backup og meta

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ชาไข่มุก และข้อเท็จจริงที่คุณควรรู้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ชาไข่มุก และข้อเท็จจริงที่คุณควรรู้

“กินชาไข่มุกมากๆ ระวังจะเป็นโรคนะ” ประโยคคำเตือนเกี่ยวกับการรับประทานชาไข่มุกยอดฮิตที่แฟนคลับชาไข่มุกหรือชานมไข่มุกหลายต่อหลายคนมักจะได้ยินผ่านเข้าหูอยู่เสมอ แต่ ชาไข่มุก จะทำให้ร่างกายของเราแย่ลงดังที่เขาพูดกันจริงหรือ? สรุปแล้วชาไข่มุกแย่ต่อสุขภาพมากขนาดนั้นหรือไม่ มาหาคำตอบได้จากบทความนี้ของ Hello คุณหมอ ค่ะ

มีอะไรอยู่ในชาไข่มุกบ้าง

ชาไข่มุก หรือ ชานมไข่มุก เมนูยอดนิยมที่ไม่ว่าจะไปที่ไหน ห้างสรรพสินค้าใด ก็จะต้องเจอร้านชาไข่มุกตั้งเรียงรายกันอยู่เต็มไปหมด ชาไข่มุกหนึ่งแก้วประกอบไปด้วย น้ำตาลทราย น้ำเชื่อม นมข้นหวาน นมสด น้ำผลไม้หรือชาหลากหลายประเภทที่มีให้เลือกกันอย่างจุใจ และส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เมนูนี้โด่งดังนั่นก็คือเม็ดไข่มุก หรือก็คือสาคูเม็ดใหญ่ที่นำไปต้มสุกนั่นเอง อย่างไรก็ตามวัตถุดิบเหล่านี้ก็จะแตกต่างกันไปตามสูตรของแต่ละร้าน บางร้านอาจมีการเพิ่มทอปปิ้ง หรือวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น น้ำผึ้ง หรือวิปครีม เป็นต้น

ชาไข่มุกให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต 45-62 กรัม ไขมัน 0-14 กรัม  โปรตีน 0.4-2 กรัม โดยชาไข่มุก 1 แก้ว ให้พลังงาน 240 ถึง 360 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับการรับประทานก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม

กิน ชาไข่มุก แล้วเป็นเบาหวานจริงหรือ?

คำเตือนอันดับต้น ๆ เมื่อคุณกำลังรับประทาน ชาไข่มุก นั่นก็คือ “ระวังจะเป็นเบาหวานนะ!” 

ซึ่งคำเตือนนี้จัดว่า เป็นความจริง เพราะการรับประทานชานมไข่มุกในปริมาณมากหรือรับประทานติดต่อกันมากจนเกินไปสามารถก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้ เนื่องจากปริมาณน้ำตาลที่อยู่ในชาไข่มุกนั้นมีปริมาณที่สูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ในแต่ละวันคือ 6 ช้อนชาต่อวัน แต่ชานมไข่มุกมีน้ำตาลอยู่ที่ 8-11 ช้อนชา ดังนั้นหากร่างกายมีปริมาณของน้ำตาลสะสมในปริมาณที่มากจนเกินไป ก็สามารถที่จะส่งผลให้คุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้

กิน ชาไข่มุก แล้วจะเป็นมะเร็งจริงหรือ?

จากการที่มักจะมีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับว่าเม็ดชาไข่มุกนั้นก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งสำหรับเรื่องนี้นั้น เรียกได้ว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างแท้จริง ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน นักวิจัยของ University Hospital Aachen ประเทศเยอรมนี มีการนำเสนอข้อมูลที่ว่าเม็ดไข่มุกนั้นมีสารสำคัญที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ เนื่องจากมีการพบสารสไตรีน (Styrene) และ อะซิโตฟีโนน (Acetophenone) และสารอื่น ๆ ที่มีการจับตัวอยู่กับโบรมีน (Bromine) และยังมีการคาดการณ์อีกว่านั่นเป็นสารประกอบกลุ่ม โพลีคลอรีนเนตเต็ตไบฟีนีล (Polychlorinated biphenyls)  ที่พบในการทดลองกับสัตว์แล้วว่าเป็นสารประกอบที่ทำให้เกิดมะเร็ง 

หลังจากนั้นข่าวนี้ก็ได้กลายมาเป็นข่าวใหญ่ พร้อมกับการโหมกระพือจากสื่อหลายสำนัก ต่อมานักวิจัยในประเทศไต้หวันจึงได้ทำการรวบรวมตัวอย่างของเม็ดชาไข่มุกจากหลายยี่ห้อในไต้หวัน เพื่อนำมาทำการตรวจหาสารดังกล่าว ซึ่งก็ไม่พบว่ามีสารสไตรีน พบเพียงแต่สารประกอบในกลุ่มโบรมีนเนตเต็ทไบฟีนิลและอะซิโตฟีโนน และมีการตรวจพบในปริมาณที่น้อยมาก จนไม่ก่อให้เกิดผลใดที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ 

ในขณะที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐ หรือ (FDA) กล่าวว่าสารประกอบกลุ่มอะซิโตฟีโนนและสารสไตรีนนั้น ไม่ถือว่าเป็นสารกลุ่มพีซีบี (PCBs) หรือ โพลีคลอริเนตไบฟีนิล  (สารกลุ่มพีซีบีเป็นสารที่มีผลต่อความผิดปกติของระบบพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกัน และก่อให้เกิดมะเร็ง) เนื่องจากสารดังกล่าวไม่ได้มีส่วนประกอบเป็นคลอรีนหรือไบฟีนิล ยิ่งไปกว่านั้นสารประกอบกลุ่มอะซิโตฟีโนนและสไตรีนนั้น ยังได้รับอนุญาตให้ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร มีการอนุญาตให้ใส่ลงในอาหาร เพื่อแต่งกลิ่นสังเคราะห์ในอาหารได้อย่างถูกกฎหมายในสหรัฐด้วย

ดังนั้นจึงเป็นผลสรุปได้ว่า เม็ดไข่มุกไม่ได้มีสารประกอบใดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างที่มีข่าวออกมา

แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ธุรกิจชาไข่มุกนั้นกำลังเติบโต บางร้านอาจไม่ได้มีการทำเม็ดไข่มุกเอง บางร้านอาจใช้เม็ดไข่มุกที่สั่งจากโรงงาน หรือยี่ห้ออื่น ๆ ซึ่งบางยี่ห้ออาจมีการใส่สารกันบูดลงในเม็ดไข่มุกด้วย ในจุดนี้หากรับประทานอาหารที่มีสารกันบูดจนกระทั่งสะสมในร่างกายในปริมาณมาก  ก็จะก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบทางเดินอาหาร อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ท้องเสีย และอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้หากมีการสะสมสารนี้ไว้ในร่างกายในปริมาณที่มากจนเกินไป

เม็ดไข่มุก กินแล้วจะไม่ย่อย แต่จะตกค้างอยู่ในช่องท้องจริงหรือ?

เมื่อเร็วๆ นี้ มีภาพข่าวของเด็กหญิงชาวจีน พร้อมกับข้อความที่กล่าวว่า สิ่งที่ตกค้างอยู่ภายในท้องของเด็กหญิงคนดังกล่าวนั้นมีลักษณะเหมือนเม็ดชาไข่มุก ก่อให้เกิดกระแสความตกใจต่อชาไข่มุกขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการที่เม็ดไข่มุกจะตกค้างอยู่ในช่องท้องหรือลำไส้นั้น มีโอกาสเป็นไปได้อยู่ไม่กี่กรณี คือ 

1. เกิดจากการที่บุคคลนั้นมีลำไส้ที่ตีบ หรือมีพังผืดในลำไส้ ซึ่งส่งผลให้การย่อยอาหารนั้นเป็นไปได้ยากลำบาก 

2. มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในเม็ดไข่มุก เช่น พลาสติก หรือโลหะ เป็นต้น 

ในความเป็นจริงแล้ว เม็ดไข่มุกทำมาจากแป้ง หรือแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งเมื่อเม็ดไข่มุกมีสถานะที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเพราะทำมาจากแป้ง เมื่อกลืนเข้าไปและเข้าสู่กระเพาะอาหารเม็ดไข่มุกก็จะถูกย่อยอย่างง่ายดาย

กินชาไข่มุกอย่างไรให้ไม่เสียสุขภาพ

แม้จะมีบางเรื่องที่ไม่น่าเป็นห่วง แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องเป็นห่วงเกี่ยวกับการบริโภคชาไข่มุก เนื่องจากการรับประทานชาไข่มุกในปริมาณมากจนเกินไป มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนไปจนถึงโรคเบาหวาน เนื่องมาจากปริมาณของน้ำตาลที่อยู่ในชาไข่มุกนั่นเอง ดังนั้นหากไม่สามารถลาขาดจากชาไข่มุกได้ ก็จำเป็นที่จะต้องรับประทานชาไข่มุกในแบบฉบับที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพน้อยที่สุด โดยสามารถทำได้ดังนี้

  • ขั้นแรกอาจจะเริ่มจากการลดปริมาณและจำนวนการรับประทานชาไข่มุกลง จากวันละ 2 แก้ว เหลือเพียงวันละ 1 แก้ว ค่อยๆ ลดลงมาเป็น 2 วัน 1 แก้ว 3 วัน 1 แก้ว หรือสัปดาห์ละแก้ว ค่อย ๆ ลดจำนวนลงจนอยู่ในจุดที่สามารถควบคุมได้
  • ลดปริมาณน้ำตาลในชาไข่มุกลง รวมถึงลดน้ำเชื่อม นมข้นหวาน หรือนมสด โดยอาจจะเริ่มจากการเลือกสั่งเมนูแบบหวานน้อย ใส่น้ำตาลน้อยลง หรือเลือกใช้สารทดแทนความหวานแบบอื่น ๆ จากธรรมชาติที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
  • หากไม่มั่นใจว่าร้านชาไข่มุกที่คุณไปต่อแถวรอคิวอยู่นั้นใช้เม็ดไข่มุกที่ถูกสุขลักษณะหรือไม่ มีการผสมสารกันบูดหรือไม่ คุณสามารถที่จะปั้นเม็ดไข่มุกสำหรับรับประทานเองได้ง่าย ๆ แถมยังปลอดภัยเพราะใช้วัตถุดิบที่ทำเองและเลือกมาเองกับมือในแบบที่ปลอดสารพิษแน่นอน
  • ออกกำลังกาย แม้การทานน้ำตาลหรือการทานหวานจะก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ และเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักขึ้น แต่การออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญปริมาณแคลอรีก็ยังช่วยให้คุณสามารถรักษาสมดุลของร่างกายเอาไว้ได้ โดยอาจออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เต้นแอโรบิค หรือเข้าฟิตเนส 

อาหารทุกชนิดล้วนให้ทั้งประโยชน์และโทษ มนุษย์เราในฐานะที่เป็นผู้บริโภคจึงควรเลือกรับประทานอย่างชาญฉลาด ไม่รับประทานในปริมาณที่มากหรือน้อยจนเกินไป ควรรู้จักความเหมาะสมและการหักห้ามใจในการรับประทาน เพื่อที่จะได้ไม่เป็นการทำร้ายสุขภาพจากวิสัยในการกินของตนเอง

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tapioca Pearl Problems. https://www.berkeleywellness.com/healthy-eating/food-safety/article/tapioca-pearl-problems. Accessed November 22, 2019

Is Bubble Tea Healthy?. https://www.livestrong.com/article/418232-is-bubble-tea-healthy/. Accessed November 22, 2019

How bubble tea can affect your health. https://www.thestar.com.my/lifestyle/health/2019/08/13/heres-how-bubble-tea-can-affect-your-health. Accessed November 22, 2019

Boba Nutrition Facts. https://www.verywellfit.com/is-boba-healthy-4157722. Accessed November 22, 2019

4 Proven Benefits Of Bubble Tea. https://www.organicfacts.net/health-benefits/herbs-and-spices/bubble-tea.html. Accessed November 22, 2019

​​Bubble Tea: Healthy or Not?. https://www.healthxchange.sg/food-nutrition/food-tips/bubble-tea-healthy-or-not. Accessed November 22, 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

22/06/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคอ้วนในเด็ก กับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กับข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 22/06/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา