backup og meta

อาหารคนท้องอ่อนห้ามกิน และอาหารบำรุงคนท้องอ่อน ๆ

อาหารคนท้องอ่อนห้ามกิน และอาหารบำรุงคนท้องอ่อน ๆ

คุณแม่อาจสงสัยว่า อาหารคนท้องอ่อนห้ามกิน มีอะไรบ้าง โดยอาหารที่ควรงดจนกว่าจะพ้นช่วงให้นมบุตร คือ เนื้อสัตว์ดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ปลาดิบ หมึกช็อต ก้อยเนื้อ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหล้า เบียร์ ไวน์ อาหารแปรรูปอย่างไส้กรอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารเผ็ดจัด ปลาที่มีสารปรอทอย่างปลาอินทรี ปลากระโทงดาบ นอกจากนี้ คนท้องอ่อน ๆ ยังควรเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ให้สารอาหารครบถ้วน เพื่อบำรุงสุขภาพของคุณแม่และส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-due-date]

อาหารคนท้องอ่อนห้ามกิน

อาหารที่คนท้องอ่อนควรหลีกเลี่ยง เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และทารกในครรภ์ อาจมีดังนี้

  • อาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ

การกินอาหารที่ไม่ปรุงสุก เช่น ปลาแซลมอนดิบ กุ้งเต้น หมึกช็อต ก้อยเนื้อ อาจเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิตบางชนิด เช่น โนโรไวรัส (Norovirus) เชื้อวิบริโอ (Vibrio) เชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) เชื้อลิสทีเรีย (Listeria) พยาธิตัวตืด พยาธิตัวจี๊ด เมื่อเชื้อเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายอาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ท้องเสียอย่างรุนแรง และอาจกระทบต่อสุขภาพของเด็กในครรภ์ได้

  • อาหารแปรรูป

อาหารแปรรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คุกกี้ มันฝรั่งทอด ไส้กรอก ผลไม้กระป๋อง ไอศกรีม โซดา มักมีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง หากกินมากไปอาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน เสี่ยงขาดใยอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการขับถ่าย ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุไม่เพียงพอ ทั้งยังอาจทำให้เสี่ยงน้ำหนักขึ้นและอาจเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวทั้งกับคุณแม่และเด็กในครรภ์

  • ปลาบางชนิด

ปลาบางชนิด เช่น ปลาฉลาม ปลาอินทรี (King Mackerel) ปลากระโทงดาบ (Swordfish) ปลาไทล์ฟิช (Tilefish) ปลาหัวเมือก (Orange roughy) ปลาทูน่า เป็นปลานักล่าที่อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหารและมักล่าปลาหลากหลายชนิดเป็นอาหาร จึงเสี่ยงมีปริมาณสารปรอทสะสมในเนื้อปลาสูง หากคนท้องกินปลาที่มีสารปรอท อาจมีสารปรอทสะสมในร่างกายและส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์ จนทำให้ทารกเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น

  • สมองถูกทำลาย
  • มีความบกพร่องทางสติปัญญา
  • ตาบอด
  • เป็นใบ้
  • ชัก

คุณแม่ควรเลือกกินปลาที่เสี่ยงปนเปื้อนสารปรอทน้อย เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาบะ ปลากะพง ปลาดุก ปลาทูน่ากระป๋องแบบไลท์ (สังเกตได้จากเนื้อปลาจะเป็นชิ้นเล็ก ๆ ยุ่ย ๆ) รวมไปถึงสัตว์น้ำชนิดอื่น เช่น ปู กุ้งน้ำจืด ปลาหมึก

  • อาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์

การบริโภคนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เช่น นมวัวดิบ ชีสนุ่มอย่างบรีชีส กามาองแบร์ อาจเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อจุลินทรีย์ เช่น เชื้อซาลโมเนลล่า เชื้อลิสทีเรีย เชื้ออีโคไล (E. coli) ที่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในคุณแม่ เช่น ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease) ทั้งยังส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์

  • อาหารเผ็ดจัด

อาหารเผ็ดร้อน เช่น ส้มตำใส่พริกหลายเม็ด ยำรสเผ็ดจัด ผัดเผ็ดปลาดุก อาจทำให้คุณแม่ปวดท้อง ท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษได้

อาหารบำรุงคนท้องอ่อน ๆ

อาหารบำรุงครรภ์คนท้องอ่อน มีดังนี้

  • อาหารที่มีโปรตีน เช่น ไข่ต้ม เนื้อปลาหรืออกไก่ไม่ติดมันที่ปรุงสุกแล้ว พืชตระกูลถั่วอย่างถั่วลิสง ถั่วแดง เมล็ดพืชอย่างอัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน
  • นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์แล้ว เช่น นมไขมันต่ำและน้ำตาลน้อย ชีสแข็งไขมันต่ำ โยเกิร์ตไขมันต่ำ
  • ผัก เช่น แครอท ฟักทอง ปวยเล้ง พริกหวาน บรอกโคลี ตำลึง เผือก
  • ผลไม้ เช่น กล้วยหอม (หลีกเลี่ยงกล้วยที่สุกจัด) ส้ม กีวี่ อุง่น สับปะรด
  • กรดโฟลิก คือ โฟเลตหรือวิตามินบี 9 (Vitamin B9) เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์ใหม่ของทารกในครรภ์ ช่วยให้ทารกมีสุขภาพแข็งแรงและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้ง โรคปากแหว่งเพดานโหว่ การคลอดก่อนกำหนด คนท้องอ่อนควรรับประทานกรดโฟลิกอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัม/วัน ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

วิธีดูแลสุขภาพสำหรับคนท้องอ่อน

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนทำอาหารและกินอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำ
  • ควรกินที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึงแล้วเท่านั้น ไม่ควรกินอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ซูชิปลาดิบ ไข่ดิบ เนื่องจากอาจทำให้อาหารเป็นพิษได้
  • ควรอุ่นอาหารด้วยความร้อนอย่างน้อย 60 องศาเซลเซียส
  • หลีกเลี่ยงการใช้เขียงหั่นผักและเนื้อสัตว์ร่วมกัน เนื่องจากเชื้อโรคจากเนื้อสัตว์ดิบอาจปนเปื้อนในผักได้
  • ควรเปลี่ยนและซักผ้าเช็ดจานเป็นประจำ ไม่ควรใช้จนผ้ามีกลิ่นเหม็นหรือสกปรก เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชาเขียว ชาเย็น เครื่องดื่มชูกำลัง เกินวันละ 200 มิลลิกรัม/วัน เพื่อป้องกันการรับคาเฟอีนเกินขนาด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ เพราะอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่าปกติ โรคปากแหว่งเพดานโหว่

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pregnancy nutrition: Foods to avoid during pregnancy. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/pregnancy-nutrition/art-20043844. Accessed September 29, 2022

Foods to avoid in pregnancy. https://www.nhs.uk/pregnancy/keeping-well/foods-to-avoid/. Accessed September 29, 2022

Foods to avoid when pregnant. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/foods-to-avoid-when-pregnant. Accessed September 29, 2022

Foods to Avoid in Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/foods-avoid-pregnancy. Accessed September 29, 2022

Foods to Avoid in Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/foods-avoid-pregnancy. Accessed September 29, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/10/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารคุณแม่หลังคลอด ควรกินอะไรดี

อาหารว่าง คนท้อง มีอะไรบ้าง และอาหารว่างแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 18/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา