backup og meta

โรคอ้วนลงพุง สาเหตุ อาการ และการรักษา

โรคอ้วนลงพุง สาเหตุ อาการ และการรักษา

โรคอ้วนลงพุง คือ โรคที่ร่างกายมีไขมันสะสมบริเวณหน้าท้องและรอบเอวมากเกินเกณฑ์ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย หากไม่ทำการรักษาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม โรคเบาหวานชนิดที่ 2 การติดเชื้อ โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

[embed-health-tool-bmi]

คำจำกัดความ

โรคอ้วนลงพุง คืออะไร

โรคอ้วนลงพุง คือ โรคที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันบริเวณหน้าท้องในปริมาณมาก ส่งผลให้มีรอบเอวและค่าดัชนีมวลกายสูงเกินเกณฑ์ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานชนิดที่ 2  ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง 

อาการ

อาการของโรคอ้วนลงพุง

อาการของโรคอ้วนลงพุง มีดังนี้

  • มีการสะสมของไขมันบริเวณหน้าท้องทำให้มีหุ่นคล้ายลูกแพร์หรือแอปเปิ้ล
  • ค่าดัชนีมวลกาย 25 ขึ้นไป
  • รอบเอวเกิน 35 นิ้ว ขึ้นไปในผู้หญิง และ 40 นิ้ว ขึ้นไปในผู้ชาย
  • เหนื่อยล้าง่าย โดยเฉพาะเมื่อเคลื่อนไหว หรือออกกำลังกาย
  • รู้สึกปวดเข่าและ ข้อต่อ เพราะรองรับน้ำหนักตัวมาก
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง รู้สึกกระหายน้ำบ่อย และปัสสาวะบ่อยซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอ้วนลงพุงที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอ้วนลงพุงที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ

สาเหตุ

สาเหตุของโรคอ้วนลงพุง

สาเหตุของโรคอ้วนลงพุงเกิดจากความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีการสะสมของแคลอรี่ส่วนเกินและเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้องและรอบเอว นอกจากนี้ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคอ้วนลงพุงได้ เนื่องจากอินซูลินจะเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดส่วนเกินให้กลายเป็นไกลโคเจน (Glycogen) ซึ่งเป็นไขมันชนิดหนึ่ง และเก็บสะสมทั่วทั้งร่างกายรวมถึงหน้าท้องและรอบเอว

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนลงพุง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนลงพุง มีดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และน้ำตาลสูง เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว พาสต้า ของทอด อาหารแปรรูป ขนมหวาน เค้ก ลูกอม น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่อาจส่งผลให้มีการสะสมของไขมันและน้ำตาลในเลือดมากเกินไป เสี่ยงทำให้เป็นโรคอ้วนลงพุง และโรคเรื้อรังอื่น ๆ
  • การไม่ออกกำลังกาย อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการเผาผลาญไขมันและน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้มีไขมันสะสมที่หน้าท้องมาก กลายเป็นโรคอ้วนลงพุง
  • ความเครียด อาจทำให้ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด ที่อาจส่งผลต่อระบบเผาผลาญ อีกทั้งยังอาจทำให้บางคนมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคอ้วนลงพุงได้
  • ยาบางชนิด เช่น ยารักษาข้ออักเสบ ยารักษาอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) ยารักษาพราเดอร์วิลลี ( Prader-Willi Syndrome) ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคทางจิตเวช ยากล่อมประสาท ยาสเตียรอยด์ เพราะอาจส่งผลต่อระบบการเผาผลาญอาหาร
  • การตั้งครรภ์ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกหิวและรับประทานอาหารมากกว่าปกติอีกทั้งการตั้งครรภ์ยังอาจทำให้เคลื่อนไหวลำบาก และออกกำลังกายได้น้อยลง ทำให้ระบบการเผาผลาญอาหารทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทารกในครรภ์ที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องขยายใหญ่ หลังจากคลอดทารกจึงอาจทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องหย่อนคล้อย เหมือนอ้วนลงพุง

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคอ้วนลงพุง

การวินิจฉัยโรคอ้วนลงพุง อาจทำได้ดังนี้

  • สอบถามประวัติสุขภาพ เช่น น้ำหนักสมัยก่อนและน้ำหนักปัจจุบัน โรคประจำตัว พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยารักษาโรค ระดับความเครียด ประวัติสุขภาพของครอบครัว เพื่อตรวจหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดโรคอ้วนลงพุง
  • ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น การวัดความดันโลหิต การวัดส่วนสูง การชั่งน้ำหนักตัว การวัดระดับน้ำตาลในเลือด ฟังจังหวะการเต้นของหัวใจและปอด
  • คำนวณค่าดัชนีมวลกาย คุณหมออาจนำส่วนสูงและน้ำหนักมาคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย หากมีค่าดัชนีมวลกาย 30 ขึ้นไปถือว่าเป็นโรคอ้วนลงพุง
  • วัดรอบเอว เป็นการวัดไขมันสะสมรอบเอว หากผู้หญิงมีรอบเอวมากกว่า 35 นิ้ว และผู้ชายมีรอบเอวมากกว่า 40 นิ้ว อาจหมายความว่าเป็นโรคอ้วนลงพุง
  • วัดระดับไตรกลีเซอไรด์ คุณหมอจะเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด หากพบว่าระดับไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจวินิจฉัยได้ว่ากำลังเสี่ยงเป็นโรคอ้วนลงพุง
  • วัดระดับไขมันดี ด้วยการเก็บตัวอย่างเลือดนำไปตรวจระดับไขมันดีในเลือด หากพบว่ามีไขมันดีน้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้ชาย และน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้หญิง อาจเป็นไปได้ว่ากำลังเสี่ยงเป็นโรคอ้วนลงพุง

การรักษาโรคอ้วนลงพุง

การรักษาโรคอ้วนลงพุง อาจทำได้ดังนี้

  • ปรับการรับประทานอาหาร โดยคุณหมออาจวางแผนการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพโดยจำกัดแคลอรี่ให้เหมาะสมต่อวัน 
  • วางแผนการออกกำลังกาย เช่น เดิน วิ่ง กระโดดเชือก หรือคาร์ดิโอที่เน้นท่าในการบริหารหน้าท้อง เพื่อช่วยกระตุ้นระบบการเผาผลาญอาหารและช่วยกำจัดไขมันส่วนเกินออก โดยคุณหมออาจกำหนดตามความเหมาะสมของสุขภาพผู้ป่วย
  • ยาลดน้ำหนัก เช่น บูโพรพิออน นาลเทรกโซน (Bupropion-naltrexone) ออริสแตท(Orlistat) ลิรากลูไทด์ (Liraglutide) เฟนเทอร์มีน-โทพิราเมท(Phentermine Topiramate) คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาควบคู่กับการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกาย
  • ยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด การฉีดอินซูลิน ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนลงพุงที่มีภาวะแทรกซ้อนเป็นโรคเบาหวานหรือ โรคหัวใจ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคอ้วนลงพุง

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคอ้วนลงพุง ทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ควรเลือกอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำและไขมันต่ำ เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน ที่อาจทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ลดพฤติกรรมการกินจุบกินจิบ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ช่วยควบคุมน้ำหนัก และลดการสะสมไขมันในช่องท้อง
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล และไขมันสูง เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว มันฝรั่งทอด ขนมหวาน น้ำผลไม้ น้ำอัดลม เบียร์ ไวน์ เพราะอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และมีไขมันสะสมจนนำไปสู่โรคอ้วนลงพุงได้
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำความสะอาดบ้าน เดินแทนการขับรถ พาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ อาจช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญไขมันและน้ำตาลจากอาหาร
  • ไม่ควรอดอาหาร เพราะการอดอาหารอาจทำให้รู้สึกหิวมากกว่าปกติ และรับประทานมื้ออื่นมากขึ้นควรรับประทานให้ครบทุกมื้อ แต่จำกัดปริมาณการรับประทานอาหารและเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพแทน
  • ลดความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เล่นเกม เพราะความเครียดอาจทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียด ที่อาจส่งผลให้รู้สึกอยากอาหาร หิวบ่อย และรับประทานอาหารมากขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนลงพุง
  • อ่านข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนเลือกซื้ออาหาร อาจช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่มีปริมาณน้ำตาลและไขมันสูงเกินกว่าร่างกายต้องการได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Obesity. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/obesity/symptoms-causes/syc-20375742.Accessed September 27, 2022 

Metabolic syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/metabolic-syndrome/symptoms-causes/syc-20351916.Accessed September 27, 2022 

Metabolic syndrome. https://www.nhs.uk/conditions/metabolic-syndrome/.Accessed September 27, 2022 

Abdominal fat and what to do about it. https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/abdominal-fat-and-what-to-do-about-it.Accessed September 27, 2022 

Belly fat in women: Taking — and keeping — it off. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/in-depth/belly-fat/art-20045809.Accessed September 27, 2022 

The Truth About Belly Fat. https://www.webmd.com/diet/features/the-truth-about-belly-fat.Accessed September 27, 2022 

8 Ways to Lose Belly Fat and Live a Healthier Life. https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/8-ways-to-lose-belly-fat-and-live-a-healthier-life.Accessed September 27, 2022 

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/09/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลไม้ลดความอ้วน มีอะไรบ้าง มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร

6 อาหารกินแล้วไม่อ้วน มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา