อาหารหลัก 5 หมู่ เป็นประเภทอาหารที่ร่างกายเราควรต้องได้รับครบตามเกณฑ์กำหนด หรือรับประทานให้ได้มากที่สุดในแต่ละวัน แต่หากจะให้จำแนกว่ามีสารอาหารอะไรบ้างนั้น ติดตามได้ในบทความของ Hello คุณหมอ ที่นำมาฝากกันในวันนี้ ได้เลยค่ะ
ทำไมต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่
เนื่องจากอาหารหลัก 5 หมู่ เป็นกลุ่มอาหารที่มีส่วนช่วยให้การทำงานต่าง ๆ ของร่างกายเป็นไปในทางที่ดี ส่งผลต่อการเจริญเติบโตในแต่ละวัน ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรัง รวมถึงทำให้ร่างกายได้รับวิตามิน แคลเซียม โปรตีน เพื่อนำไปฟื้นฟูอวัยวะภายใน สร้างความสมดุลให้แก่ร่างกาย แต่หากจะให้การรับประทานอาหารได้รับประโยชน์มากกว่าโทษนั้น ควรจำกัดปริมาณให้พอดี อีกทั้งคุณอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานให้ครบทุกหมู่ก็ย่อมได้ แต่ควรเลือกรับประทานหมู่ใดหมู่หนึ่ง หรือสลับเวียนกันไปอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
อาหารหลัก 5 หมู่ มีอะไรบ้าง
กลุ่มอาหารหลัก 5 หมู่ หรืออาหารขั้นพื้นฐานที่เราทุกคนควรรับประทานนั้น มีดังนี้
- หมู่ที่ 1 โปรตีน หรืออาหารประเภทเนื้อสัตว์ไรไขมัน เนื้อสัตว์ปีก ไข่ และพืชตระกูลถั่ว เช่น เต้าหู้ ปลาแซลมอน ปลาเนื้อขาว เนื้อวัว ถั่วลันเตา เป็นต้น เนื่องจากอาหารเหล่านี้สามารถช่วยปรับปรุงสุขภาพหัวใจ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มวิตามินดี วิตามินเอ และแร่ธาตุเข้าสู่ร่างกายที่ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับช่วงวัยเด็ก
- หมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรต อาหารจำพวกแป้ง เช่น ขนมปัง เส้นพาสต้า ข้าวกล้อง เป็นต้น มักเป็นแหล่งรวมพลังงานที่ดีที่จะช่วยให้คุณนั้นมีแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารนั้นอาจต้องระมัดระวังให้ดี เนื่องจากอาหารในหมู่นี้ยังคงมีการย่อยยากอยู่บ้าง
- หมู่ที่ 3 แร่ธาตุ เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ รวมถึงผักที่เราพบเห็นกันส่วนใหญ่มักประกอบไปด้วยแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายซ่อนอยู่ เช่น ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงความอ้วนได้อีกด้วย
- หมู่ที่ 4 วิตามิน เพื่อให้ได้รับวิตามินจากธรรมชาติ คุณควรรับประทานผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่ทำจากผลไม้แท้ โดยปราศจากน้ำตาลร่วมด้วยในแต่วัน เพื่อเป็นการเพิ่มไฟเบอร์ที่ส่งผลดีต่อระบบการย่อยอาหาร เสริมสร้างกระดูก และฟันให้แข็งแรง
- หมู่ที่ 5 ไขมัน ถึงการรับประทานไขมันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพอยู่บ้าง แต่หากคุณเลือกรับประทาน หรือนำไขมันที่ดีต่อสุขภาพ อย่างไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน และเชิงเดี่ยว เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก เป็นต้น มาปรุงใส่ในอาหารแทน ก็อาจสามารถช่วยให้คุณได้รับโปรตีน และไฟเบอร์ พร้อมทั้งยังห่างไกลจากโรคอ้วนได้อีกด้วย
อาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
หากจะให้คุณเห็นภาพอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้ชัดมากขึ้น คงจะยกตัวอย่างเป็นอาหารจานด่วนทั่วไป อาหารประเภทของทอด และอาหารแปรรูปต่าง ๆ นั่นเอง เนื่องจากอาหารเหล่านี้มักมีปริมาณแคลอรี่ โซเดียม และอื่น ๆ อีกมากมายในปริมาณมากที่สามารถเข้าไปทำลายสุขภาพได้ในกรณีที่คุณมีการรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ได้แก่
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2
- ภาวะดื้ออินซูลิน
- โรคหัวใจ
- โรคมะเร็ง
- โรคทางเดินปัสสาวะ
- โรคอ้วน
- โรคภูมิแพ้ และโรคหอบหืด
- โรคไต
- โรคอัลไซเมอร์
อย่างไรก็ตามไม่ได้แปลว่าอาหารจานด่วนนั้นจะมีแต่ข้อเสียเสมอไป เพราะอาหารบางอย่างก็มีสารอาหารที่ร่างกายของเรานั้นต้องการอย่างครบถ้วน แต่อาจมีปริมาณที่เยอะจนเกินไปเพียงเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย และสุขภาพที่ดี คุณควรเช็กค่าโภชนาการจากฉลาก และจำกัดปริมาณการรับประทานอาหาระเภทนี้ลงบ้าง ไม่ควรกินทุกวันเป็นประจำ พร้อมมีการออกกำลังกายอยู่เสมอ เพื่อเผาผลาญแคลอรี่ส่วนเกินจากอาหารจานด่วนทั้งหลายนี้ออกไปจากร่างกาย
[embed-health-tool-bmr]