โรคอ้วนคือ โรคที่มีการสะสมของไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากเกินไป ทำให้มีขนาดตัวใหญ่และมีน้ำหนักมากเกินเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่ดี ขาดการออกกำลังกายและใช้ยารักษาโรคบางชนิด ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคข้อเข่าเสื่อม ดังนั้น จึงควรเข้ารับการรักษาหรือลดน้ำหนักตามแผนการดูแลตัวเองที่คุณหมอแนะนำ
[embed-health-tool-bmi]
โรคอ้วนคืออะไร
โรคอ้วนคือ โรคที่มีการสะสมของไขมันในร่างกายสูง โดยใช้เกณฑ์ในการวัดจากค่าดัชนีมวลกายและรอบเอว ซึ่งสาเหตุที่ส่งผลให้มีไขมันสะสมในร่างกายจนนำไปสู่โรคอ้วนอาจมีดังต่อไปนี้
- ครอบครัว หากคนในครอบครัวเป็นโรคอ้วน คนอื่น ๆ ในครอบครัวก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนด้วยเช่นกัน
- ผู้สูงอายุ เนื่องจากอาจไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องตัวทำให้ขาดการออกกำลังกาย อีกทั้งผู้สูงอายุยังอาจมีประสิทธิภาพการเผาผลาญไขมันในร่างกายลดลง ส่งผลให้ไขมันสะสมมากขึ้นและเสี่ยงเป็นโรคอ้วน อย่างไรก็ตาม โรคอ้วนอาจสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยเช่นเดียวกัน
- อาหาร การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่และไขมันสูง เช่น อาหารขยะ ของทอด น้ำอัดลม เบียร์ ไวน์ ขนมหวาน อาจส่งผลให้ร่างกายสะสมไขมันและคอเลสเตอรอลมากเกินไป
- ขาดการออกกำลังกาย อาจทำให้ร่างกายไม่ได้เผาผลาญไขมันส่วนเกิน ทำให้ไขมันสะสมในร่างกายมากขึ้น จนนำไปสู่การเกิดโรคอ้วน
- แบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารไม่สมดุล หากเกิดความไม่สมดุลของแบคทีเรียไมโครไบโอม (Microbiome) ในลำไส้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยย่อยอาหาร อาจส่งผลกระทบต่อการย่อยอาหาร ทำให้เพิ่มหรือลดน้ำหนักได้ยาก และอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน
- การนอนหลับไม่เพียงพอ อาจทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติและกระตุ้นความอยากอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง ซึ่งอาจทำให้น้ำหนักขึ้นและนำไปสู่โรคอ้วนได้
- ความเครียด อาจกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ส่งผลให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น จึงทำให้รับประทานอาหารในปริมาณมากและส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
- ยาบางชนิด เช่น ยารักษาเบาหวาน ยากล่อมประสาท ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ยากันชัก เพราะอาจส่งผลต่อระบบเผาผลาญไขมัน ทำให้ไขมันกระจายไปสะสมทั่วทั้งร่างกายโดยเฉพาะบริเวณใบหน้า หลังคอ และหน้าท้อง
- การเลิกบุหรี่ นิโคตินที่เป็นสารในบุหรี่ที่อาจมีส่วนช่วยในการเผาผลาญอาหาร หลังจากเลิกบุหรี่จึงอาจส่งผลให้มีอาการหิวบ่อย แต่ขณะเดียวกันการเลิกสูบบุหรี่ก็อาจทำให้ร่างกายห่างไกลจากโรคร้ายแรงได้ ดังนั้น จึงควรขอคำปรึกษาคุณหมอถึงผลข้างเคียงจากการเลิกบุหรี่และวิธีการเลิกสูบบุหรี่อย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน
อาการของโรคอ้วนคืออะไร
อาการของโรคอ้วน อาจสังเกตได้จากลักษณะของร่างกายที่เปลี่ยนไป เช่น ใบหน้าบวมมีแก้มและเหนียง แขนขาใหญ่ขึ้น รอบเอวมากกว่า 32-36 นิ้ว รวมถึงอาจทราบจากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ที่คำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูง ดังนี้
ค่าดัชนีมวลกายของผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถคำนวณหาค่า BMI ได้โดยการนำน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง ยกกำลังสอง (เมตร)2
ยกตัวอย่าง น้ำหนัก 80 กิโลกรัม ความสูง 170 เซนติเมตร (1.70 เมตร)
วิธีคำนวณ 80 ÷ (1.70)2 = 27.68
จากนั้นนำมาเปรียบเทียบผลลัพธ์ค่าดัชนีมวลกายของผู้ใหญ่ ดังนี้
- ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
- ค่า BMI 18.5-22.90 อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ค่า BMI 23-24.90 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน
- ค่า BMI 25-29.90 โรคอ้วนระดับที่ 1
- ค่า BMI 30 ขึ้นไป โรคอ้วนระดับที่ 2
ค่าดัชนีมวลกายของเด็ก
สามารถคำนวณหาค่าดัชนีมวลกายได้โดยใช้สูตรการคำนวณเดียวกับผู้ใหญ่ แต่หน่วยจะเป็นเปอร์เซ็นไทล์ (Percentile) และจำเป็นต้องอ่านค่าผลลัพธ์ควบคู่กับแผนภูมิ
- เด็กที่มีค่าเปอร์เซ็นไทล์น้อยกว่า 5 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
- เด็กที่อยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 5 แต่น้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 85 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเหมาะสม
- เด็กที่อยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 85 แต่น้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน
- เด็กที่มีเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95 หรือมากกว่า อยู่ในเกณฑ์ โรคอ้วน
อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีมวลกายอาจไม่สามารถใช้วินิจฉัยโรคอ้วนได้เสมอไป เนื่องจากบางคนอาจมีมวลกล้ามเนื้อมากจึงทำให้มีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะนักกีฬาและผู้ที่เล่นเวท
[embed-health-tool-bmi]
ภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วนคืออะไร
ภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน มีดังนี้
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เกิดจากไขมันสะสมในหลอดเลือดมากเกินไป จนอาจทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้อย่างเต็มที่ จึงนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองได้
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ไขมันและคอเลสเตอรอลที่สะสมในร่างกายอาจทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินในการจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนก่อให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- ภาวะความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานและมีไขมันสะสมมาก อาจทำให้หลอดเลือดตีบตันและขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดและนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง
- โรคข้อเข่าเสื่อม น้ำหนักที่มากเกินไปอาจทำให้ข้อต่อบริเวณเข่าต้องรองรับน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะข้อต่ออักเสบ ที่ทำให้เกิดอาการปวดและบวมแดง จนนำไปสู่โรคข้อเข่าเสื่อม
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากน้ำหนักที่เพิ่มมากเกินไปอาจทำให้ผนังทรวงอกบีบอัดบริเวณปอด ทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีอาการหายใจลำบากและอาจมีอาการกรนอย่างหนักขณะนอนหลับ
- โรคมะเร็ง โรคอ้วนอาจส่งผลให้ร่างกายมีระดับอินซูลินสูง ที่กระตุ้นให้เซลล์ร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติ และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่
- อาการโควิด-19 ระดับรุนแรง โรคอ้วนอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อไวรัสน้อยลง นำไปสู่การเกิดอาการโควิด-19 รุนแรงหรืออาจส่งผลให้ฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยได้ช้า
วิธีป้องกันโรคอ้วน
วิธีป้องกันโรคอ้วนคือวิธีดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
ควรเลือกอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ ที่อาจทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ลดการรับประทานอาหารว่างระหว่างวันและช่วยควบคุมน้ำหนัก และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต และไขมันไม่ดีสูง เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว มันฝรั่งทอด ขนมหวาน น้ำอัดลม เบียร์ ไวน์ และน้ำผลไม้ที่เพิ่มความหวานจากน้ำตาล เพราะอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่โรคอ้วน
- ไม่ควรอดอาหาร
การอดอาหารไม่ใช่ทางออกในการลดน้ำหนักและลดไขมัน โดยเฉพาะอาหารเช้าที่เป็นมื้อสำคัญ ที่ช่วยเพิ่มพลังงานให้ร่างกายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งการอดอาหารยังอาจกระตุ้นให้ความหิวเพิ่มขึ้น ทำให้รับประทานอาหารในมื้ออื่น ๆ มากขึ้น เสี่ยงน้ำหนักเพิ่มจนนำไปสู่โรคอ้วน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
ควรควบคุมน้ำหนักและลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย เพราะอาจช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญไขมันและน้ำตาลจากอาหาร โดยควรออกกำลังกาย เช่น การวิ่งเหยาะ การวิ่งบนลู่วิ่ง การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ กระโดดเชือก อย่างน้อย 30 นาที/วัน เป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ หรืออาจขยับร่างกายเล็กน้อยเพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวในแต่ละวัน เช่น ทำความสะอาดบ้าน เดินขึ้นบันไดแทนใช้ลิฟต์ พาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น
- ลดความเครียด
ความเครียดอาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดที่ทำให้รู้สึกอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจึงควรลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น เล่นเกม วาดรูป ฟังเพลง ดูหนัง ออกกำลังกาย
- อ่านข้อมูลโภชนาการ
ก่อนเลือกซื้ออาหาร เครื่องปรุง ขนม และเครื่องดื่มมารับประทาน ควรอ่านข้อมูลโภชนาการข้างฉลากผลิตภัณฑ์ว่ามีคาร์โบไฮเดรต แคลอรี่ ไขมัน และน้ำตาลสูงหรือไม่ และควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้นเพื่อช่วยควบคุมน้ำหนัก ป้องกันไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น และลดความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วน