แร่ธาตุ เป็นสารอาหารรองที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย อาจพบได้ในอาหารตามธรรมชาติ เช่น อาหารทะเล ผักและผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสีเต็มเมล็ด ซึ่งแร่ธาตุมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของร่างกายในหลายส่วน เช่น การเจริญเติบโต ความแข็งแรงของกระดูกและฟัน การทำงานของระบบประสาท จึงควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุอย่างเพียงพอเป็นประจำทุกวัน เพื่อสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง
[embed-health-tool-bmi]
แร่ธาตุ สำคัญต่อร่างกายอย่างไร
แร่ธาตุ เป็นสารอาหารรองที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย เพื่อช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต ช่วยสร้างกระดูกและฟัน ช่วยสร้างเนื้อเยื่อ ช่วยควบคุมการหลั่งสารสื่อประสารและฮอร์โมน โดยแร่ธาตุจำเป็นที่ร่างกายต้องการมีทั้งหมด 16 ชนิด แบ่งออกเป็นแร่ธาตุหลักและแร่ธาตุรอง ซึ่งแร่ธาตุแต่ละชนิดมีความสำคัญ หน้าที่ และปริมาณที่ควรได้รับแตกต่างกัน
แร่ธาตุแต่ละชนิด มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร
แร่ธาตุทั้ง 16 ชนิดอาจมีประโยชน์ต่อร่างกายแตกต่างกัน โดยแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ อาจมี ดังนี้
- โพแทสเซียม ช่วยสนับสนุนการทำงานของเส้นประสาทและเซลล์ประสาท และช่วยรักษาระดับของเหลวภายในเซลล์ อาจพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ มะเขือเทศ ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี่ อะโวคาโด มันฝรั่ง กล้วย ลูกเกด แอปริคอต ไก่ แซลมอน โยเกิร์ต
- โซเดียม ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำและแร่ธาตุ รวมถึงยังอาจช่วยกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทอีกด้วย อาจพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น ผักและผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสีเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว เนื้อสัตว์ นม เกลือและอาหารแปรรูปที่มีโซเดียมในปริมาณมาก เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม อาหารแช่แข็งพร้อมทาน
- โคลีน (Choline) ช่วยในการหดตัวของกล้ามเนื้อ ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมองและระบบประสาท ซึ่งร่างกายสามารถสร้างโคลีนได้ในปริมาณน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น อาจเสริมโคลีนด้วยการรับประทานอาหารต่าง ๆ เช่น กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ เห็ดหอม มันฝรั่ง พืชตระกูลถั่ว เนื้อวัว อกไก่ เนื้อปลา ไข่แดง นม โยเกิร์ต
- แคลเซียม มีบทบาทในการช่วยส่งเสริมสุขภาพกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยควบคุมการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อ รวมถึงอาจช่วยควบคุมการทำงานของเส้นประสาท อาจพบแคลเซียมได้ในอาหารหลายชนิด เช่น ผักใบเขียว (เช่น ผักปวยเล้ง คะน้า ผักกาด) นม ผลิตภัณฑ์จากนม (เช่น ชีส โยเกิร์ต) อัลมอนด์ ถั่วเขียว เต้าหู้ ปลาซาร์ดีนกระป๋องแบบมีก้าง ปลาตัวเล็กที่สามารถรับประทานก้างได้
- แมกนีเซียม (Magnesium) ช่วยในการสร้างโปรตีนและกระดูก ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต รวมถึงยังอาจช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจและการหดตัวของกล้ามเนื้อ แมกนีเซียมอาจพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น พืชตระกูลถั่ว (เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์) เมล็ดพืช (เช่น เมล็ดฟักทอง ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต) เนื้อวัว ไก่ แซลมอน ลูกเกด กล้วย นม โยเกิร์ต
- ฟอสฟอรัส (Phosphorus) ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ เป็นส่วนประกอบของดีเอ็นเอ กระดูกและฟัน รวมถึงยังอาจเป็นแหล่งพลังงานภายในเซลล์ โดยอาจพบฟอสฟอรัสได้ในอาหารหลายชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม (เช่น ชีส โยเกิร์ต เนย) เนื้อวัว เนื้อหมู ไก่ ปลา ไข่ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช ผัก
- ไอโอดีน ช่วยในการสาร้างฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการทำงานของเอนไซม์ ที่อาจช่วยป้องกันภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป ซึ่งไอโอดีนอาจพบได้ในอาหารต่าง ๆ เช่น อาหารทะเล (เช่น ปลา หอย สาหร่ายทะเล) นมและผลิตภัณฑ์จากนม (เช่น โยเกิร์ต เนย ชีส) ไข่ เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก
- เหล็ก เป็นส่วนประกอบของเซลล์เม็ดเลือดและน้ำเลือด รวมถึงยังอาจช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของสมองโดยเฉพาะในวัยเด็ก อาจพบเหล็กได้ในอาหารหลายชนิด เช่น เครื่องในสัตว์ (เช่น ตับ เลือดหมู เลือดไก่) หอยนางรม หอยแมลงภู่ เนื้อสัตว์ปีก เนื้อวัว ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีนกระป๋อง
- สังกะสี ช่วยสนับสนุนการทำงานของเอนไซม์ และช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น อาหารทะเล (เช่น หอยนางรม ปู กุ้งมังกร) เนื้อวัว เนื้อหมู ไก่ ไข่ ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว
- ฟลูออไรด์ (Fluoride) ช่วยส่งเสริมการสร้างกระดูกและป้องกันปัญหาฟันผุ อาจพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง และสามารถพบได้ในยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก
- แมงกานีส (Manganese) ช่วยในการย่อยและการดูดซึมกรดอะมิโน ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มและระบบสืบพันธ์ุ รวมถึงยังอาจช่วยในการสร้างกระดูก โดยอาจพบแมงกานีสได้ในอาหารต่าง ๆ เช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด ข้าว ถั่วเหลือง ผักใบเขียว พริกไทยดำ หอยนางรม หอยแมลงภู่ กาแฟ ชา
- ซีลีเนียม (Selenium) ช่วยป้องกันการติดเชื้อ ช่วยสนับสนุนการทำงานของเอนไซม์และการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ซึ่งอาจพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น ถั่ว ขนมปังโฮลวีต ธัญพืชไม่ขัดสี ปลา หอย เนื้อวัว ไก่
- โครเมียม (Chromium) ช่วยในการย่อยสลายและดูดซึมโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินบี 3 และวิตามินซี สามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี พืชตระกูลถั่ว บร็อคโคลี่ มันฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วย เนื้อวัว เนื้อปลา ไก่ ไข่แดง กาแฟ
- ทองแดง ช่วยในการทำงานของเอนไซม์ สังเคราะห์สารสื่อประสาทและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันธ์ุ และส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย สามารถพบได้ในอาหารต่าง ๆ เช่น เมล็ดพืช ซีเรียล รำข้าวสาลี ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อวัว ตับ หอยนางรม เต้าหู้ ดาร์กช็อกโกแลต
- คลอไรด์ (Chloride) ช่วยกระตุ้นกรดในกระเพาะอาหารที่จำเป็นสำหรับการย่อยอาหาร กระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อ ช่วยในการไหลเวียนของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ภายในเซลล์ ซึ่งอาจพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น สาหร่าย กุ้ง เกลือแกง เกลือทะเล อาหารแปรรูปและเครื่องปรุงโซเดียมสูง (เช่น ฮอทดอก ชีส มันฝรั่งทอด ซอสมะเขือเทศ ซีอิ๊วขาว)
- โมลิบดีนัม (Molybdenum) ช่วยในการทำงานของเอนไซม์ และช่วยล้างสารพิษตกค้างในร่างกาย โดยอาจพบโมลิบดีนัมได้ในอาหารหลายชนิด เช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว (เช่น ถั่วตาดำ ถั่วลิสง) ตับ เนื้อวัว เนื้อไก่ ไข่ โยเกิร์ต มันฝรั่ง กล้วยหอม