้
- แคลเซียมอาจช่วยส่งเสริมกระบวนการทำงานของหัวใจ เส้นประสาท และกระบวนการแข็งตัวของเลือด
- แคลเซียมอาจช่วยป้องกันการกล้ามเนื้อเป็นตะคริว โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกอ่อน และป้องกันภาวะพีเอ็มเอส (Premenstrual Syndrome หรือ PMS) ซึ่งเป็นภาวะความผิดปกติของร่างกายและจิตใจในช่วงก่อนมีประจำเดือน
- แคลเซียมที่เพียงพออาจช่วยป้องกันโรคอีกหลายชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง
สำหรับปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวันจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุและเพศ ดังนี้
- ผู้ชายและผู้หญิงอายุ 19-50 ปี ควรได้รับแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้หญิงอายุ 51 ปีขึ้นไป ควรได้รับแคลเซียมประมาณ 1,200 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้ชายอายุ 51-70 ปี ควรได้รับแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้ชายอายุ 71 ปีขึ้นไป ควรได้รับแคลเซียมประมาณ 1,200 มิลลิกรัม/วัน
ปริมาณแคลเซียมสูงสุดที่แนะนำต่อวัน ในผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุ 19-50 ปี ไม่ควรเกิน 2,500 มิลลิกรัม/วัน ส่วนผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รับประทานอาหารที่หลากหลายและอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน อาจไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมแคลเซียม เนื่องจากในอาหารที่รับประทานในแต่ละวันจะอุดมไปด้วยแคลเซียมตามธรรมชาติที่ดีต่อร่างกายอยู่แล้ว
ผู้ที่ควรได้รับ อาหารเสริม แคลเซียม
นอกจากจะรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมแล้ว เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมที่เพียงพอต่อการบำรุงและส่งเสริมกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย จึงอาจต้องรับประทานอาหารเสริมแคลเซียมเพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเหล่านี้
- ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ
- ผู้ที่มีอาการแพ้แลคโตสในนมและจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการดื่มนม
- ผู้ที่รับประทานโซเดียมหรือโปรตีนในปริมาณมาก ซึ่งอาจทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมามากได้เช่นกัน
- ผู้ที่ทำการรักษาด้วยยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ในระยะยาว ซึ่งอาจลดการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้
- ผู้ที่เป็นโรคลำไส้หรือโรคทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคเซลิแอค (Celiac Disease) ซึ่งสามารถลดการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ได้
วิธีเลือกอาหารเสริม แคลเซียม
วิธีการเลือกอาหารเสริมแคลเซียมอาจทำได้ ดังนี้
- เลือกปริมาณแคลเซียมในอาหารเสริมให้เหมาะสม เนื่องจากสารประกอบแคลเซียมของอาหารเสริมแต่ละชนิดอาจไม่เท่ากัน เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) มีแคลเซียม 40% แคลเซียมซิเตรท (Calcium Citrate) มีแคลเซียม 21% แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium Gluconate) มีแคลเซียม 9% แคลเซียมแลคเตท (Calcium Lactate) มีแคลเซียม 13% ดังนั้น จึงควรพิจารณาปริมาณแคลเซียมจากอาหารที่ได้รับในแต่ละวันร่วมกับปริมาณแคลเซียมในอาหารเสริม เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมในปริมาณที่ไม่มากจนเกินความต้องการของร่างกาย
- เลือกอาหารเสริม แคลเซียมที่เหมาะกับร่างกาย เนื่องจากอาหารเสริมแคลเซียมอาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น แก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องผูก ท้องอืด จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ทำให้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยที่สุด
- อาหารเสริมแคลเซียมอาจมีผลกระทบต่อการออกฤทธิ์ของยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยารักษาความดันโลหิต ฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์ ยาบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) ยาปฏิชีวนะ ยาต้านแคลเซียม (Calcium Channel Blockers) ดังนั้น ผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารเสริมแคลเซียม จึงควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ การใช้ยารักษาโรค หรือประเมินปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อให้สามารถรับประทานอาหารเสริมแคลเซียมได้อย่างเหมาะสม
ข้อควรระวังในการบริโภคอาหารเสริม แคลเซียม
โดยปกติผู้ที่มีอายุ 19-50 ปี ควรได้รับแคลเซียมที่จำเป็นจากอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไม่เกิน 2,500 มิลลิกรัม/วัน และผู้ที่มีอายุมากกว่า 51 ปีขึ้นไป ควรได้รับแคลเซียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งการบริโภคอาหารเสริมแคลเซียมมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไต ท้องผูก ท้องอืด อาหารไม่ย่อย หรือการสะสมของแคลเซียมในหลอดเลือดที่มากเกินไป รวมถึงยังอาจทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กและสังกะสีได้ยากขึ้นอีกด้วย