backup og meta

ใบสะระแหน่ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ใบสะระแหน่ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ใบสะระแหน่ เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม นิยมนำไปใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งนำไปประกอบอาหาร สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย สกัดเป็นแคลซูลเพื่อสุขภาพ เนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยบำรุงสมอง ป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และอาจช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดอาการปวดประจำเดือนได้

คุณค่าโภชนาการของ ใบสะระแหน่

ใบสะระแหน่ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 48 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหาร เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 5 กรัม
  • ไฟเบอร์ 3 กรัม
  • โซเดียม 20 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 30 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ใบสะระแหน่ยังมีวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินอี เบตาแคโรทีน แคลเซียม สังกะสี และเหล็ก ทั้งยังมีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหย เช่น เมนทอล (Menthol) ซิทรัล (Citral) กรดโรสมารินิก (Rosmarinic acid) ที่มีฤทธิ์กล่อมประสาท หากใช้อย่างถูกวิธีอาจช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดความเครียด และลดอาการปวดได้

ประโยชน์ทางสุขภาพของใบสะระแหน่

ใบสะระแหน่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของใบสะระแหน่ ดังนี้

อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

ใบสะระแหน่ะมีสารประกอบที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น เทอร์พีนอยด์ (Terpenoids) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) เควอซิทิน (Quercetin) ควอซิทริน (Quercitrin รูติน (Rutin) กรดแกลลิก (Gallic acid) ซึ่งสามารถยับยั้งหรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระ ป้องกันการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเรื่อง สารต้านอนุมูลอิสระในสะระแหน่ โดยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยในกลุ่มตัวอย่างในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง พบว่า สารสกัดจากสะระแหน่ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด ได้แก่ เควอซิทิน รองลงมา คือกรดกาลิก ควอซิทริน และรูติน ตามลำดับ สารประกอบเหล่านี้สามารถป้องกันการผลิตสารออกฤทธิ์ทางเคมีและอาจขัดขวางการเกิดกระบวนการลิพิดเปอร์ออกซิเดชัน (Lipid peroxidation) ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระได้

อาจช่วยบำรุงสมองได้

ใบสะระแหน่ มีสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) เควอซิทิน (Quercetin) รูติน (Rutin) กรดแกลลิก (Gallic acid) ที่อาจมีประโยชน์ต่อระบบสมองและความจำ เนื่องจากสามารถยับยั้งการทำงานของแอซิติลโคลีนเอสเตอเรส (Acetylcholinesterase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาทสมองหรือแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ที่สำคัญต่อการจดจำ หากมีสารชนิดนี้น้อยเกินไป อาจทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ โรคนี้เกิดจากอนุมูลอิสระออกซิเจน (Radical oxygen species หรือ ROS) ร่วมกับองค์ประกอบอื่น ๆ ไปทำลายองค์ประกอบของเซลล์ ทำให้เกิดการอักเสบ สารต้านอนุมูลอิสระจึงอาจมีประโยชน์ในการรักษาและชะลอโรคที่เกิดจากกระบวนการอักเสบภายในเซลล์สมองเช่นนี้ได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ethnopharmacology เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549  ศึกษาเกี่ยวกับการยับยั้งเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเตอเรสและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของพืชสมุนไพรจากประเทศโปรตุเกส พบว่า น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากสะระแหน่ มีคุณสมบัติในการยับยั้งการทำงานของแอซิติลโคลีนเอสเตอเรส และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง จึงอาจสรุปได้ว่าใบสะระแหน่เป็นทางเลือกอาจนำมารักษาภาวะสมองเสื่อมหรือที่เรียกว่าโรคอัลไซเมอร์ได้

อาจบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

น้ำมันหอมระเหยในใบสะระแหน่มีสารซิทรัล (Citral) เช่น  ลินาลูล (Linalool) ซิททรอเนลลา (Citronella) ที่อาจช่วยบรรเทาอาการไม่สบายตัวและลดอาการปวดประจำเดือนและกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) ได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nursing and Midwifery Studies เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารสกัดจากสะระแหน่ต่อความรุนแรงของอาการก่อนมีประจำเดือน โดยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนหญิงระดับมัธยมปลายจำนวน 100 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกรับประทานสารสกัดจากสะระแหน่วันละ 2 ครั้ง ๆ ละ 600 มิลลิกรัม ส่วนอีกกลุ่มรับประทานยาหลอก เป็นเวลา 3 รอบเดือน พบว่า กลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากสะระแหน่มีระดับความรุนแรงของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก จึงอาจกล่าวได้ว่า สารสกัดจากสะระแหน่ช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนได้ ทั้งนี้ ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลแน่ชัดขึ้น

ข้อควรระวังในการบริโภค ใบสะระแหน่

ข้อควรระวังในการบริโภคใบสะระแหน่ อาจมีดังนี้

  • การรับประทานใบสะระแหน่ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงสำหรับบางคน เช่น กระตุ้นให้อยากอาหาร คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ หายใจมีเสียงหวีด หากรับประทานใบสะระแหน่แล้วมีอาการดังกล่าว หรือพบความผิดปกติใด ๆ ควรหยุดรับประทาน แล้วปรึกษาคุณหมอทันที
  • การใช้สะระแหน่เพื่อเสริมสุขภาพ ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและไม่ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า การใช้สะระแหน่ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือนจะปลอดภัยต่อสุขภาพ และปริมาณในการใช้งานที่ปลอดภัยอาจอยู่ที่ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/วัน ติดต่อกันไม่เกิน 6 เดือน
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานใบหรือสารสกัดจากสะระแหน่ในช่วงที่เตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากฤทธิ์ของใบสะระแหน่อาจไปลดประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในช่วงผ่าตัดและหลังการผ่าตัด หรืออาจส่งผลเสียต่อสุขภาพเมื่อใช้ร่วมกับยาบางชนิด
  • น้ำมันที่สกัดจากใบสะระแหน่อาจมีความเข้มข้นของเมนทอลสูง จนก่อให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใช้บางราย เช่น ผิวหนังอักเสบ ผื่นแดง ลมพิษ หากใช้แล้วเกิดอาการเหล่านี้ควรหยุดใช้โดยทันที

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/06/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปากนกกระจอกขาดวิตามินอะไร ควรรับประทานอาหารแบบไหน

เลือดจาง กิน วิตามิน อะไร เพื่อบำรุงและกระตุ้นการไหลเวียนเลือด


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา